สรุปหนังสือ: รวยได้ด้วยหุ้น โดยเซียนหุ้นอัจฉริยะ

หยิบหนังสือเล่มนี้ของคุณฮง สถาพร งามเรืองพงศ์ มาอ่านอีกรอบ หลังจากเคยอ่านเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว รอบนี้เข้าใจมากขึ้นเยอะเลยทีเดียว ต้องขอบคุณ คุณฮงที่ได้ถ่ายทอดแนวคิดที่ดูเรียบง่าย แต่เอาไปใช้ได้จริงในการลงทุน เลยอยากสรุปเรื่องราวที่อ่านเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับทุก ๆ คนเอาไปใช้กันครับ

สรุปหนังสือ: รวยได้ด้วยหุ้น โดยเซียนหุ้นอัจฉริยะ

Chapter 1: ทำความเข้าใจตลาดหุ้น

1) ตลาดหุ้นไม่ใช่การพนัน มันคือสถานที่จับจองธุรกิจที่เราสนใจ ให้เหมาะกับเป้าหมายการลงทุน และความสามารถในการรับความเสี่ยง

2) จุดเด่นของหุ้นเมื่อเทียบกับการทำธุรกิจ คือ
• ถอนตัวง่าย ขายหุ้นได้ถ้าไม่ดีอย่างที่คิด
• ซื้อหุ้นเฉพาะช่วงที่กำลังเติบโตได้
• กระจายความเสี่ยงได้หลากหลาย
• เป็นเจ้าของธุรกิจที่ตัวเองไม่มีเงินลงทุนได้
• ลดปัญหาเรื่อง “คน”

สรุปหนังสือ: รวยได้ด้วยหุ้น โดยเซียนหุ้นอัจฉริยะ

Chapter 2: วิเคราะห์ผลการดำเนินงานบริษัท

1) สินทรัพย์ เท่ากัน ไม่ได้แปลว่ารวยเหมือนกัน คนที่มี D/E น้อยกว่าน่าจะปลอดภัยกว่า

2) รายได้โต 10% แต่กำไรสุทธิลดลงได้ ถ้าต้นทุนและค่าใช้จ่ายโตเร็วกว่า

3) ถ้าลูกหนี้การค้าโตเร็วกว่ายอดขาย แม้กำไรจะโตก็ต้องระวังให้มาก เพราะแปลว่าขายของไป ยังเก็บเงินไม่ได้ อาจต้องบันทึกเป็นหนี้สูญได้

4) เจ้าหนี้การค้าเยอะ อาจจะดีก็ได้เพราะเป็นหนี้ที่ไม่ต้องแบบรับภาระดอกเบี้ย คือ สั่งวัตถุดิบมาก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินในอนาคต 

5) หุ้นค้าปลีกหลายตัว D/E > 1 เท่า ไม่ได้น่ากลัว เพราะเป็นเจ้าหนี้การค้าเยอะ และลูกหนี้การค้าแทบไม่มี เพราะรับเงินสดเป็นส่วนใหญ่

6) ตัวเลขกำไรสุทธิ ควรใกล้เคียงกับตัวเลขกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน เพราะถ้า NP เยอะ แต่ CFO ติดลบ แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายปันผล ขายของยังเก็บเงินสดไม่ได้เลย

7) CFI ควรเป็นลบ เพราะแสดงถึงการลงทุน ถ้าเป็นบวก แสดงว่า มีการขายสินทรัพย์ถาวรออกไป คำถามคือ แล้วยอดขายจะโตได้จากอะไร ถ้าขายสินทรัพย์ที่ใช้ทำมาหากินออกไป

8. ) อย่าดูแต่ P/E ว่าต่ำอย่างเดียว ให้ดูความแน่นอนของรายได้ และความต่อเนื่องของกำไรด้วย คือ การดู PEG นั่นเอง โดยทั่วไปแล้ว PEG ต่ำ จะดีกว่า

9) ดู P/CFO เพื่อหาคุณภาพของกำไรว่าเก็บเงินสดได้ดีมั้ย ค่านี้ยิ่งต่ำยิ่งดี

10) ดู GPM อย่างเดียวไม่ได้ บางทีต้องดู Asset Turnover ด้วย (เอายอดขายมาหารสินทรัพย์) เช่น ร้านบุฟเฟต์อาหารนานาชาติ จะมี GPM สูงกว่า ร้านหมูกระทะ แต่จัดโต๊ะหลวม ๆ สบาย ๆ คนมากินต่อวันไม่เยอะแต่เก็บแพง ขณะที่ร้านหมูกระทะ โต๊ะตั้งติด ๆ กัน ลูกค้าแน่นร้าน คนลุกเข้าลุกออกตลอดเวลา ถึงแม้ GPM ต่ำกว่า แต่ AT สูงกว่ากันมาก

สรุปหนังสือ: รวยได้ด้วยหุ้น โดยเซียนหุ้นอัจฉริยะ

Chapter 3: เลือกหุ้นเพื่อลงทุน

1) ถ้าเน้นปกป้องเงินต้น ให้เลือกหุ้นที่รายได้แน่นอน ปันผลสม่ำเสมอ 6-7% แต่ก็เป็นไปได้ว่าธุรกิจนั้นอาจจะอิ่มตัวแล้วเลยจ่ายปันผลออกมา และถ้าราคาหุ้นลง แปลว่าระดับปันผลจะสูงขึ้น จนถึงจุดนึงก็จะมีคนมาช้อนซื้อทำให้หุ้นไม่ลงต่อ

2) การลงทุนหุ้นเติบโต ควรดูที่อุตสาหกรรมก่อนว่ามีความต้องการเพิ่มขึ้นหรือไม่ และหมั่นศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคว่าเปลี่ยนไปอย่างไร รวมทั้งติดตามว่าบริษัทไหนอาศัยจังหวะในการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดได้เยอะ ๆ 

3) บริษัทที่กำลังการผลิตเหลือจะพร้อมเติบโตมากกว่า คือ ถ้าตลาดมี Demand ก็พร้อมผลิตขายเลยไม่ต้องรอลงทุนเพิ่ม

4) หาหุ้นเติบโตที่คนยังไม่รู้จัก P/E 12-15 เท่า การเติบโตโดยเฉลี่ย 3 ปีข้างหน้าสูงกว่า P/E 1.5 เท่า เช่น คาดว่ากำไรจะโต 20% และหุ้นมี P/E 12 เท่า แบบนี้น่าสนใจ เพราะถ้าบริษัทไม่เติบโตอย่างที่คิด เราจะไม่เจ็บตัวมาก แต่ถ้าเราซื้อหุ้น P/E สูง ๆ ที่การเติบโตไม่เยอะมาก เราอาจจะกำลังติดดอยครั้งใหญ่แล้วก็ได้

5) เลือกหุ้นที่ “เพิ่งทำจุดสูงสุดใหม่ของกำไร” และต้องอ่านเกมส์ต่อไปว่า “ไตรมาสที่เหลือ” ของปีนั้น ๆ จะรักษากำไรสุทธิที่ระดับนี้ไว้ได้ต่อเนื่อง เลือกหุ้นที่ P/E ต่ำกว่ากลุ่ม

สรุปหนังสือ: รวยได้ด้วยหุ้น โดยเซียนหุ้นอัจฉริยะ

Chapter 4: การดูภาวะตลาด

1) Earning Yield คือ ส่วนกลับของ P/E เช่น P/E 30 คือ Earning Yield 3.3% เอาไว้ดูผลตอบแทนเปรียบเทียบแรงจูงใจว่าจะเลือกเอาเงินไปไว้ที่ไหนดี เช่น หุ้น ฝากธนาคาร พันธบัตร โดยส่วนต่างผลตอบแทนของ Earning Yield และ Bond Yield เรียกว่า Earning Yield Gap ส่วนต่างยิ่งสูงยิ่งดี

2) Fed Fund Rate หรืออัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ถ้าถึงจุดต่ำสุดเมื่อไหร่ หุ้นจะเป็นขาขึ้นแบบ Super Bull เช่น ตอนปี 2003 กับ ปี 2009 เพราะเงินจะไหลเข้าหาสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ฝากแบงค์กินดอกไม่คุ้ม

3) ตลาดหุ้นชอบเงินเฟ้อต่ำ เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคจะมีมากกว่า ภาวะแบบนี้เอื้อกับการลงทุนมากกว่า

4) ตลาดหุ้นคือสุดยอดของการมองไปข้างหน้า เช่น GDP ประกาศออกมาติดลบ แต่หุ้นไม่ลงเพราะลงมาก่อนหน้าแล้ว บางทีเริ่มจะขึ้นด้วยซ้ำ ถ้ามีการมองว่าไตรมาสหน้าตัวเลขจะดีขึ้น สาเหตุที่เป็นแบบนี้ก็เพราะตลาดหุ้นเป็น Financial Asset แค่กดปุ่มเดียวก็สามารถซื้อขายได้ ไม่เหมือนการทำธุรกิจที่มีโรงงาน คนงาน วัตถุดิบ ไม่ใช่คิดจะเลิกธุรกิจแล้วทำได้เลย ตัวเลขเศรษฐกิจเลยสะท้อนออกมาช้ากว่า

“ตลาดหุ้นเป็นดัชนีที่นำเศรษฐกิจ ไม่ใช่เศรษฐกิจนำตลาดหุ้น”

สรุปหนังสือ: รวยได้ด้วยหุ้น โดยเซียนหุ้นอัจฉริยะ

Chapter 5: จิตวิทยาและวินัยการลงทุน

1) คนเราใช้อารมณ์ในตลาดหุ้นมากกว่าการลงทุนรูปแบบอื่นเพราะราคามันเคลื่อนไหวตลอดเวลา เช่น เราไม่ได้วิ่งไปดูที่ดินทุกวัน ไม่ได้มีอารมณ์ร่วมขนาดหุ้น เพราะราคาที่ดินไม่วิ่งขึ้นวิ่งลงรายวินาทีเหมือนหุ้น

2) แม้ว่าคุณจะรอบรู้แค่ไหนก็ตาม ถ้าตกอยู่ภายใต้อารมณ์ และใช้มากกว่าเหตุผล เมื่อนั้นความสามารถในการวิเคราะห์หุ้นก็จะไม่มีค่าอะไรเลย เราต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง และ รักษาไว้ซึ่งระเบียบวินัยที่ดี

3) สัจธรรมในตลาดหุ้น “ความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน” บางครั้งเราพลาดไม่ได้เพราะเรามองผิด แต่มันมีปัจจัยภายนอกเหนือการควบคุมมากระทบ ต่อให้เซียนแค่ไหนก็พลาดได้

4) จอส โซรอส บอกว่า “ไม่สำคัญว่าคุณจะผิดหรือถูกกี่ครั้ง แต่สำคัญว่าเวลาถูก คุณต้องกำไรให้มากกว่าที่คุณผิด”

5) Cut Loss และ Let Profit Run ตัดขาดทุนในหุ้นที่เรายอมรับความจริงว่าเราคิดผิด แล้วเอาเงินไปลงทุนหุ้นตัวใหม่ ถ้าจับถูกตัวก็ปล่อยให้กำไรไหลไป เงินลงทุนจะโตขึ้นเยอะ สาเหตุก็เพราะเราถูกสอนมาตลอดว่า คนที่สอบตกคือคนที่ทำผิดเยอะกว่าทำถูก และคนที่ตัดขาดทุนคือคนที่ยอมรับว่าทำผิดพลาด 

6) การเล่นหุ้นให้ประสบความสำเร็จ สุดท้ายสิ่งที่ตัดสินคือ ภาวะจิตใจที่เหมาะสม ไม่ตื่นตระหนกง่าย และไม่โลภอย่างหูตามืดบอด

สรุปหนังสือ: รวยได้ด้วยหุ้น โดยเซียนหุ้นอัจฉริยะ

Chapter 6: หลักคิดเซียนหุ้น

1) “มองงบ 2-3 ไตรมาสข้างหน้า ไม่ได้มองงบปัจจุบัน” เพราะงบปัจจุบันเป็นการสะท้อนถึงอดีตที่ผ่านมาแล้ว เราต้องคาดการณ์ถึงแนวโน้มในอนาคตมากกว่า ถ้าเจองบดีแต่หุ้นตก เป็นไปได้ว่ามีกลุ่มนักลงทุนผู้ชาญฉลาดคาดการณ์เอาไว้แล้วและได้ซื้อมาก่อนล่วงหน้า แต่ตอนนี้คาดการณ์ต่อไปว่าแนวโน้มกำไรจะไม่ดีเลยขายออกมา

2) “ซื้อหุ้นเมื่อคนอื่นกลัว และขายเมื่อคนอื่นโลภ” หุ้นตัวไหนดีมาก ๆ อาจเกิดความโลภบังตา มีแต่คนซื้อทำให้ราคาขึ้น เพราะเชื่อว่าพรุ่งนี้หุ้นจะขึ้นต่อ เราควรจะขายช่วงเวลานี้ 

3) แยกให้ออกว่าแบบไหนคือหุ้นขึ้นเพราะพื้นฐานดีจริง แต่แบบไหนขึ้นเพราะหน้ามืดตามัว เวลาลงก็เช่นกัน ลงเพราะกิจการไม่ดี หรืออารมณ์พาไป

4) “Simple is the Best” ทำให้มันง่าย ๆ แค่บวกลบคูณหาร ทำตามระบบที่เราสร้างขึ้นมาก็พอ ลองคิดดูว่า ถ้าเพื่อนเปิดร้านอาหาร ชวนเราไปร่วมทุน แล้วใช้ตรีโกณมิติ แคลคูลัส ประเมินราคา เราจะอยากร่วมทุนมั้ย หรือเราแค่ต้องเดินไปดูทำเล ดูลูกค้า ดูคู่แข่ง ง่าย ๆ แค่นั้นพอไหม

5) “อย่าโลภเกินความรู้ แล้วจะไม่เสียเงินที่ไม่สมควรจะเสีย” เช่น เรามีหุ้นโรงไฟฟ้าที่เราศึกษามาดีอยู่แต่หุ้นมันไม่ค่อยขึ้น แต่พอดีหุ้นสื่อสารขึ้นเยอะ ใคร ๆ ก็ดีใจว่ากำไรกัน เราเลยขายหุ้นโรงไฟฟ้ามาเข้าสื่อสารแทนทั้ง ๆ ที่ไม่มีความรู้ แต่หารู้ไม่ว่าเป็นการซื้อตอนที่เค้าไล่ราคามาสุดทางแล้ว และขณะเดียวกันหุ้นโรงไฟฟ้าที่เพิ่งขายก็เริ่มขึ้นแล้ว เป็นตลกร้ายที่ขำไม่ออกเลยทีเดียว คุณไม่เพียงแต่เสียเงินเพราะความไม่รู้ แต่เสียเงินเพราะปล่อยให้ราคาหุ้นในกระดานเข้ามาครอบงำจิตใจอีกด้วย

6) “ถัวเฉลี่ยขาขึ้น” เพราะเป็นการตอบรับว่าเราคิดถูก และเป็นการลดความเครียดในการลงทุนด้วย เหมือนจีบสาว เจอกันครั้งแรกเราคงไม่ทุ่มซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม ซื้อทองให้เขา แต่เราเริ่มที่ไปรับไปส่ง พอเธอยอมรับเรามากขึ้นก็ค่อย ๆ ทุ่มเพิ่มขึ้น ให้ความสำคัญมากขึ้น หุ้นก็เช่นกัน ยอมกำไรน้อยลง ดีกว่าเสียเงินต้นหนัก ๆ 

7) ตัดขาดทุนที่ 5-8% เป็นการ Limit Loss ว่าเราจะไม่หมดตัวจากตลาดหุ้น เหมือนทำประกันรถยนต์ ถ้ารถไม่ชน เราก็ไม่ได้ออกมาโวยวายบริษัทประกัน ถูกมั้ย แต่เป็นการลดความเสี่ยงมากกว่า

😎 เวลาเข้าตลาดใหม่ ๆ ได้กำไร เรานีกว่าเราเก่ง แต่จริง ๆ อาจเป็นเพราะตลาดดี เราต้องบริหารความเสี่ยงว่าจุดรักษากำไรเท่าไหร่ ถ้าเกิดงบออกมาไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ควรขายหุ้นออกไปเท่าไหร่

สรุปหนังสือ: รวยได้ด้วยหุ้น โดยเซียนหุ้นอัจฉริยะ

Chapter 7: ทัศนคติที่ถูกต้องในตลาดหุ้น

1) เวลาขาดทุนหนัก สิ่งที่อย่าให้เสียคือ เสียใจ อย่ากลัวตลาดมากเกินไป ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ตัวเองควบคุมได้มากกว่าเช่น จิตใจตัวเอง มากกว่าสนใจเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ภาวะตลาด

2) คนที่ประสบความสำเร็จมักพูดเรื่อง “Downside” ก่อนเสมอ เช่น พูดว่าอย่างเลวร้ายสุดไม่น่าขาดทุนเกินเท่าไหร่

3) ผลตอบแทนสูงจะน่าสนใจเมื่อมาพร้อมกับความเสี่ยงต่ำเท่านั้น ไม่ใช่ High Risk High Return 

4) ซื้อบริษัทที่ดีที่มีปัญหาแค่ชั่วคราว ตลาดหุ้นมักจะร่วงแรงเกินความเป็นจริงบ่อย ๆ และนั่นคือโอกาส

5) อยากลงทุนประสบความสำเร็จ ต้องทุ่มเทและมีใจรัก ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ต้องขยันจนมีประสบการณ์มากพอ

6) ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เพราะตลาดหุ้นเป็นเรื่องของเงินทอง อย่าคิดจะเอาชีวิตทางการเงินไปฝากใคร ไม่มีใครเป็นห่วงเงินของเรามากกว่าตัวเราเอง

ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/stock.vitamins/posts/2146647728933947