“วันนี้ตลาดหุ้นน่าจะแย่แน่เลย เพราะรายงานผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ยอดสะสมทะลุล้านคนเข้าไปแล้ว มีการระบาดไปทั่วโลกทั้งเอเชีย ยุโรป และสหรัฐ”

…. แต่ตลาดหุ้นกลับขึ้น

วันต่อมา “ตลาดหุ้นน่าจะลงหนัก เพราะสหรัฐ ประกาศตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานในสหรัฐทำลายสถิติใหม่ที่ 6.6 ล้านราย”

…. แต่ตลาดหุ้นก็ไม่ได้ลงเยอะอย่างที่คิด

ตลาดหุ้นขึ้นๆ ลงๆ จนเราสับสนว่า จะเอาอย่างไรดี คาดเดาไม่ถูก ใจหนึ่งก็ไม่กล้าซื้อเพราะกลัววิกฤตยังไม่จบ อีกใจหนึ่งก็กลัวว่าจะตกรถ  บางทีก็แอบคิดไปว่า SET 969 จุด เมื่อเดือนก่อนอาจจะเป็นจุดต่ำสุดไปแล้วก็ได้

สังเกตไหมครับว่า เรามักจะพยายามหยิบข้อมูลบางอย่างเพื่อมาสนับสนุนความคิดของเราเอง แล้วก็คาดการณ์ว่า ผลลัพธ์ นั่นก็คือ ดัชนีตลาดหุ้น น่าจะตอบสนองไปในทิศทางที่เราคิด แบบนี้ทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเรียกว่า “Confirmation Bias” ซึ่งมักจะเป็นการที่เราเลือกเชื่อข้อมูลบางอย่างมากเกินไป และอาจจะมองข้ามข้อมูลบางอย่างที่ไม่ตรงกับความคิดเราออกไปเช่นกัน

วิธีการรับมือกับความลำเอียงแบบนี้ทำได้ 3 อย่าง คือ

1) เอาข้อมูลทุกอย่างมาวางไว้ตรงหน้า แล้วพิจารณาทั้งด้านบวกและลบ

เช่น เราอาจจะเห็นว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มเยอะจริง ผู้ว่างงานเพิ่มเยอะกว่าคาด แต่อีกด้านหนึ่งเราก็จะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ (บางประเทศวงเงินมากถึง 10% ของ GDP) ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่จีนลดน้อยจนแทบไม่เหลือ เราก็จะเห็นทั้งข้อมูลที่เป็นบวกและลบ แล้วค่อยๆ มาพิจารณาให้รอบด้านเพื่อให้เหมาะกับการลงทุนในแบบของเราว่าจะเก็งกำไรระยะสั้น หรือลงทุนระยะยาว

2) คุยกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา เพื่อจะได้เห็นมุมมองอีกด้านที่เรามองข้ามไป

หลายครั้งที่เรามั่นใจมากเกินไป เช่น มองว่าวิกฤตรอบนี้หนักแน่ มันจะลุกลามไปถึงเศรษฐกิจภาคอื่นๆ ต้องแย่ไปอีกนาน ทำให้เรามีแต่มุมมองด้านลบ ก็อาจจะดีกว่าถ้าได้ลองไปคุยกับคนอื่นที่มีมุมมองด้านบวก หรือคนที่เคยผ่านวิกฤตรอบที่แล้วมาว่าผ่านมาได้อย่างไร

3) วางแผนรับมือตลาด ดีกว่าการคาดเดา

เราเห็นแล้วว่า ตลาดขึ้นลงได้วันละ 50 จุด 100 จุด หรือ จากติดลบ circuit breaker จนกลับมาบวกก็มีมาแล้ว เหมือนที่เขาบอกว่า นายตลาด อารมณ์แปรปรวน บางวันดีก็เอาของถูกมาขายให้เรา บางวันร้ายก็เอาของแพงมานำเสนอ เพราะฉะนั้น ก็อย่าไปคาดเดาดีกว่าครับว่าตลาดแต่ละวันจะขึ้นหรือลง สู้เราวางแผนรับมือดีกว่าว่า ถ้าตลาดเป็นแบบนี้ หุ้นที่เราสนใจราคาลงมาเท่านี้ เราจะทำอย่างไร หรือถ้าราคาวิ่งขึ้นไปเราจะทำอย่างไร แล้วก็ปรับเปลี่ยนแผนการให้สอดคล้อง

คำแนะนำของผมในช่วงนี้ก็คือ อ่านข้อมูลให้เยอะ แต่อย่าเชื่อทุกอย่าง เอาทุกหลักฐานมาพิจารณาหาข้อดีข้อเสีย คุยกับคนที่คิดไม่เหมือนเรา และที่สำคัญยืดหยุ่นเพื่อพร้อมรับมือกับตลาดที่สุดยากเกินจะคาดเดา เพื่อที่ว่าเราจะได้ไม่ตกรถหรือติดดอยแบบไม่ทันตั้งตัว