Greece-01

การประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศยูโรโซนเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าจับตามอง หลังจากที่เกิดวิกฤตหนี้สาธารณะในปี 2009 ระดับหนี้สาธารณะของกรีซกลับเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 120% ของ GDP ในปี 2009 ณ ปัจจุบันตัวเลขขยับขึ้นมาที่ประมาณ 195% ของ GDP จนทำให้ Levy Economics Institute of Bard College ถึงกับต้องมาศึกษาถึงปัญหาของหนี้สาธารณะกรีซ

Working Paper หมายเลข 867 เรื่อง The Greek Public Debt Problem เพิ่งถูกตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งนักวิจัยทำการศึกษาข้อมูลตลอดช่วงระยะเวลา 6 ปีเต็มหลังจากวิกฤต และพบว่าหนี้สาธารณะของกรีซมีภาวะที่ไม่ยั่งยืนอย่างชัดเจน

การเริ่มต้นลงนามให้ความช่วยเกิดขึ้นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม ปี 2010 ซึ่งเป็นโปรแกรมช่วยเหลือที่มีจำนวนเงินกว่า 110 ล้านยูโร ในเงินก้อนนี้ 80 ล้านแรกมาจากการให้กู้ยืมจากประเทศสมาชิก ส่วนอีก 30 พันล้านหลังมาจาก IMF และตามกำหนดการ โปรแกรมแรกนี้ควรสิ้นสุดลงในช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2013 แต่ก็ดันถูกโปรแกรมที่สองเข้ามาแทนที่ไปซะก่อนในเดือนมีนาคม ปี 2012 ทำให้งวดแรกนี้ ได้เงินช่วยเหลือจริง ๆ 73 พันล้านยูโร โดยเงินก้อนนี้มาจากกลุ่มประเทศสมาชิกประมาณ 53 พันล้านยูโร ส่วนที่เหลือมาจาก IMF ประมาณ 20 พันล้านยูโร

โปรแกรมที่สองมีกำหนดการช่วยเหลือจนถึงเดือนธันวาคม ปี 2014 ด้วยเม็ดเงินที่มากถึง 172.6 พันล้านยูโร แต่ท้ายที่สุดก็ถูกขยายระยะเวลามาจนถึงช่วงเดือน มิถุนายน ปี 2015

โดยเงินจากโปรแกรมการช่วยเหลือสองครั้งแรก ถูกใช้ไปกับการจ่ายคืนหนี้มากที่สุด รองลงมา คือ การจ่ายดอกเบี้ย ล่าสุด โปรแกรมสาม มีการลงนามกันในเดือนสิงหาคม ปี 2015 และมีกำหนดระยะเวลาไปจนถึงช่วงเดือนสิงหาคมของปี 2018 โดยมีการกำหนดวงเงินไว้ที่ 86 พันล้าน

ประเด็นหลักที่มีปัญหามากสำหรับกรีซ ก็คือ เรื่องความเข้มงวดทางการคลัง และการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งหากทั้งสองเรื่องนี้ได้รับการพัฒนา ก็จะช่วยลดอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ลงได้

อย่างไรก็ตาม กรีซยังคงหวังว่าจะสามารถตกลงกับกลุ่มเจ้าหนี้ต่างประเทศได้ ในประเด็นของการกำหนดมาตรการชุดใหม่มาบังคับใช้ ไปจนถึงปี 2018 โดยมีปัจจัยสำคัญ อย่างเช่น การจัดตั้งแผนสำหรับปรับลดการใช้จ่ายของภาครัฐโดยอัตโนมัติที่ 2% ของจีดีพีหากกรีซไม่สามารถรัฐเข็มขัดทางการคลังได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และ ลดการใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมและบำนาญมาที่ 15% ของจีดีพี จากเดิม 17% ภายใน 2019