หากเราลองจินตนาการถึงโลกที่ปราศจากสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ หรือรถยนต์ไฟฟ้า มันคงเป็นโลกที่ลำบากน่าดู การติดต่อสื่อสารจะกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก การทำงานที่ช้าลง และการเข้าถึงข้อมูลจะจำกัดอยู่เพียงตำราเรียนหรือห้องสมุด ซึ่งอาจดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่รู้หรือไม่ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนขับเคลื่อนด้วยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดจิ๋วที่เรียกว่า “เซมิคอนดักเตอร์” ซึ่งเปรียบเสมือนสมองของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด
เซมิคอนดักเตอร์: หัวใจสำคัญของอนาคต
เซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นหัวใจสำคัญใจของเทคโนโลยีสมัยใหม่ เนื่องจากเป็นวัสดุสำคัญที่ใช้ทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รวมถึงแผงวงจรต่าง ๆ และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ ๆ ตั้งแต่สมาร์ทโฟน รถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำให้ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกเติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดยสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor Industry Association) หรือ SIA คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นกว่า 100% ในช่วงปี 2020-2030 จาก 4.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 16 ล้านล้านบาท) เป็น 9.4 แสนนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 32 ล้านล้านบาท) ซึ่งมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าอัตราการเติบโตของ GDP โลกเสียอีก
โอกาสการลงทุนในเซมิคอนดักเตอร์ กับกองทุน SCBSEMI(A)
กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Semiconductor (ชนิดสะสมมูลค่า) หรือ SCBSEMI(A) เป็นกองทุนรวมหุ้นประเภท Feeder Fund ซึ่งมีนโยบายลงทุนในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา
โดยลงทุนผ่านกองทุนหลัก VanEck Semiconductor UCITS ETF ที่มุ่งเน้นสร้างผลตอบแทนให้เคลื่อนไหวตามดัชนี MVIS US Listed Semiconductor 25 Index (Passive) โดยดัชนีดังกล่าวจะคัดเลือกบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และมีสภาพคล่องสูงที่สุดจำนวน 25 บริษัท
ทั้งนี้ กองทุนหลักมีกลยุทธ์การคัดเลือกหุ้นด้วยการโฟกัสที่ธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ แล้วเลือกมาเฉพาะ บริษัทขนาดใหญ่ที่มี Market Cap สูงกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.83 แสนล้านบาท) โดยสัดส่วนของบริษัทดังกล่าวมีมากถึง 98.6% ของพอร์ต
สิ่งที่น่าสนใจคือ กองทุนหลักมีการลงทุนแบบกระจุกตัวมากกว่ากองทุนหุ้นเซมิคอนดักเตอร์อื่น โดยสัดส่วน Top 5 Holdings อยู่ที่ 50.52% และ Top 10 Holdings ที่ 74% ทำให้หากหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ปรับฟื้นตัวขึ้นมา จะสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่ากองทุนหุ้นเซมิคอนดักเตอร์อื่น ๆ
รายละเอียดอื่น ๆ ของ SCBSEMI(A)
- ความเสี่ยงระดับ 7 : เสี่ยงสูง (กองทุนรวมหุ้นหมวดอุตสาหกรรม) ลงทุนในหุ้น โดยเน้นเพียงบางหมวดอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยในรอบปี ไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV
- นโยบายการจ่ายเงินปันผล – ไม่จ่าย
- มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 67.14%
- มูลค่าขั้นต่ำในการซื้อครั้งแรก: 1 บาท
- มูลค่าขั้นต่ำในการซื้อครั้งถัดไป: 1 บาท
- ค่าธรรมเนียมขาย (Front-end Fee) 1.07%
- ค่าธรรมเนียมรับซื้อคืน (Back-end Fee) ไม่มี
- ค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management Fee) 1.07% ต่อปี
- รวมค่าใช้จ่าย 1.17% ต่อปี
ข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ ณ วันที่ 30/06/2024
ศึกษารายละเอียดของกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ https://www.finnomena.com/fund/
ทำความรู้จักกองทุนหลัก VanEck Semiconductor UCITS ETF
กองทุน VanEck Semiconductor ETF มุ่งหวังที่จะลงทุนในหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในสหรัฐอเมริกา ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกแบบ การผลิต หรือการขายเซมิคอนดักเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือบริการที่เกี่ยวข้อง
โดยข้อมูลที่น่าสนใจของ VanEck Semiconductor UCITS ETF มีดังนี้
- เป็น ETF เซมิคอนดักเตอร์แรกของยุโรป
- เลือกเฉพาะหุ้นเซมิคอนดักเตอร์ Pure-play ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับรายได้อย่างน้อย 50% จากเซมิคอนดักเตอร์ หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
- มูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดภายใต้การจัดการ (AUM) 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท) ณ วันที่ 20/08/2024
- ไม่รวมบริษัทที่ละเมิดหลักการ UN Global Compact Principles อย่างร้ายแรง หรือได้รับรายได้ใด ๆ จากอาวุธซึ่งเป็นที่ถกเถียงในสังคม (Controversial Weapons) ตามข้อมูลของ ISS-ESG ซึ่งเป็นมาตรฐาน ESG ระดับสากลที่ได้รับการยอมรับจากนักลงทุนสถาบันมากที่สุดในโลก
- ไม่รวมบริษัทที่ได้รับรายได้มากกว่า 5% จากภาคส่วนต่อไปนี้ เชื้อเพลิงถ่านหิน เชื้อเพลิงฟอสซิล ทรายน้ำมัน (Oil Sand) พลังงานนิวเคลียร์ อาวุธปืนสำหรับพลเรือน ยุทโธปกรณ์ทางทหาร และยาสูบ
กลยุทธ์การลงทุน
กองทุน VanEck Semiconductor ETF เลือกหุ้นที่จะลงทุนโดยใช้กระบวนการคัดกรองแบบหลายขั้นตอน ดังนี้
- ขั้นตอนแรก กองทุนจะพิจารณาขนาดของบริษัท มูลค่าตลาด และสภาพคล่อง
- ขั้นตอนที่สอง กองทุนจะวิเคราะห์ปัจจัยทางการเงินของบริษัท เช่น รายได้ กำไร และอัตรากำไรขั้นต้น
- ขั้นตอนที่สาม กองทุนจะประเมินคุณภาพของการจัดการของบริษัท กลยุทธ์ทางธุรกิจ และโอกาสการเติบโต
เจาะข้อมูลบริษัท Top 5 Holdings
*ข้อมูล ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2024
1. Broadcom Inc (AVGO) 11.93%
Broadcom เป็นบริษัทข้ามชาติชั้นนำระดับโลกที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ พัฒนา และจัดหาโซลูชันเซมิคอนดักเตอร์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวงจรรวมดิจิทัลและอนาล็อกที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่มากมาย
ปัจจุบัน Broadcom มีธุรกิจอยู่ 2 ส่วนหลัก ๆ นั่นคือ
- ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor)
- ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านซอฟต์แวร์ (Software Infrastructure)
โดย Broadcom จะทำทั้งธุรกิจรับออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ แล้วจึงส่ง Outsource ว่าจ้างให้โรงงานข้างนอกผลิตให้อีกทีหนึ่ง
ผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมและมีส่วนแบ่งตลาดสูง
– Optical Mouse Sensor
Broadcom เป็นผู้นำในการพัฒนาและผลิตเซ็นเซอร์แสงสำหรับตรวจจับการเคลื่อนไหวของเมาส์แบบออปติคัล ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ ทำให้เมาส์มีความแม่นยำและใช้งานง่ายขึ้น โดยเมาส์ไร้สายที่เราใช้งานอยู่ทุกวันนี้ก็ใช้เทคโนโลยี Optical Mouse Sensor ที่พัฒนาจาก Broadcom
– ชิป ASIC (Application Specific Integrated Circuit)
ASIC หรือ Application Specific Integrated Circuit คือชิปวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกออกแบบมาให้ทำงานเฉพาะเจาะจงสำหรับแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น ศูนย์ข้อมูล (Data Center) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการขุดคริปโตเคอร์เรนซี ไม่เหมือนกับชิปทั่วไปที่ออกแบบมาให้ทำงานได้หลากหลาย
– FBAR Filters (Film Bulk Acoustic Resonator Filters)
FBAR Filters ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการกรองสัญญาณความถี่ โดยเฉพาะสำหรับสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G ช่วยให้สมาร์ทโฟนสามารถรับส่งสัญญาณได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
2. Nvidia Corp (NVDA) 10.92%
Nvidia (NVDA) เป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก ที่มุ่งเน้นพัฒนาชิปประมวลผลกราฟิก (GPU) หรือที่เรียกกันว่าการ์ดจอ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งผลิตภัณฑ์ของ Nvidia ถูกนำไปใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น เกมมิ่ง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ศูนย์ข้อมูล และยานยนต์ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ Nvidia ที่เน้นการผลิต GPU ครองส่วนแบ่งการตลาดไปถึง 88% (ข้อมูล ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2024)
ธุรกิจหลักของ Nvidia สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
- เกมมิ่ง
การ์ดจอ GeForce เป็นผลิตภัณฑ์ที่โด่งดังที่สุดของ Nvidia โดยถูกออกแบบมาเพื่อมอบประสบการณ์การเล่นเกมที่สมจริงและราบรื่นให้กับเกมเมอร์ทั่วโลก
- ศูนย์ข้อมูล (Data Center)
Nvidia ผลิตชิป GPU ที่ทรงพลังเพื่อใช้ในการประมวลผลด้าน AI เช่น การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) และการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนานวัตกรรมในหลากหลายอุตสาหกรรม
- ยานยนต์
Nvidia พัฒนาแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในรถยนต์ไร้คนขับ และรถยนต์ที่มีระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ หรือ ADAS (Advanced Driver Assistance Systems) ซึ่งชิป GPU ของ Nvidia ช่วยให้รถยนต์สามารถรับรู้สภาพแวดล้อมพร้อมทั้งตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
- วิทยาศาสตร์และการแพทย์:
Nvidia ได้สร้าง New S-Curve ด้วยการรุกธุรกิจการแพทย์ โดยนำเทคโนโลยี GPU ไปใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลทางชีววิทยา การพัฒนายา และการวินิจฉัยโรค
3. Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) 10.69%
TSMC หรือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company เป็นบริษัทข้ามชาติสัญชาติไต้หวัน ที่เชี่ยวชาญด้านการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์แบบครบวงจร อีกทั้งยังเป็นบริษัทผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดในโลก มีส่วนแบ่งการตลาดธุรกิจกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์สูงถึง 55.6%
แม้ว่า TSMC จะไม่ได้ออกแบบชิปเอง แต่ลูกค้าที่ TSMC รับผลิตชิปให้ก็เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำระดับโลกทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Apple Qualcomm AMD หรือ Nvidia สะท้อนถึงความเป็นผู้นำและความสำคัญของ TSMC ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
ธุรกิจหลักของ TSMC
- ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์
ธุรกิจหลักของ TSMC คือการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ให้กับลูกค้ารายใหญ่ทั่วโลก โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง
- พัฒนาเทคโนโลยีการผลิต
TSMC มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตชิปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ชิปที่มีขนาดเล็กลง ประสิทธิภาพสูงขึ้น และตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ผลิตภัณฑ์และบริการที่โดดเด่น
TSMC ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่หลากหลายเพื่อรองรับกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ เช่น
– สมาร์ทโฟน: ชิป A-series สำหรับ iPhone และ iPad ของ Apple
– คอมพิวเตอร์: ชิปสำหรับคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปและโน้ตบุ๊กของ AMD และ Nvidia
– อุปกรณ์ IoT (Internet of Things) : เซ็นเซอร์ แกดเจ็ตอัจฉริยะ (Smart Gadget) และอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ (Smart Wearable)
– ยานยนต์: ชิปสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ
ปัจจุบัน TSMC ได้ผลิตชิปมากกว่า 10,000 รายการ ให้กับลูกค้ามากกว่า 500 ราย โดยมีโรงงานผลิตชิปตั้งอยู่ในไต้หวัน จีน สหรัฐฯ และยังมีแผนที่จะขยายโรงงานไปยังเยอรมันและญี่ปุ่นอีกด้วย
นอกจากนี้ TSMC ยังมีความสามารถในการผลิตชิปให้มีขนาดเล็กลงไปถึง 3 นาโนเมตร ซึ่งถือว่าล้ำสมัยที่สุดในตอนนี้ ทำให้ชิปมีขนาดเล็กลง ประสิทธิภาพสูงขึ้น และประหยัดพลังงาน
4. ASML Holding NV (ASML) 9.31%
ASML เป็นบริษัทข้ามชาติ สัญชาติดัตช์ ที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและผลิตเครื่องจักรเครื่องจักรสำหรับพิมพ์ลายลงบนชิปเซมิคอนดักเตอร์ให้แก่บริษัทผู้ผลิตชิปทั่วโลก เช่น TSMC Samsung และ Intel เป็นต้น
โดยเฉพาะเครื่องจักรที่เรียกว่า “EUV Lithography” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตชิปสมัยใหม่ทุกตัวที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และส่งผลให้ ASML สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดเครื่องผลิตชิปเป็นอันดับ 1 ของโลกที่ราว 80%
เครื่องผลิตชิปที่ ASML ขาย แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ดังนี้
- เครื่อง Deep Ultraviolet Lithography (DUV) มีราคาต่อเครื่องเฉลี่ยราว 950 ล้านบาท มักใช้กับการผลิตชิปทั่วไป เช่น ชิปในอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
- เครื่อง Extreme Ultraviolet Lithography (EUV) มีราคาต่อเครื่องเฉลี่ยราว 6,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นเครื่องที่มีความละเอียดสูงกว่าเครื่อง DUV และปัจจุบันมีเพียง ASML เจ้าเดียวในโลกที่ทำ โดยสามารถพิมพ์ลวดลายที่ซับซ้อนลงบนชิป มักใช้ในการผลิตชิปขั้นสูงซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 7 นาโนเมตรลงไป เช่น ชิปในสมาร์ทโฟน เป็นต้น
ปัจจุบัน ASML เป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยี Extreme Ultraviolet Lithography (EUV) ในเครื่องผลิตชิปแต่เพียงผู้เดียวในโลก ใช้สำหรับการผลิตชิปขั้นสูง ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่สุดของบริษัท ทำให้เป็นผู้ผูกขาดตลาดเครื่องผลิตชิปอย่างแท้จริง โดยครองส่วนแบ่งการตลาดกว่า 80% ทั่วโลก
5. Advanced Micro Devices Inc (AMD) 8.13%
AMD หรือ Advanced Micro Devices เป็นบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติสัญชาติอเมริกัน ที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและผลิตไมโครโปรเซสเซอร์ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ CPU
นอกจากนี้ AMD ยังออกแบบและผลิตหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) และผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์อื่น ๆ สำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เซิร์ฟเวอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ อีกด้วย
ธุรกิจหลักของ AMD
- ไมโครโปรเซสเซอร์ (CPU)
AMD ผลิต CPU ที่ใช้ในคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป โน้ตบุ๊ก รวมถึงเซิร์ฟเวอร์ โดยมีผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นอย่าง Ryzen ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไป และการโอเวอร์คล็อก (การปรับให้เครื่องทำงานได้เร็วกว่าสเปคที่ระบุมา โดยเพิ่มความเร็ว CPU หรือ GPU) เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงและราคาที่คุ้มค่า
- หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU)
การ์ดจอ Radeon ของ AMD เป็นคู่แข่งโดยตรงกับ Nvidia GeForce การ์ดจอเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในคอมพิวเตอร์สำหรับเล่นเกมส์ คอมพิวเตอร์สำหรับงานกราฟิก และศูนย์ข้อมูล
- ชิปเซ็ต
AMD ผลิตชิปเซ็ตที่ใช้ควบคุมการทำงานของส่วนประกอบต่างๆ ในคอมพิวเตอร์ เช่น หน่วยความจำ และอุปกรณ์ต่อพ่วง
- โซลูชั่นด้านศูนย์ข้อมูล (Data Center Solutions)
AMD พัฒนาโซลูชันสำหรับศูนย์ข้อมูล ซึ่งรวมถึงโปรเซสเซอร์และชิปเร่งความเร็ว เพื่อรองรับการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่และงานด้าน AI
ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น
– Ryzen: ซีรีส์โปรเซสเซอร์ (CPU) สำหรับคอมพิวเตอร์ โดย Ryzen ได้รับการออกแบบมาเพื่อแข่งขันกับ Intel Core โดยตรง
– Radeon: การ์ดจอสำหรับคอมพิวเตอร์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเร่งประสิทธิภาพการแสดงผลกราฟิก ทำให้สามารถเล่นเกม วิดีโอ หรือทำงานด้านกราฟิกได้อย่างราบรื่นและสวยงามมากขึ้น โดย Radeon เป็นคู่แข่งโดยตรงกับ GeForce ของ Nvidia
– EPYC: ซีรีส์ของโปรเซสเซอร์ (CPU) สำหรับเซิร์ฟเวอร์ที่ออกแบบมาเพื่อออกแบบมาเพื่อรองรับความต้องการในการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่และซับซ้อน จากศูนย์ข้อมูล คลาวด์ และระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์
สรุปจุดเด่นที่น่าสนใจของ SCBSEMI(A)
- ตลาดใหญ่และโตเร็ว
อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มีแนวโน้มเติบโตสูงมากในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยคาดว่ามูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เนื่องจากความต้องการชิปที่เพิ่มขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรม
- มี Barrier to Entry
ธุรกิจผลิตชิปนั้นมีความซับซ้อนสูง มีเทคโนโลยีที่เป็นเอกลักษณ์ และยังถูกใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรมที่เป็น Mega Trends ของโลก ถือเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันทำให้บริษัทสามารถครองตลาดและเติบโตได้ในระยะยาว
- ผลตอบแทนสูงเมื่อตลาดดี
เนื่องจากกองทุนมีการลงทุนแบบกระจุกตัวในหุ้นขนาดใหญ่ โดย Top 5 Holdings อยู่ที่ 50.52% ทำให้เมื่อตลาดหุ้นเซมิคอนดักเตอร์ปรับตัวดีขึ้น กองทุนนี้ก็มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่ากองทุนหุ้นเซมิคอนดักเตอร์อื่น ๆ
ที่มา: Vaneck, SET Investnow, Finnomena, SCBAM
คำเตือน: ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | กองทุนรวมนี้ลงทุนกระจุกตัวในผู้ออกตราสารหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของ พอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย | คำแนะนำการลงทุนนี้เป็นไปตามกรอบการพิจารณาของ Finnomena Funds ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างโอกาสรับผลตอบแทนในระยะเวลาตามแต่ละประเภทของพอร์ตเท่านั้น บริษัทมิได้การันตีถึงผลตอบแทนที่จะได้จากคำแนะนำการลงทุนดังกล่าว มีความเสี่ยงที่ผลตอบแทนอาจไม่เป็นไปตามคาดหวัง หรือมีผลขาดทุนได้ | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE @FinnomenaPort | สำหรับผู้ลงทุนในความดูแลของ Kept by krungsri ติดต่อทีม Kept help center ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 296 6299