ลาก่อนไขมันทรานส์: ธุรกิจไทย พร้อมไหม?

คนรักสุขภาพคงเฮกันไม่ใช่น้อย แต่ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารคงหนาวๆ ร้อนๆ กันไป เมื่อกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศมาตรการแบนไขมันทรานส์ (Trans Fats) ไม่ว่าจะเป็นการผลิต นำเข้า หรือจัดจำหน่าย ในวันที่ 13 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วันข้างหน้า ซึ่งก็คือประมาณเดือน ม.ค. ปีหน้า บอกตามตรงเลยว่าเรารอให้ประเทศไทยออกกฏนี้มานานมาก เพราะไขมันทรานส์นั้นอันตรายต่อสุขภาพสุดๆ ก่อให้เกิดโรคร้ายมากมาย ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคไขมันในเลือดสูง ซึ่งล้วนแล้วแต่น่ากลัวทั้งนั้น แถมผู้บริโภคหลายคนยังไม่รู้อีกว่าไขมันทรานส์นั้นแฝงตัวอยู่ในอาหารทุกๆ วัน เผลอหยิบทานได้ง่ายมาก

ในฝั่งของธุรกิจ ก็มีหลายบริษัททีเดียวที่ข้องเกี่ยวกับไขมันทรานส์ วันนี้จึงอยากชวนมาดูกันว่าธุรกิจไหนบ้างที่คาดว่าอาจจะได้รับผลกระทบจากมาตรการแบนไขมันทรานส์ครั้งนี้? แล้วบริษัทในประเทศไทยจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน?

ธุรกิจที่คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบจากการแบนไขมันทรานส์

1. ธุรกิจฟาสต์ฟู้ด ของทอด ขนมขบเคี้ยว

เนื่องจากธุรกิจนี้มีการใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบหลักในการปรุงอาหาร และเป็นอาหารที่มีไขมันค่อนข้างสูง จึงกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจที่หลายคนให้ความสนใจ ไขมันทรานส์นั้นปรากฏในน้ำมันพืชที่ผ่านกระบวนการเติมสารไฮโดรเจนเป็นบางส่วน ซึ่งสาเหตุที่ธุรกิจของทอดอาจจะเลือกใช้น้ำมันที่มีไขมันทรานส์ก็ด้วยเหตุผลที่ว่ามันสามารถทนต่อความร้อนได้สูง ใช้ได้นาน ซึ่งก็หมายความว่าสามารถลดต้นทุนได้นั่นเอง

2. ธุรกิจเบเกอรี่ ขนมหวาน วัตถุดิบทำขนม

เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะไขมันทรานส์นั้นสามารถปรากฏตัวได้ในเบเกอรี่และขนมหวานแทบจะทุกชนิด เนื่องจากไขมันทรานส์มีคุณสมบัติช่วยให้ขนมมีกลิ่นหอมหวาน เก็บได้นาน ขึ้นรูปขนมได้ง่าย แถมยังราคาถูก หลายๆ ที่จึงใช้สูตรที่มีไขมันทรานส์แทนที่จะใช้วัตถุดิบที่แพงกว่าอย่างเนยแท้หรือครีมแท้

3. ธุรกิจค้าปลีก

นอกจากผู้ผลิตแล้ว ผู้ขายก็อาจโดนผลกระทบด้วยเช่นกัน เพราะต้องเพิ่มความเข้มงวดในการเลือกสินค้าที่จะนำมาขาย จึงต้องคอยประสานงานกับผู้ผลิตสินค้าให้มั่นใจว่าผู้ผลิตได้ดำเนินการขจัดไขมันทรานส์ออกจากสินค้าแล้ว

4. ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร แคเทอริ่ง

เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มีการให้บริการเสิร์ฟอาหาร มาตรการนี้จึงส่งผลกระทบในแง่ของต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น ธุรกิจไหนที่เคยจัดอาหารประเภทที่มีไขมันทรานส์ ก็จะต้องหา Supplier เจ้าอื่นมาแทน กระบวนการนี้จึงอาจส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น ในส่วนของร้านอาหารนี่ก็ต้องรวมร้านกาแฟไปด้วยเช่นกัน เพราะส่วนผสมของกาแฟในบางสูตรก็ยังต้องใช้วัตถุดิบที่มีไขมันทรานส์ อย่างเช่น ครีมเทียมและนมข้นหวาน

แล้วธุรกิจในประเทศไทยได้เตรียมการต่อกรอย่างไรบ้าง?

จากข้อมูลที่แต่ละบริษัทเผยออกมา ส่วนใหญ่แล้วเราจะเห็นว่าบริษัทใหญ่ๆ ไม่ค่อยกังวลกับผลกระทบมากนัก เพราะบริษัทในอุตสาหกรรมนี้ได้รับรู้ข่าวล่วงหน้าแล้ว จึงได้ทำการปรับสูตรไปก่อนหน้านี้แล้ว บางบริษัทก็ไม่เคยใช้ไขมันทรานส์อยู่แล้วจึงไม่กังวล ตัวอย่างเช่น แมคโดนัลด์ เคเอฟซี พิซซ่าฮัท ก็ออกมายืนยันว่าไม่มีการใส่ไขมันทรานส์ในอาหาร โดยแมคโดนัลด์ขยายความว่าตนใช้น้ำมันปาล์มในประเทศที่ไม่มีไขมันทรานส์ ซึ่งจะมีการตรวจสอบคุณภาพอยู่เสมอ ในส่วนของธุรกิจค้าปลีก บริษัทอย่าง เทสโก้​ โลตัส และ บิ๊กซี ก็ได้ออกมายืนยันแล้วว่าทางห้างไม่ได้ขายเบเกอรี่ที่มีไขมันทรานส์ โดยของบิ๊กซีนั้นจะมีทางเบเกอรี่ที่ผลิตเอง รวมถึงเบเกอรี่สำเร็จรูปจากแหล่งอื่น

มาทางฝั่งร้านขนมและร้านกาแฟ ก็จะเห็นว่าหลายบริษัทเริ่มทยอยปรับสูตรกันแล้ว เช่น แบล็ค แคนยอน คริสปี้ ครีม มิสเตอร์ โดนัท ที่กำลังจัดการกำจัดไขมันทรานส์ให้เหลือ 0% ส่วนอาฟเตอร์ ยู ร้านขนมหวานชื่อดัง ก็ออกมายืนยันว่าได้ทำการปรับสูตรเรียบร้อยแล้ว ถึงอย่างนั้น เราก็ได้เห็นว่าช่วงหลังจากประกาศมาตรการ ราคาของหุ้น AU ได้ร่วงลง นอกจาก AU ก็ยังมีหุ้นของบริษัทอื่นๆ ที่ราคาปรับตัวลง เช่น MINT ผู้ดำเนินการ เบร็ดทอร์ก แดรี่ควีน เบอร์เกอร์คิง, PB เจ้าของแบรนด์ฟาร์มเฮ้าส์, WINNER ผู้ผลิต นำเข้า จัดจำหน่ายวัตถุดิบเบเกอรี่, SNP หรือร้านเอสแอนด์พี เป็นต้น ซึ่งหนึ่งสาเหตุของการที่ราคาปรับตัวลงอาจจะมาจากความกังวลต่อมาตรการนี้ที่อาจกระทบกำไรของบริษัท

อีกหนึ่งสาเหตุที่ผู้ผลิตรายใหญ่ไม่โดนผลกระทบมากนักเป็นเพราะบางรายมีการส่งออกหรือนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งต่างประเทศตื่นตัวเรื่องไขมันทรานส์มานานแล้ว สินค้าของผู้ผลิตกลุ่มนี้จึงถูกควบคุมคุณภาพไม่ให้มีไขมันทรานส์ เช่น สาหร่ายเถ้าแก่น้อย ที่ส่งออกสินค้าไปกว่า 50 ประเทศทั่วโลก

แน่นอนว่าการหันไปใช้วัตถุดิบไร้ไขมันทรานส์จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น แต่หลายบริษัทใหญ่ๆ ไม่กังวลหากต้องเพิ่มต้นทุนเพราะสามารถเพิ่มราคา หรือ ลดปริมาณขาย ได้ ภาคส่วนธุรกิจที่น่าเป็นห่วงหน่อยจึงเป็นกลุ่ม SMEs หรือกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก ที่มีจุดขายตรงสินค้าราคาถูก พวกเขายังต้องพึ่งพิงไขมันทรานส์เพื่อลดต้นทุนอยู่ หากขึ้นราคาก็กลัวว่าจะเสียลูกค้า เราจึงต้องลุ้นกันต่อไปว่าธุรกิจขนาดกลาง-เล็กจะสามารถปรับตัวได้เหมือนธุรกิจใหญ่ๆ หรือไม่?

แล้วมีธุรกิจไหนที่ได้ประโยชน์จากมาตรการแบนไขมันทรานส์บ้าง?

ถ้าให้ตอบแบบกำปั้นทุบดินเลยก็คือธุรกิจอาหารที่ปลอดไขมันทรานส์ ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่แปลงรูปแล้ว หรือ อาหารที่มีไขมันจากธรรมชาติ เช่น นม เนยแท้ ครีมแท้ (ที่แม้จะมีไขมันทรานส์ตามธรรมชาติอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าน้อยมาก)  ยิ่งธุรกิจไหนที่ไม่เคยข้องเกี่ยวกับไขมันทรานส์มาก่อน ก็สามารถใช้โอกาสนี้โปรโมตความบริสุทธิ์ของตัวเอง ตอกย้ำให้เห็นถึงจุดแกร่งซึ่งจะทำให้ดูโดดเด่นออกมาจากธุรกิจอื่นๆ ที่ยังต้องดำเนินการขจัดไขมันทรานส์ อีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจะได้รับผลดีเต็มๆ คือธุรกิจอาหารสุขภาพ เพราะไม่มีทางเจอไขมันทรานส์อย่างแน่นอน

นอกจากภาคธุรกิจที่เจออุปสรรคด้านโครงสร้างต้นทุนและความเปลี่ยนแปลงด้านสินค้าบริการแล้ว ผู้บริโภคก็ต้องเตรียมพร้อมเผชิญราคาสินค้าบริการที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งในระยะสั้นก็อาจจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจหากผู้บริโภคยังปรับตัวไม่ทัน แต่ในระยะยาวเมื่อผู้บริโภคและธุรกิจเริ่มปรับตัวได้แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ว่าโครงสร้างธุรกิจหลายๆ ด้านน่าจะกลับมามั่นคงอีกครั้ง

สุดท้ายแล้ว แม้ว่ามาตรการนี้จะส่งให้เกิดความวุ่นวายในการปรับตัวระยะสั้นของหลายๆ ภาคส่วน แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าจุดประสงค์ของมาตรการนี้คือการช่วยให้สุขภาพของคนไทยดีขึ้น ไม่ป่วยเป็นโรคร้ายในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาโรคร้ายต่างๆ ไปได้ ในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่ง เรามองว่ามาตรการนี้เป็นประโยชน์มาก และเชื่อว่าผู้บริโภคหลายคนน่าจะยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อแลกกับสุขภาพที่ดีขึ้นค่ะ

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.posttoday.com/market/news/557780
https://workpointnews.com/
https://www.thairath.co.th/content/1336593
https://pptvhd36.com
https://www.kaohoon.com/content/241033
https://money.kapook.com/view196551.html

ลาก่อนไขมันทรานส์: ธุรกิจไทย พร้อมไหม?