ในปัจจุบันโลกเรามีการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องโครงสร้างประชากรโดยเฉพาะประเทศพัฒนาที่จัดว่าแล้วเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว สำหรับประเทศไทยนั้น

อย่างที่ทราบกันเราก็ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นกัน โดยในปี 2558 ไทยมีประชากรที่มีสูงกว่า 60 ปีอยู่ที่ 15.9% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 26.5% ในอีก 15 ปีข้างหน้า (ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ซึ่งก็เป็นผลมาจากหลายๆ สาเหตุ ทั้งในเรื่องของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการแพทย์ที่ทำให้คนเราอายุยาวขึ้น ในขณะที่อัตราการเกิดลดลง จากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม วิถีชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนไป เช่น แต่งงานช้า แต่งงานแต่ไม่มีบุตรหรือมีบุตรน้อยลง ทำให้มีขนาดครอบครัวที่เล็กลงกว่าในอดีต ที่ในสมัยเมื่อ 40 ปีก่อนครอบครัวคนไทยมีบุตรเฉลี่ย 4.9 คน แต่ในปัจจุบันลดลงมามีบุตรเหลือเฉลี่ยเพียงประมาณ 1.6 คนต่อครอบครัว

การที่ประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั้น ก็จะมีผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศหลายด้าน เช่น เรื่องของทรัพยากรแรงงานที่ลดลง งบประมาณในด้านสวัสดิการและค่ารักษาพยาบาลที่มากขึ้น เป็นต้น แต่สำหรับประชาชนทั่วไปนั้น ประเด็นที่ควรจะตระหนักคือการเตรียมสำหรับอนาคตในช่วงเลิกทำงานซึ่งอาจจะใกล้หรือไกลขึ้นกับช่วงอายุของแต่บุคคล พูดง่ายๆ คือ จะรักษาระดับคุณภาพชีวิตที่ดีหลังเลิกทำงานประจำได้อย่างไร ซึ่งประเด็นนี้มีคาดการณ์ว่าเราควรต้องมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 70% ของค่าใช้จ่ายต่อเดือนในปัจจุบัน

การรักษาคุณภาพชีวิตเมื่อเลิกทำงานประจำนั้น จำเป็นต้องมีการเตรียมการวางแผนทางการเงินที่ดี (เรื่องง่ายแต่ทำยาก) โดยต้องเริ่มจากการสำรวจตัวเองว่ามีเงินหรือสินทรัพย์อยู่เท่าไร และต้องคิดว่าจะต้องหาเพิ่มหรือเก็บเงินอีกเท่าไรเพื่อให้เราเงินพอที่จะใช้จ่ายเพื่อชีวิตที่มีคุณภาพ ในการสะสมเงินทองเพื่อใช้ในวันหน้าสำหรับมนุษย์เงินเดือนนั้น มีตัวช่วยหลายอย่าง อย่างแรกคงเป็นเรื่องของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเปรียบเสมือนกับการที่คนทำงานเก็บสะสมทุกเดือนและนายจ้างก็สมทบเงินให้เท่ากันทุกเดือน โดยเงินนั้นจะถูกนำไปลงทุนในตราสารหนี้และ/หรือตราสารทุน ตามนโยบายที่กองทุนกำหนด อย่างไรก็ตาม เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อาจไม่เพียงพอสำหรับเป้าหมายทั้งหมดของเรา ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้การออมและลงทุนเพิ่มเติมในหุ้น และกองทุนรวม (กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย) โดยการออมส่วนบุคคลเพิ่มเติมนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ควรเริ่มต้นตั้งแต่อายุน้อย ยิ่งเร็วยิ่งดี

ในการลงทุนระยะยาวนั้น ผู้ลงทุนควรมีการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวมหุ้นบ้างเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้ผลตอบแทนสูงขึ้น โดยมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมากน้อยตามระดับความเสี่ยงที่ตนยอมรับได้ สำหรับเงินลงทุนนั้น ส่วนมากผู้ลงทุนมักเข้าใจว่าต้องใช้เงินมากจึงจะลงทุนในหุ้นหรือกองทุนได้ ในปัจจุบันนี้ การลงทุนระยะยาวในหุ้นและกองทุนรวมไม่ต้องใช้เงินจำนวนมาก ด้วยมีวิธีการทยอยซื้อหุ้นหรือกองทุนแบบสม่ำเสมอทุกเดือนในจำนวนเงินที่เท่ากัน ซึ่งวิธีนี้ช่วยเสริมสร้างวินัยการออมการลงทุนในระยะยาว ไม่ยุ่งยาก และยังใช้เงินลงทุนครั้งละไม่มาก (บางกองทุนขั้นต่ำเพียง 500 บาท ส่วนหุ้นขั้นต่ำอยู่ที่ครั้งละ 100 หุ้นซึ่งสามารถเริ่มลงทุนได้ที่หลักร้อยบาทเช่นกัน) และยังมีโอกาสได้ผลตอบแทนในระยะยาวที่มากกว่าเงินฝาก

เพื่อให้สามารถเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น จึงได้นำข้อมูลของกองทุนรวม ETF ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีวัตถุประสงค์จำลองผลตอบแทนของดัชนี SET50 (ใช้ข้อมูล TDEX) มาจำลองเป็นตัวอย่างคร่าวๆ โดยสมมติว่ามีการทยอยลงทุนในกองทุนดังกล่าวตั้งแต่เริ่มเปิดกองทุน โดยซื้อทุกสิ้นเดือนๆ ละ 1,000 บาท และนำเงินปันผลที่ได้กลับมาลงทุนเพิ่มเติมด้วย ผลลัพธ์คร่าวๆ พบว่าในช่วง 10 ปี (เดือนก.ย.2550-2560) ผู้ลงทุนทยอยลงทุนรวมทั้งสิ้น 120,000 บาท ซึ่งในช่วง 10 ปี ตลาดหุ้นได้ประสบกับความผันผวนมากมาย เช่น ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติการณ์ Subprime, ความผันผวนของราคาน้ำมัน หรือเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมือง เป็นต้น แต่เมื่อพิจารณามูลค่าลงทุน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2017 พบว่าพอร์ตลงทุนยังคงสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีและมีมูลค่าสูงถึง 220,480 บาท หรือสูงกว่าเงินต้นรวมทั้งหมดถึง 83.73%

ในปัจจุบัน การออมด้วยหุ้นหรือกองทุนหุ้นแบบนี้ ทำได้ง่ายและสะดวกด้วยมีช่องทางและผู้ให้บริการจำนวนมาก โดยสามารถกำหนดจำนวนเงินลงทุนให้เหมาะสมกับตนเองได้และตัดบัญชีส่งคำสั่งโดยอัตโนมัติ แต่อย่างที่เกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนแรก เงินลงทุนส่วนนี้เป็นเงินที่ทยอยลงทุนไว้ระยะยาว คงต้องเข้าใจว่าพอร์ตลงทุนจะค่อยๆ เติบโตและอย่าให้ความสำคัญมากนักกับความผันผวนในระยะสั้น

Source : กรุงเทพธุรกิจ

ที่มา : http://daily.bangkokbiznews.com/detail/311035