กลยุทธ์การลงทุนแบบพ่อมดการเงิน George Soros

จอร์จ โซรอส ฉายาพ่อมดการเงิน เฮดฟันด์ของเขาได้ผลตอบแทนเป็นอันดับ 2 รองจากเรย์ ดาลิโอ ทั้งในปี 2015 และ 2016 (วัดจาก Net Gain หลังหักค่าธรรมเนียมแล้ว) โซรอสมีวิธีการลงทุนที่แตกต่างจากเรย์อย่างมาก และเขายังได้ชื่อว่าเป็นนักเก็งกำไรระยะสั้นอีกด้วย แต่หลักการหรือแนวความคิดในการเทรดเป็นแบบเดียวกับเรย์ คือ ใช้ Global Macro Strategy

ก่อนที่จะไปศึกษาแนวคิดและวิธีการของโซรอส อยากแนะนำให้ดูก่อนว่า โซรอสมีทั้งจังหวะที่ประสบความสำเร็จและผิดพลาดมาพอสมควร จนทำให้เกิดประวัติศาสตร์การลงทุนที่ได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด และแย่ที่สุด

Best Investment :

โซรอสได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดในปี 1992 จากการโจมตีค่าเงินอังกฤษ  ในครั้งนั้นเขาได้รับผลตอบแทน 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Source: ProfitableTrading.com

Worst Investment:

ผลตอบแทนที่แย่สุดที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ปี 2008 รายละเอียดของความผิดพลาดครั้งใหญ่นี้ โซรอสได้เขียนรายละเอียดไว้ในหนังสือของเขาที่มีชื่อว่า The New Paradigm for Financial Markets ความผิดพลาดในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการประสบปัญหาทางการเงินของ Bear Stearns ซึ่งส่งผลให้การปล่อยกู้รหว่างสถาบันการเงินชะลอตัวลง ต้นทุนในการกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้น และความเสี่ยงของสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้น ก็เลยทำให้ Credit Spread เพิ่มขึ้น จน Bear Stearns ขาดทุนอย่างหนักจากกองทุน Structured Credit และท้ายที่สุดจึงขายกิจการให้ JP Morgan Chase ไป โดยมีธนาคารสหรัฐ (FED) เข้ามารับประกันราคาของสินทรัพย์

ภาพแสดงความเชื่อมโยงทางการเงิน รวบรวมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้ก่อนที่จะไปเจาะลึกถึงแนวคิดและวิธีการลงทุนของโซรอส นั่นก็คือว่า ทุกคนมีโอกาสผิดพลาดได้ทั้งนั้น ไม่ว่าในอดีตจะเคยประสบความสำเร็จมาอย่างโชกโชนแค่ไหนก็ตาม ฉะนั้น จึงไม่ควรประมาทกับการลงทุน

The core of Soros’ thinking

แก่นการคิดหลักของโซรอสมีอยู่ 2 อย่าง ที่เป็น two-way interaction คือ

  1. Cognitive คือ การที่เรา” เข้าใจ” สภาพแวดล้อมที่เรากำลังเผชิญอยู่
  2. Manipulative คือ วิธีการรับมือเพื่อ” เปลี่ยน” สภาพแวดล้อมที่เราเผชิญ

ด้วยแก่นของการคิด 2 อย่างนี้ เมื่อนำมารวมกันจึงเกิดเป็น Theory of Reflexivity หรือ ทฤษฎีสะท้อนกลับ และยังเป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า Self-fulfilling prophecy เนื่องจากทฤษฎีของโซรอสเป็นหลักการที่คล้ายกับทฤษฎีของโรเบิร์ต เมอร์ตัน ที่สามารถอธิบายได้ด้วยวิชาเศรษฐศาสตร์และค่อนข้างหาอ่านได้ยากในรูปแบบภาษาไทย

พื้นฐานของทฤษฎีสะท้อนกลับ เกิดจากการเชื่อว่าตลาด “ไม่ได้อยู่ในภาวะดุลยภาพ” มากกว่า “ภาวะดุลยภาพ” เนื่องจาก ผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในตลาดนั้นมีความเอนเอียง (Bias) และความเข้าใจผิด (Misconceptions) เกี่ยวกับการตัดสินใจลงทุน และตลาด จนนำไปสู่ Feedback loops หรือการคิดเป็นวงจรป้อนกลับ ซึ่งเป็นการคิดในลักษณะที่เป็นวงมากกว่าเป็นเส้นตรง จากการที่เรื่องราวต่าง ๆ มีความเชื่อมโยงกัน ทั้งทางตรงและทางอ้อม

โซรอสให้ความเห็นว่า ทฤษฎีดุลยภาพทั่วไปไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

Equilibrium vs. Reflexivity

จากตารางข้างต้นนี้ เป็นการให้เห็นตัวอย่างในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของ Demand และ Supply ตามทฤษฎีดุลยภาพทั่วไป เมื่อ Demand เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นและผลของราคาที่เพิ่มขึ้นนี้ จะส่งผลให้ Demand ปรับลดลงตามกลไกตลาดในอนาคต ในทางกลับกัน เมื่อ Supply ลดลง จะทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นและผลของราคาที่เพิ่มขึ้นนี้ จะส่งผลให้ Supply ปรับเพิ่มขึ้นในอนาคต

แต่ทฤษฎีสะท้อนกลับบอกว่า การปรับเพิ่มขึ้นของราคานั่นแหละที่เป็นตัวส่งสัญญาณในการเข้าซื้อ และจะส่งผลให้ราคาขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ในทางตรงกันข้าม หากราคาลดลง ก็จะเป็นสัญญาณให้นักลงทุนเกิดการขายมากขึ้น ดังนั้น ราคาจะยังคงปรับตัวลดลงอีก

มาดูกันต่อว่า โซรอสมีวิธีการนำทฤษฎีสะท้อนกลับ ผ่านแนวคิดที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มาใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างไร

ขั้นแรก โซรอสใช้องค์ประกอบ “การทำนาย” ว่าลักษณะทางเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นและค่าเงิน จะเป็นอย่างไรผ่านสื่อต่าง ๆ

ขั้นที่สอง โซรอสใช้องค์ประกอบ “การอธิบาย” จนคนอื่น ๆ ในตลาดเริ่มเกิดความคาดหวังหรือคาดการณ์ทิศทางราคาขึ้น และการคาดการณ์ที่เกิดจากการทำนายในขั้นแรกของโซรอส ส่งผลต่อการกระทำและการตัดสินใจในการลงทุนของพวกเขา

ขั้นสุดท้าย โซรอสใช้องค์ประกอบ “การทดสอบ” เพื่อให้คำนายที่บอกไว้ตั้งแต่แรกเป็นจริง โดยการทุ่มเงินเก็งกำไรอย่างมหาศาลลงมาในตลาด พร้อม ๆ กับสภาวที่เกือบทุกคนคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกัน อย่างเช่นเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจของไทยในปี 2540

นั่นหมายความว่า โซรอสไม่เพียงแต่มีความรู้ในด้านเศรษฐศาสตร์เท่านั้น แต่ยังมีความรู้ลึกในทางวิทยาศาสตร์เรื่องระบบความคิด (Thinking System) ของมนุษย์อีกด้วย