Bootstrap หรืออีกนัยหนึ่งคือการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพด้วยเงินทุนของตัวเองและเงินลงทุนจากคนใกล้ชิด เช่น ครอบครัว ญาติหรือเพื่อนฝูง กำลังเป็นสิ่งที่สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ๆ มองว่า ล้าสมัย เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเสี่ยงควักเงินตัวเองมาทำธุรกิจ ในเมื่อโอกาสในการระดมทุนจากแหล่งเงินทุนต่างๆ รวมถึงจากโครงการบ่มเพาะที่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนนวัตกรรม ยังเป็นทางเลือกที่เกิดขึ้นมากมาย มีหลายโครงการที่เสนอเงินทุนตั้งต้นหรือ Seed Fund ให้กับสตาร์ทอัพ ถ้าไอเดียหรือแนวทางธุรกิจดูดีมีศักยภาพที่จะสามารถสร้างเป็นธุรกิจต่อไปได้
ถึงแม้การระดมทุนจะเป็นทางเลือกที่ดึงดูดใจบนเส้นทางของสตาร์ทอัพที่จะลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ แต่ Pain point ของการระดมทุนสำหรับ Founder ก็ต้องแลกมาด้วยการการสูญเสียอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ เพราะหลายครั้งต้องปรับแนวทางให้สอดคล้องกับเป้าหมายและทิศทางของนักลงทุน
สตาร์ทอัพที่ผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาแล้ว บางคนมองว่าหากธุรกิจสามารถ Bootstrap ได้นานเท่าไรนั่นหมายถึงโอกาสสูงที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เมื่อเทียบกับแนวทางการสร้างธุรกิจแบบที่มีนักลงทุนเข้ามานั่งเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ตั้งแต่ระยะแรกๆ เพราะในที่สุดแล้วเป้าหมายของนักลงทุนคือการเพิ่มมูลค่าบริษัท (Valuation) ในขณะที่จุดมุ่งหมายของ Founder มักจะเริ่มต้นด้วย Passion และความตั้งใจที่จะสร้างนวัตกรรมที่จะสามารถสร้างและเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้
ความไม่ลงรอยในเรื่องของเป้าหมายอาจเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ เช่น Founder อาจมองว่าการขยายธุรกิจควรทำเมื่อ พร้อม ควรทำ Product/Platform ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้แบบแตกต่างและโดดเด่นที่สุดก่อน แต่นักลงทุนอาจมองว่าไม่ทันการณ์เพราะกลไกตลาดและโอกาสไม่สามารถรอได้ นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการมี Agenda ที่แตกต่างกันถึงขั้นทำให้ Founder หลายรายสูญเสีย แรงบันดาลใจ ในการสร้างธุรกิจหลังจากที่ต้องต่อสู้กับเป้าหมายและทิศทางที่ไม่ตรงกันกับนักลงทุน หรือ ที่แย่ที่สุดคือการมีนักลงทุนหลายกลุ่มมาร่วมลงทุนและมีความเห็นที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ต่างคนต่างพยายามที่จะชี้นำธุรกิจไปในทางที่ต้องการ สถานการณ์แบบนี้ในที่สุดจะนำไปสู่ความปั่นป่วนในกลุ่มผู้ถือหุ้น ทำให้ Founder ต้องเสียพลังงานไปกับเรื่องนี้ แทนที่จะมองไปข้างหน้าเพื่อสร้างธุรกิจตามทิศทางที่ตั้งใจไว้ ซึ่งก็ทำให้ Founder หลายรายอาจถึงกับเสียศูนย์
การลดความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ก็คือการทำให้ธุรกิจเดินต่อไปได้โดยใช้เงินทุนจากภายนอกในเรื่องที่สำคัญจริงๆ เช่น การขยายธุรกิจ พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือ ใช้ในสิ่งที่มีนัยสำคัญกับการทำให้ธุรกิจเติบโต ไม่ใช่ระดมทุนเพียงเพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่ได้ บางทีสตาร์ทอัพอาจจะต้องทำความเข้าใจกับคำว่า Bootstrap เสียใหม่ เพราะการที่ธุรกิจอยู่รอดได้ด้วยเงินทุนของตัวเองและมีรายได้หล่อเลี้ยงที่เพียงพอ ไม่เคยเป็นเรื่องที่ตกยุคและขัดกับนิยามของความเป็นสตาร์ทอัพ แต่มันคือเส้นทางของการเป็นผู้ประกอบการตัวจริงที่พร้อมจะดิ้นรนฝ่าฟันเพื่อทำให้ธุรกิจอยู่รอดด้วยการหารายได้เข้ามา ในขณะที่ยังมีความเป็นเอกภาพที่จะสามารถกำหนดเป้าหมายและทิศทางของธุรกิจให้เดินต่อได้แบบที่เคยคิดไว้ ซึ่งในที่สุดแล้วนักลงทุนจะมองเห็นศักยภาพและยินดีที่จะให้เงินลงทุนโดยไม่เข้ามาแทรกแซงกับการกำหนดทิศทางของธุรกิจ
สตาร์ทอัพที่กำลังเดินอยู่บนเส้นทางของการระดมทุนวันนี้ อาจจำเป็นที่จะต้องลองหันไปมองบทเรียนที่เกิดขึ้นจากธุรกิจสตาร์ทอัพในต่างประเทศที่เน้นเรื่องเร่งการเติบโตโดยเน้นการระดมทุนมากกว่าการหารายได้ และล้มเหลวทั้งที่มีเงินทุนมากมายแต่ไปไม่ถึงปลายทาง เหตุการณ์เหล่านี้อาจทำให้เราหันกลับมาประเมินใหม่ว่าในโลกนี้ยังมีที่ว่างให้กับธุรกิจที่ค่อยๆ เติบโตอย่างมีผลกำไรและให้ความสำคัญในการสร้างฐานลูกค้าที่มีคุณภาพ ทำให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ เส้นทางไหนจะเป็นทางที่ดีที่สุดในการไปต่อ?
source : กรุงเทพธุรกิจ
ที่มา : http://daily.bangkokbiznews.com/detail/309839