Yuan weaken

อ่านประเด็นข่าวเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ทางธนาคารกลางจีนทำการปรับลดค่ากลางเงินหยวนมาอยู่ที่ 6.5693 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ก็ทำให้อดนึกไม่ได้ว่า เมื่อปีก่อนประมาณช่วงเดือนเมษายน แจ๊ค ลิว รัฐมนตรีคลังของสหรัฐอเมริกาบอกว่า การปล่อยเสรีและปฏิรูปการเงินเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเงินหยวน และดูจีนเหมือนจะหยุดแทรกแซงเงินหยวนแล้ว แต่บทพิสูจน์ที่แท้จริงจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีแรงกดดันกับเงินหยวน !!

หลังจากนั้น อีก 2 เดือน (มิถุนายน 2558) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน ก็มาคุยกับแจ็ค ลิวว่าโดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะจำกัดการแทรกแซงค่าเงินหยวน เพื่อยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากความผันผวนในตลาดปริวรรตเงินตรา  และยืนยันว่าจะเข้าแทรกแซงก็ต่อเมื่อตลาดมีความเคลื่อนไหวอย่างผิดปกติ เพื่อปรับเปลี่ยนเงินหยวนให้เคลื่อนไหวอย่างสอดคล้องกับตลาดมากขึ้น

ในอดีตแทรกแซงมาแล้วกี่ครั้ง?

หนึ่งปีผ่านไป ก็ได้เห็นบทพิสูจน์มากมายว่า จีนยังไม่สามารถที่จะหยุดการแทรกแซงค่าเงินหยวนได้เลย ดูได้จาก

  1. วันที่ 11 สิงหาคม 2558 ธนาคารกลางจีนปรับลดค่าเงินหยวน โดยกำหนดค่ากลางเงินหยวนที่ระดับ 6.2298 หยวนต่อดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นการอ่อนค่าลงที่มากที่สุดที่เคยมีมา คือ อ่อนค่าลง 1.82% เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า โดยอ้างว่า การดำเนินการครั้งนี้ถือเป็น “One-time Correction” เพื่อให้การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงหลังจากนี้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น
  2. วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ธนาคารกลางจีนกำหนดค่ากลางเงินหยวนที่ระดับ 6.3962 หยวนต่อดอลลาร์ ทำให้ในเดือนนั้น ค่าเงินหยวนได้อ่อนค่าลงไปกว่า 1.2%
  3. วันที่ 7 มกราคม 2559 ธนาคารกลางจีนกำหนดค่ากลางเงินหยวนที่ระดับ 6.5646 หยวนต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากวันก่อนหน้า0.51% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554

จากทั้ง 3 ครั้งที่ว่ามานี้ ดูเหมือนจีนคงจะไม่แทรกแซงเพิ่มเติมแล้ว เพราะ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โจวเสี่ยวฉวน ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนบอกว่า “เงินสกุลหยวนฟื้นคืนสู่ระดับปกติและสมเหตุสมผลแล้ว และมีแนวโน้มที่ค่าเงินจะมีเสถียรภาพมากขึ้น พร้อมระบุว่า จีนจะไม่ลดค่าเงินหยวนเพื่อกระตุ้นการส่งออก เนื่องจากภาคการส่งออกของจีนยังมีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และไม่จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นใดๆ” แต่ท้ายที่สุดแล้ว ธนาคารกลางจีนก็ยังแทรกแซงปรับลดค่ากลางเงินหยวนอีกอยู่ดีในสัปดาห์ก่อน

จนทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ อันดับความนิยมในการใช้เงินหยวนร่วงลงไป จากเดิมที่อยู่อันดับที่ 4 ในเดือนสิงหาคมปีก่อน ตกมาอยู่ที่อันดับ 6 เมื่อเดือนที่ผ่านมา (สกุลเงินที่ครองอันดับ 1-5 คือ ดอลลาร์สหรัฐ, ยูโร, ปอนด์, เยน และดอลลาร์แคนาดา) และภาพรวมมูลค่าการใช้จ่ายเงินหยวนในเดือนเมษายน ลดลง 7.73% จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ภาพรวมของทุกสกุลเงินมีมูลค่าลดลง 4.6%

Yuan weakness

และนี่เลยทำให้ค่าความผันผวนเงินหยวนปรับตัวสูงขึ้นทำสถิติใหม่ที่ระดับเกือบ ๆ 4 S.D. แม้รอบนี้การลดค่าเงินหยวนไม่ได้ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงเหมือนอย่างเดือนสิงหาคม 2558 แต่นี่เป็นสัญญาณเตือนที่ไม่ค่อยดีนัก และยังคงให้ตอบไม่ได้ว่าความตึงเครียดในจีนจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่