แจ้งเตือน

FINNOMENA REVIEW

ตลาดขาลง ทำไมต้องถือทอง? มาหาคำตอบกันด้วย

TMBGOLDS

Created by:

Nanchya Chomphooteep (PortRomeo)

Key Highlights

Introduction

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมาตลาดการลงทุนได้ผ่านจุดร้อนแรงมาแล้ว ด้วยดัชนี SET ที่เคยพุ่งสูงสุดถึงระดับ 1850 จุด แต่แล้วก็ปรับตัวลงมากว่า 15% นอกจากในไทยแล้วก็ยังเกิดการเทขายหุ้นอย่างหนักในหลายๆ ตลาดทุนทั่วโลก เช่น ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ และ CSI 300 ของจีนที่ปรับตัวลงมากว่า 20% นอกจากนี้เรายังเห็นสัญญาณเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ตั้งแต่ภาคเอกชนอย่างผลประกอบการที่น้อยกว่าคาด  ไปจนถึงภาคใหญ่อย่างค่า PMI (Purchasing Managers’ Index) ของหลายๆ ประเทศใหญ่ที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ส่อเค้าการหดตัวของเศรษฐกิจที่พร้อมเพรียงกัน

หลายๆ คนอาจจะเริ่มวิตกกังวลว่าในสภาวะตลาดที่ดูไม่เป็นใจแบบนี้ ควรจะหันไปลงทุนอะไรดี เพราะหันไปทางไหนก็ดูเหมือนจะมีแต่ “ขาลง” หรือ “Sideway” ไปหมด ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อย่าเพิ่งถอดใจไป ในวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ แม้การลงทุนในหุ้นอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีนักในปี 2019 นี้ แต่เราก็ยังมีสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ ให้หันไปเหลียวแล ในยามที่เศรษฐกิจดูจะไม่เป็นใจ

สินทรัพย์ที่วิ่งสวนทางกับทิศทางเศรษฐกิจอย่าง “ทองคำ” คือหนึ่งในนั้น

ว่าแต่ว่าทำไมทองคำถึงเป็นที่น่าสนใจในยามที่เศรษฐกิจดูไม่ดี?

อันนี้ก็ต้องขอเท้าความด้วยความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับทองสักหน่อย

“มีเงินนับเป็นน้อง มีทองนับเป็นพี่”

เราต่างโตมากับมุมมองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์มีค่า ไม่มีทางด้อยค่าลง ไม่เสื่อมสลาย มีค่ายิ่งกว่าเงินที่เป็นสินทรัพย์สภาพคล่องสูงที่เราใช้จ่ายกันอยู่ทุกวันนี้

ทว่าราคาของทองนั้นก็เหมือนสินค้าทั่วไป ที่เมื่อคนต้องการซื้อมากขึ้น ราคาก็จะเพิ่มขึ้นตาม แต่เมื่อคนหนีจากทองไปสนใจอย่างอื่นมากกว่า ราคาทองก็จะตก ทองจึงกลายเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่ผู้คนใช้เก็งกำไรในสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป

ถ้าอย่างนั้น จุดสำคัญที่เราต้องรู้คือ เมื่อไรที่คนจะซื้อหรือขายทอง?

เนื่องจากทองเป็นสินทรัพย์ที่คงมูลค่า ผู้คนจึงมองทองเหมือนเป็นหลักประกัน เป็นเหมือนแหล่งหลบภัยในยามที่สินทรัพย์อื่นๆ เผชิญความเสี่ยงสูงหรือมีแนวโน้มว่าจะด้อยค่าลง พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี หลายๆ สิ่งก็ย่อมโดนผลกระทบแง่ลบตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตร ค่าเงิน ที่ดินที่อยู่อาศัย หรือแม้กระทั่งเงินฝากธนาคารที่คนฝากก็อาจจะยังเสียวๆ ว่าธนาคารจะยืนอยู่ได้มั้ย ไม่ล้มไปก่อนใช่มั้ย

ทุกๆ สินทรัพย์เผชิญความกังวล แต่ไม่ใช่กับทอง ที่ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นยังไง มูลค่าของมันก็จะยังคงอยู่อย่างนั้น

ด้วยเหตุนี้ เมื่อยามเศรษฐกิจส่อเค้าชะลอตัว ราคาทองย่อมมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ของผู้คนที่อยากหาหลุมหลบภัยจากความผันผวนของสินทรัพย์อื่นๆ

ในทางตรงกันข้าม หากเศรษฐกิจร้อนแรง ดูท่าว่าจะเติบโตเรื่อยๆ สินทรัพย์อื่นๆ เช่น หุ้น ก็มีแนวโน้มว่าราคาจะสูงขึ้นในอนาคต แน่นอนว่าผู้คนย่อมอยากได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า เงินก็จะไหลไปอยู่กับสินทรัพย์อื่นเพราะผู้คนไม่จำเป็นต้องใช้ทองเป็นที่กำบังอีกต่อไป มีสินทรัพย์อื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนได้สูงกว่า เพราะแม้ทองจะมีมูลค่ามั่นคง ไม่ขึ้นกับสภาวะตลาดใดๆ แต่อย่าลืมว่ามันไม่ได้สร้างผลตอบแทนเป็นกระแสเงินสดให้นักลงทุน ไม่เหมือนกับหุ้นที่ยังมีปันผลออกมาบ้าง และสามารถขายเก็งกำไรในภาวะตลาดหุ้นขึ้นแรง หรือเงินฝากที่ก็ยังมีดอกเบี้ยมาบ้าง อุปสงค์ที่ลดลงของทองจึงทำให้ทองราคาตกในช่วงที่เศรษฐกิจดี

รูปที่ 1: ราคาทองคำทำผลงานได้ดีเมื่อตลาด SET ปรับตัวลดลงอย่างหนัก (ที่มา: Bloomberg, FINNOMENA)
รูปที่ 2: ราคาทองคำทำผลงานได้ดีทุกครั้งที่ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลง (ที่มา: Bloomberg, FINNOMENA)

นอกจากนี้ ทองยังมีความสัมพันธ์ที่ตรงกันข้ามกับค่าเงินดอลล่าร์ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? ต้องมองย้อนกลับไปว่าทองนั้นซื้อขายด้วยค่าเงินดอลล่าร์ เรียกได้ว่าต้นทุนของการถือทองก็คือเงินดอลล่าร์นั่นแหละ 

หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัว ธนาคารกลาง (Fed) ย่อมไม่กล้าขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงเพราะเดี๋ยวยิ่งกระทบเศรษฐกิจไปกันใหญ่ เมื่อดอกเบี้ยต่ำก็จะส่งผลให้ค่าเงินอ่อนลง ตามมาด้วยความน่าดึงดูดของดอลล่าร์ที่ลดลง

ค่าเงินดอลล่าร์ที่อ่อนลง แปลความได้สองแง่ แบบแรกคือเหมือนสินทรัพย์ที่ด้อยค่าลง ก็ไม่มีใครอยากจะถือ คนก็จะขายออกแล้วไปซื้อสินทรัพย์อื่นแทน (ทองคือหนึ่งในนั้น) แบบที่สองคือในเมื่อทองนั้นซื้อขายกันด้วยดอลล่าร์สหรัฐฯ การที่ค่าเงินดอลล่าร์อ่อน นั่นก็แปลว่าค่าเงินประเทศอื่นแข็ง และมันทำให้ประเทศต่างๆ สามารถซื้อทองได้ถูกลง พอซื้อมากๆ ราคาก็เพิ่มขึ้น

ล่าสุด ทาง FINNOMENA Investment Team ได้ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยพื้นฐานของทองคำที่เปลี่ยนไป อันได้แก่ปริมาณการถือครอง ETF ทองคำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2018 เช่นเดียวกับธนาคารกลางโดยเฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่ (รัสเซีย, ตุรกี, คาซัคสถาน) ที่เริ่มเพิ่มสัดส่วนทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศอีกครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินดอลล่าร์ที่อยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

ด้วยเหตุนี้ การมีทองอยู่ในพอร์ตการลงทุนจะช่วยสร้างสมดุลให้ผลตอบแทนไม่เหวี่ยงเกินไป ในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัว การมีทองเก็บไว้ก็จะช่วยพยุงพอร์ตไม่ให้ติดลบสาหัสจนเกินไปอันเป็นผลมาจากราคาทองที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันหากเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น ผลตอบแทนจากหุ้นของเราอาจจะไม่ได้สูงปรี๊ดเพราะมีทองคอยถ่วงไว้อยู่ เรียกได้ว่าทองเป็นอีกหนึ่งในสินทรัพย์ที่เหมาะกับการกระจายความเสี่ยงโดยแท้จริง ทั้งนี้ทั้งนั้น นักลงทุนสามารถปรับสัดส่วนของแต่ละสินทรัพย์ในแต่ละสถานการณ์ได้ ไม่จำเป็นต้องถือสินทรัพย์เดิมด้วยสัดส่วนเดิมตลอด ขึ้นอยู่กับสไตล์การลงทุนและความเสี่ยงที่นักลงทุนสามารถรับได้

ว่าแต่ว่าแนวโน้มราคาทองในระยะกลาง-ยาวจะเป็นยังไงนะ?

จากรายงานของ บลจ. ทหารไทย ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2018 มองว่า

“ดอลล่าร์แข็งค่าน่าจะใกล้จบรอบ แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปีหน้าคงจะโตช้ากว่าปีนี้ ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในอีก 2 ปีข้างหน้ามีมากขึ้น น่าจะทำให้เส้นทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดใกล้สิ้นสุด ด้านงบประมาณของสหรัฐฯ มีแนวโน้มขาดดุลเพิ่มขึ้น ขณะกระแสประชานิยมในหลายๆ ประเทศน่าจะเพิ่มระดับหนี้สาธารณะในอนาคต อีกทั้งสารพัดปัจจัยเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ในโลก น่าจะหนุนความต้องการทองคำในระยะกลาง-ยาว”

ทางด้าน ดร.แอนดรูว์ สต็อทช์ อดีตนักกลยุทธ์การลงทุนของ CLSA ผู้ก่อตั้ง A.Stotz Investment Research ก็มีมุมมองต่อตลาดในทิศทางคล้ายๆ กัน เขาบอกว่า

“เนื่องจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีสัดส่วนอยู่กว่า 40% ของตลาดหุ้นโลก การดูทิศทางหุ้นสหรัฐฯ จึงสำคัญ และตอนนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ใกล้ถึงจุดพีคก่อนถล่มแล้วหลังจากที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างยาวนาน  การย้ายเงินไปตลาดอื่นอาจจะไม่รอด เพราะถ้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ พังเมื่อไรละก็ ทุกๆ ตลาดก็จะพังไปตามๆ กัน! เปรียบเสมือนคนอ้วนกระโดดลงไปในสระว่ายน้ำตูมเดียวทุกๆ คนตรงนั้นก็จะเปียกม่อลอกม่อแลกไปหมด”

จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะหันไปสนใจสินทรัพย์อื่นๆ นอกเหนือจากหุ้นบ้าง โดย ดร.แอนดรูว์ สต็อทช์ ได้ปรับพอร์ตลดสัดส่วนหุ้นเหลือเพียง 70% พร้อมลดสัดส่วนหุ้นสหรัฐฯ ลง และย้ายเงินส่วนที่เหลือไปลงในตราสารหนี้ ทองคำ และเงินสดแทน จากภาพข้างล่างเราจะเห็นได้ว่าช่วงที่ตลาดหุ้นดี (เส้นสีเหลือง) ทองจะไม่โดดเด่นเท่าไร (เส้นสีแดง) เรียกได้ว่าไปในทิศทางตรงกันข้ามกับหุ้นนั่นแหละ

รูปที่ 3: หุ้นขาขึ้นกำลังจะถึงจุดสูงสุด และมีแนวโน้มร่วงลง (ที่มา: A.Stotz Investment Research)

ทางฝั่งทีม FINNOMENA Investment Team ก็มองเห็นโอกาสในทองคำ โดยชี้ให้เห็นว่าราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2018 และล่าสุดก็ทะลุเส้นค่าเฉลี่ย (Moving Average, MA) 200 วัน และยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน แถม MA 50 ยังตัดขึ้นกับ MA 200 ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Golden Cross ซึ่งเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อราคาทองคำ

รูปที่ 4: ราคาทองคำเริ่มปรับตัวขึ้น (ที่มา: Bloomberg, FINNOMENA)

แล้ว "ทอง" กับ "กองทุนทอง" แบบไหนดีกว่ากัน?

หากสนใจลงทุนในทอง หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วอย่างนี้จะซื้อแบบไหนดี ระหว่างซื้อทองจริงๆ ไปเลย กับซื้อกองทุนรวมที่ไปลงทุนในทอง? 

การซื้อทองจริงๆ ก็มีข้อดีตรงที่ผู้ซื้ออาจนำมาเป็นเครื่องประดับได้ เช่น ทองเส้น แต่ข้อเสียก็คือเราจะต้องดูแลรักษามัน เก็บมันอย่างดี จำให้ได้ว่าเก็บไว้ตรงไหน และพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ทำมัน “หาย” เพราะถ้าหายไปนี่คือจบเลยนะ ไม่มีหลักฐานอะไรบ่งบอกทั้งสิ้นว่าเราเคยเป็นเจ้าของมัน

การแก้ปัญหานี้คือ…เราไม่ต้องมีทองที่เป็นรูปธรรมเลยล่ะเป็นไง? การไปซื้อกองทุนทองจึงเป็นประโยชน์ตรงที่เรายังสามารถซื้อทองได้อยู่ แต่เราไม่จำเป็นต้องเก็บทองไว้กับบ้าน เพราะกองทุนรวมจะเก็บและบริหารจัดการทองให้เราน่ะเอง

กองทุนทองระดับโลกที่เราคุ้นเคยชื่อเสียงมากที่สุดคงหนีไม่พ้น SPDR Gold Trust (หรือ Share แล้วแต่จะเรียก)

SPDR Gold Trust เป็นกองทุน ETF ทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก จดทะเบียนอยู่ในหลายตลาดหุ้นอย่าง นิวยอร์ก สิงคโปร์ ฮ่องกง และ ญี่ปุ่น ซึ่งถ้าเราซื้อกองทุนนี้ มันก็แปลว่าเราเอาเงินก้อนนี้ไปให้กองทุนซื้อทองต่อ เราก็จะได้เป็นเจ้าของทองผ่านกองทุน แต่เราก็จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการบริหารให้กองทุนเช่นกัน

รูปที่ 5: ปริมาณทองในครอบครองของ SPDR Gold Trust (ข้อมูลวันที่ 11 ม.ค. 2019) (ที่มา: SPDR Gold Share)

ตอนนี้ปริมาณทองคำที่ SPDR Gold Trust ถืออยู่ จะแตะ 800 ตันแล้ว นี่ถ้าเปรียบ SPDR Gold Trust เป็นประเทศ ก็จะกลายเป็นประเทศที่มีทองในครอบครองมากเป็นอันดับ 8 ของโลกหากเทียบกับข้อมูลปี 2018 โดยสามารถเอาชนะญี่ปุ่น (765.2 ตัน) เนเธอร์แลนด์ (612.5 ตัน) และอินเดีย (560.3 ตัน) ไปเลย มูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดอยู่ที่ระดับ 3.3 หมื่นล้านดอลล่าร์ มากกว่า ETF ทองอันดับ 2 ของโลกอย่าง iShares Gold Trust ถึง 2 เท่า

แล้วผลการดำเนินงานของ SPDR Gold Trust ขึ้นอยู่กับอะไร?

ในเมื่อสิ่งที่ SPDR Gold Trust ทำคือการรวบรวมคำสั่งซื้อขายหน่วยลงทุนจากนักลงทุนรายย่อย หรือสถาบันในประเทศต่างๆ แถมยังเป็น ETF ทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก ฉะนั้นยิ่ง SPDR Gold Trust ถือทองมากเท่าไร ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่ามุมมองของคนส่วนใหญ่บนโลกมองว่าทองกำลังมา!! ราคาก็จะขึ้นตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าเป็นทางตรงกันข้าม หากคนอยากซื้อทองน้อยลง อยากขายมากขึ้น SPDR Gold Trust ก็จะถือทองคำน้อยลง ราคาก็อาจปรับตัวลง

หลายๆ คนอาจจะเริ่มอยากลงทุนใน SPDR Gold Trust แล้ว แต่เราซื้อกองทุนนี้ตรงๆ จากประเทศไทยไม่ได้น่ะสิ สิ่งที่ทำได้ก็คือซื้อกองทุนรวมไทยที่ไปลงทุนใน SPDR Gold Trust อีกที ซึ่งก็มีหลายกองทุนในประเทศไทยให้เลือกสรรกันตามสไตล์การลงทุน (และความชอบใน บลจ.) ของแต่ละคน

แต่วันนี้เราขอยกมากองทุนหนึ่งก่อน นั่นก็คือ TMBGOLDS (กองทุนเปิดทหารไทย โกลด์ สิงคโปร์) ซึ่งบริหารโดย บลจ.ทหารไทย

มาว่ากันที่นโยบายของ TMBGOLDS กันก่อนเลย

รูปที่ 6: รายละเอียด TMBGOLDS โดยคร่าว | ที่มา บลจ.ทหารไทย, FINNOMENA

*ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต*

ดูข้อมูลผลการดำเนินงานปัจจุบันได้ ที่นี่

ดูหนังสือชี้ชวนต้นฉบับและเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ ที่นี่

กองทุนนี้เข้าลงทุนใน SPDR Gold Trust เป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV (Net Asset Value) หรือก็คือมูลค่าสินทรัพย์สุทธิทั้งหมดของกองทุน ซึ่งก็แปลว่าเงินของผู้ลงทุนเกือบทั้งหมดก็จะได้ไปถือทองจริงๆ เลยละ 

กลยุทธ์ของ TMBGOLDS คือการบริหารแบบ Passive ซึ่งก็จะมุ่งหวังให้ผลดำเนินงานเป็นไปตาม SPDR Gold Trust อีกที เรียกได้ว่ากองแม่เป็นอย่างไรกองไทยก็จะล้อตามกันไปน่ะเอง 

แล้วกองทุน TMBGOLDS ต่างจาก TMBGOLD ยังไง?

TMBGOLDS มีความต่างตรงที่อิงราคาทองจากตลาดสิงคโปร์ ในขณะที่ TMBGOLD อิงราคาทองจากตลาดนิวยอร์ก เมื่อเป็นแบบนี้ก็เจอภาวะ Timezone แตกต่างกัน ตัว NAV ที่จะได้รับนั้นก็จะใช้เวลาต่างกัน NAV จากสิงคโปร์นั้นมาเร็วกว่าเพราะอยู่ในเขต Timezone ที่ใกล้กับเรา หากเราซื้อวันนี้ เราก็จะได้รู้ NAV ณ สิ้นวันได้เลย ไม่ต้องรอถึงวันต่อมาเหมือนฝั่งนิวยอร์ก

กองนี้จึงเหมาะสำหรับใครก็ตามที่สนใจอยากกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในต่างประเทศในส่วนที่เป็นทอง และสามารถรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ระดับหนึ่ง เพราะอย่าลืมว่ากองทุนนี้เป็นกองทุนต่างประเทศ การซื้อขายก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งการป้องกันความเสี่ยงตรงนี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนอีกที แปลง่ายๆ คือแล้วแต่สถานการณ์ ไม่ฟันธงไปเลยว่าจะป้องกันหรือไม่ป้องกัน ถึงอย่างนั้น รายงานของ บลจ.ทหารไทยก็ระบุไว้ว่าตอนนี้

“Gold Singapore ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างน้อย 90% เพราะดอลล่าร์น่าจะผ่านจุดสูงสุดแล้ว และต่อไปน่าจะกลับอ่อนค่าตามแนวโน้มระยะยาว”

นั่นก็แปลว่ากองทุนเกือบจะป้องกันหมดเลยละ ตรงนี้ก็เป็นอีกจุดที่ต่างกับ TMBGOLD ซึ่งไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงเลย ฉะนั้นจะมีความเสี่ยงต่ออัตราแลกเปลี่ยนสูงกว่า

มาลองดูสถิติย้อนหลัง เราเลือกแคปมาให้ดูในช่วงที่เห็นชัดๆ อย่างช่วงที่เงินบาทแข็งค่า (เส้นเขียวที่ทิ้งดิ่งลง) ตัว TMBGOLD (เส้นเหลือง) ที่ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงค่าเงินก็ร่วงลงตามไปติดๆ แต่ TMBGOLDS (เส้นขาว) ที่ป้องกันความเสี่ยงไว้ระดับหนึ่งก็ยังสามารถเกาะติดราคาทอง (เส้นฟ้า) ไปได้

รูปที่ 7,8: เมื่อเงินบาทแข็งค่า TMBGOLDS ที่ป้องกันความเสี่ยงระดับหนึ่งจะให้ผลตอบแทนใกล้เคียงราคาทองมากกว่า (ที่มา: Bloomberg)

*ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต*

ทางด้านค่าธรรมเนียม เราจะเห็นได้ว่า TMBGOLDS มีข้อดีคือไม่เก็บขาเข้าหรือขาออกเลย ส่วนค่าใช้จ่ายรายปีอยู่ที่ 1.3161% (พ.ย. 2018)

มาว่ากันที่ผลการดำเนินงานบ้าง เป็นยังไง?

รูปที่ 9: ผลการดำเนินงานย้อนหลังของ TMBGOLDS (ที่มา: Fund Fact Sheet พ.ย. 2018)

*ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต*

ผลการดำเนินงานย้อนหลังตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งเป็นปีที่กองทุนเข้าจดทะเบียน ดูแล้วค่อนข้างผันผวนเลยทีเดียว แต่ถึงอย่างนั้นก็สอดคล้องกับราคาทองของโลก โดยผลตอบแทนที่สูงสุดคือ 26.3% ในปี 2011 ซึ่งเป็นปีที่กองทุนจัดตั้ง ส่วนปีที่หนักหน่วงสุดคือ 2013 ซึ่งติดลบไปกว่า 26.59% 

และเมื่อเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนรวมกับตัวดัชนี LBMA Gold Price ก็จะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สะท้อนความเป็น passive ของกองทุนได้ชัดเจน

รูปที่ 10: ผลการดำเนินงาน TMBGOLDS เทียบกับดัชนี SET และ S&P 500 จะเห็นว่าช่วงที่ไฮไลต์สีแดงๆ เป็นช่วงที่เห็นความสัมพันธ์ที่ตรงข้ามกัน  (ที่มา: Bloomberg)

*ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต*

และเมื่อเทียบผลตอบแทนย้อนหลังกับผลตอบแทนเฉลี่ยในกลุ่มกองทุนทองคำด้วยกัน ก็ถือว่าค่อนข้างสูสีกันเลย ไม่ว่าจะในแง่ของผลตอบแทน หรือ ความเสี่ยง ตามรูปด้านล่างที่เราแคปมาจาก https://www.finnomena.com/fund/tmbgolds/

รูปที่ 11: ผลการดำเนินงานและความเสี่ยงของกองทุน เทียบกับค่าเฉลี่ยในกลุ่ม (ที่มา: FINNOMENA Fund, 11 ม.ค. 2019)

*ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต*

ดูข้อมูลผลการดำเนินงานปัจจุบันได้ ที่นี่

อีกจุดเด่นของ TMBGOLDS คือไม่มีการจ่ายปันผล

ถามว่าการไม่จ่ายปันผลนี่ดีหรือไม่ดียังไง? อันที่จริงหากเราหวังให้การถือทองเป็นการป้องกันความเสี่ยง และสะสมมูลค่าระยะยาวไปในตัว (ซึ่งก็น่าจะเป็นเหตุผลที่เราซื้อทอง) การที่กองทุนไม่จ่ายปันผลเลยถือเป็นเรื่องดีเพราะกำไรที่เราได้ก็จะทบกลับไปลงทุนต่อ ไม่ต้องเสียภาษีจากเงินปันผล หากต้องการได้กระแสเงินสด เราก็คงไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นดีกว่า เพราะมีความมั่นคงสม่ำเสมอในการจ่ายกระแสเงินสดมากกว่า

สรุป

TMBGOLDS เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับใครที่ต้องการสร้างเกราะกำบังให้กับพอร์ตการลงทุนของตัวเอง ในสภาวะตลาดผันผวนและเศรษฐกิจชะลอตัวแบบนี้ การมีสินทรัพย์ที่วิ่งตรงกันข้ามกับทิศทางตลาดถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ และทองคำก็น่าจะเป็นสินทรัพย์ที่ตอบโจทย์ สำหรับใครที่มองหาตัวเลือกการป้องกันพอร์ตในระยะยาว ที่สำคัญคือเราต้องมั่นใจนะว่าเราเข้าใจธรรมชาติของทองคำดีพอ รับมือกับความเสี่ยงและความผันผวนด้านราคาได้ เมื่อนั้นแหละพอร์ตของเราจะได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง

เพิ่มเติม

Jessada Sookdhis
Investment Analyst (IA)
ตรวจทานบทความ

คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต / ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน