สร้างวินัยให้พอร์ตการลงทุนแข็งแรง ด้วยการทำ DCA

สวัสดีครับ วันนี้จะมาพูดเรื่อง (เงิน) มาออกกำลังกายแบบ DCA (dollar-cost averaging)

หลายคนอาจจะงง DCA คือไรอะ ?

ค่ายหนังหรอ ?

นั้นมัน DC !!!

ใช่พิธีกรป่ะ ?

นั้นมัน MC !!

ใช่..?

พอแล้ว!!

มาเข้าเรื่องกันดีกว่าครับ ซึ่งการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน หรือ DCA ก็คือ การที่เรากำหนดการลงทุนเป็นงวด ๆ งวดละเท่า ๆ กัน อาจลงทุนเป็นรายเดือน รายไตรมาส โดยไม่สนใจว่าราคาหน่วยลงทุน หรือราคาหุ้นที่เราจะซื้อตอนนั้นเป็นราคาเท่าไร จะขึ้นหรือจะลง ก็ไม่สนใจ การลงทุนแบบนี้จะเป็นการตัดเอาอารมณ์ความรู้สึกออกไป เป็นการลงทุนแบบอัตโนมัติไปเรื่อย ๆ โดยตั้งเป้าหมายเป็นจำนวนเงินที่ต้องการลงทุนเป็นหลัก

ก็เหมือนกับการออกกำลังกาย ที่เราจะโฟกัสไปที่เราอยากผอม อยากหุ่นดี แต่วันนี้ไม่มีเวลามาก แต่ขอให้ได้ออก เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ฉันจะสวย จะผอม จะล่ำ นั้นแหละครับท่านผู้ชม..

การที่เราลงทุนโดยซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม หรือหุ้น ด้วยวิธี DCA จะทำให้เราสามารถซื้อหน่วยลงทุน หรือหุ้นในจำนวนที่มากขึ้นหากราคาหุ้นปรับตัวต่ำลง และจะซื้อได้น้อยลงในขณะที่ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น อ่าว!!!! แต่เดี๋ยวก่อน โดยเฉลี่ยแล้วเราจะไม่ต้องมาคอยเครียดว่าราคาหุ้นมันจะขึ้น ๆ ลง ๆ  หรือของกองทุนที่เราต้องการซื้อเฉลี่ย ทำให้เราตัดความเครียดนี้ลงไปได้ครับ

ถ้ามองเป็นน้ำหนักตัวคือราคาหุ้น น้ำหนักตัวเราก็จะขึ้น ๆ ลง ๆ ตามสิ่งที่เราทานเข้าไป และปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายอย่าง (ไม่ควบคุมอาหาร) ทำให้น้ำหนักเราขึ้น ๆ ลง ๆ แต่ถ้าเราออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็จะช่วยทำให้เราสุขภาพดี หุ่นดีได้ไม่ยากครับ

ข้อดีของการกระจายการลงทุนอย่างเป็นระบบด้วยวิธี DCA

ข้อดีก็คือ ถ้าภาวะตลาดในช่วงนั้นมีความผันผวนมาก ๆ หรือเป็นตลาดขาลง เราจะมีโอกาสขาดทุนน้อยกว่าวิธีที่เราซื้อทั้งหมดในครั้งเดียว แต่ในช่วงขาขึ้นวิธีนี้ก็จะให้ผลเป็น “ค่าเฉลี่ย” ที่ไม่มีความเสี่ยงสูง ลองมาดูแบบจำลอง DCA ในรอบ 1 ปี หากเราตัดซื้อเฉลี่ยหุ้นตัวหนึ่งที่มีราคาอยู่ในช่วง 5-13 บาท โดยซื้อเฉลี่ยทุกเดือน เดือนละ 2,000 บาท เราสามารถจำลองโอกาสที่จะเกิดขึ้นดังต่อไปนี้

สร้างวินัยให้พอร์ตการลงทุนแข็งแรง ด้วยการทำ DCA

จากตารางจะเห็นว่าหากราคาหุ้นที่เราต้องการซื้อเฉลี่ยแกว่งตัวอยู่ในช่วง 5-13 บาท ถ้าเราตัดซื้อเฉลี่ยทุกเดือน เดือนละ 2,000 บาท เราจะได้ต้นทุน 9.42 บาทต่อหุ้น ต่ำกว่าราคาหุ้นในเดือน 12 ที่ปิดไป 13 บาทต่อหุ้น โดยเราจะได้จำนวนหุ้น 3,131 หุ้น และใช้เงินไป 24,000 บาท หากเราซื้อหุ้นทีเดียวเมื่อสิ้นปีที่ราคา 13 บาทต่อหุ้น ด้วยเงินจำนวน 24,000 บาทเช่นกัน เราจะได้หุ้นเพียง 1,846 หุ้น ในกรณีนี้จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าได้หุ้นน้อยกว่าวิธีที่เราซื้อเฉลี่ยด้วยแนวทาง DCA

การทำ DCA นั้น ทำให้เรามีวินัยในการลงทุน ไม่หลงไปกับความผันผวนของตลาดในระยะสั้น ๆ

หลายคนคงเคยเกิดอาการแบบนี้ >> ซื้อดีไหม มันลงแล้ว .. แล้วถ้าพรุ่งนี้ลงอีกละ โว้ยไม่ซื้อละ

แล้วเราจะเกิดความต่อเนื่องในการลงทุน และสามารถใช้การลงทุนช่วยทำให้เงินออมของเรางอกเงยได้สมดังความตั้งใจครับ 🙂

ก็เหมือนการออกกำลัง (ที่ถูกวิธี) ทุกวันก็ทำให้เรามีหุ่นที่ดี สุขภาพที่ดีได้ครับ 🙂

สรุปง่าย ๆ เลยนะครับ DCA เปรียบเสมือนการฝากเงินเป็นประจำ แต่ฝากในกองทุน/หุ้นแทน ถึงอย่างนั้นความเสี่ยงก็จะสูงกว่าการฝากเงินทั่วไปครับ ต้องพิจารณาตัวเองให้ดีว่ารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน จะได้เลือกหุ้น/กองทุนได้ถูกตามสไตล์ของตัวเอง

DCA เป็นการลงทุนแบบหวังผลระยะยาว เหมาะกับคนที่ต้องการวางแผนเงินในอนาคต เช่น เก็บเงินเกษียณ เก็บเงินให้ถึง 1 ล้าน เป็นต้นครับ และถึงแม้จะมีความผันผวนบ้าง แต่ก็มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนมากกว่าการฝากประจำครับ

ผมเชื่อว่าเรามีสุขภาพการเงินที่ดีควบคู่ไปกับสุขภาพกายที่ดีได้ครับ

#HealthisWealth

ป.ล. ใครอยากลงทุนแบบ DCA กับ FINNOMENA ก็สามารถเปิดแผน GOAL หรือ 1st Million ได้นะครับ คลิกที่ชื่อแผนเพื่อดูรายละเอียดได้เลย ^^