Trump-fed

หากไม่นับวิวาทะระหว่างทรัมป์และเยลเลนในช่วงที่ผ่านมา ที่ค่อนข้างประชดประชันกันพอสมควรแล้วนั้น ยังมีเรื่องของเป้าหมายหรือการคาดการณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ที่มีความเห็นขัดแย้งกันอีก 2 ประการด้วย

ประการแรก ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีแผนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และวางเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจไว้ที่ประมาณ 2% ในขณะที่ทรัมป์ต้องการให้เศรษฐกิจสหรัฐ เติบโตที่ 4%

ประการที่สอง ทรัมป์มีความหวังสูงมากกับตัวเลขการจ้างงาน โดยเขาหวังว่าจะสามารถจ้างงานเพิ่มได้อีก 25 ล้านตำแหน่ง !! ในปี 2026 ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมาก และหลายฝ่ายมองว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ ในขณะที่ long-term job growth ของ FED มีเป้าอยู่ที่การเพิ่มตำแหน่งงานอย่างเก่งที่สุดที่ 80,000 ตำแหน่งต่อเดือน หากนับระยะเวลาสิบปีเท่ากัน เป้าหมายตำแหน่งงานของ FED มีค่าน้อยกว่าของทรัมป์ประมาณ 10 ล้านตำแหน่ง

ซึ่งที่ผ่านมาตัวเลขอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน (Labor Force Participation Rate) มีการลดลงมาโดยตลอด อย่างตัวเลขเมื่อเดือนพ.ย. 2559 มีค่าอยู่ที่ 62.7% แปลว่ามีคนที่ไม่ได้อยู่ในกำลังแรงงาน 37.3% ซึ่งบุคคลในกลุ่มนี้ ได้แก่ ผู้สูงอายุ ประชากรที่มีอายุไม่ถึง 16 ปี และกลุ่มที่ว่างงาน จากงานวิจัยของ Bureau of Labor Statistics มองว่า Labor Force Participation Rate มีแนวโน้มลดลงอีกในอนาคต เนื่องจาก Population Aging (ประชากรสูงอายุ)

ส่วนประเด็นเรื่องค่าเงินดอลลาร์ มองว่านโยบายของทรัมป์จะส่งผลให้ “แนวโน้มระยะยาว” ของเงินดอลลาร์ปรับ “แข็งค่าขึ้น” อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมายังไม่มีความชัดเจนเรื่องนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ มีแค่เพียงความชัดเจนในเรื่องการกีดกันการค้าและการอพยพของแรงงาน จนทำให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์

จากความต่างของการมองตัวเลขเป้าหมายทางเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย ที่ห่างกันค่อนข้างมากแบบนี้ ทำให้นักวิเคราะห์เริ่มออกมาให้ความเห็นกันว่า ทรัมป์มีโอกาสที่จะเข้าไปแทรกแซงอำนาจหรือสร้างความกดดันต่อธนาคารกลางได้ ซึ่งหากทรัมป์สามารถเข้าไปแทรกแซงได้จริง ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ทรัมป์วางไว้ ก็สามารถไปถึงได้ไม่ไกลเกินเอื้อมเลย

iran-israel-war