LTF ภาษี

สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกครั้งกับพรี่หนอม TAXBugnoms เจ้าเก่าที่จะมาเล่าเรื่องภาษีให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆฟังกันอีกครั้งครับ และหัวข้อของบทความในวันนี้เป็นเรื่องต่อจากบทความ ซื้อและขาย LTF ที่ผิดเงื่อนไขต้องทำอย่างไร? แต่ตอนนี้เราจะมาว่ากันต่อไปที่การจัดการ LTF กองที่เราไม่ถูกใจ ซื้อแล้วไม่โดน ซื้อแล้วไม่ใช่ แบบนี้จะทำยังไงต่อไปดีโดยไม่ให้ผิดสิทธิประโยชน์ทางภาษีดีล่ะครับ

ถ้าใครอยากอ่านวิธีการและประสบการณ์การสับเปลี่ยนกองทุนนี้ของผม ผมเขียนเรื่องไว้ในบล็อกภาษีข้างถนน กับบทความที่มีชื่อว่า “สับเปลี่ยนกองทุน LTF และ RMF เพื่อไม่ให้มีปัญหาภาษี (พร้อมวิธีทำ) ครับ

แต่สำหรับบทความตอนนี้เราจะมาว่ากันที่ทฤษฏีและความเข้าใจกันก่อนดีกว่าครับ เอาล่ะครับ มาเริ่มกันเลยดีกว่า

เหตุผลที่เราควรสับเปลี่ยนกองทุน LTF

เนื่องจากการลงทุนเพื่อประหยัดภาษีในกองทุน LTF ถูกจำกัดโดยเงื่อนไขของกฎหมายไว้ว่าห้ามขายก่อนกำหนดนั่นคือ 5 ปีปฏิทิน (และเปลี่ยนเป็น 7 ปี ปฎิทินสำหรับการซื้อตั้งแต่ปี 2559 – 2562)

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ที่ผมได้พูดคุยคลุกคลีกับแฟนเพจหลายๆท่าน บางครั้งการซื้อ LTF ในอดีตของเรานั้น กองทุนบางกองไม่สามารถทำผลงานได้ได้ดีตามที่เราคิดไว้ เราเลยหนีไปซื้อกองใหม่บ้าง หรือบางทีก็ซื้อกองเดิมอยู่นั่นแหละและหวังว่าฟ้าฝนจะเป็นใจให้บลจ.จัดการผลตอบแทนได้ดีขึ้น (ว่าเข้าไปนั่น)

แต่ถ้ารอแล้วไม่ดี เราจะรอกันต่อไปจริงๆกันเหรอครับพี่น้องครับ ไม่นะ แบบนี้เรามาสับเปลี่ยนกองทุนกันดีกว่า วะฮะฮ่าาาาาา โดยใช้วิธีการดังต่อไปนี้ครับ

  1. เลือกกองทุนใหม่ที่เราจะสับเปลี่ยนไป
  2. เตรียมเอกสารในการสับเปลี่ยนให้พร้อม (ทั้งต้นทางและปลายทาง)
  3. เดินไปหา บลจ. กองทุนต้นทาง ประกาศว่าจะสับเปลี่ยนกองทุน (ต้องซื้อกองทุนปลายทางก่อนด้วยนะครับ เพื่อที่จะได้มีข้อมูลในการโอนย้ายไป)
  4. รอ 5-7 วัน กองทุนใหม่นั้นจะเข้ามา กองทุนเก่าจะหายไป
  5. เก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้ดี จะได้ไม่มีปัญหาภายหลัง

เห็นไหมครับว่าขั้นตอนต่างๆนั้นไม่ยาก แต่จากประสบการณ์ของผม อยากจะแนะนำเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ครับ

  • สำหรับขั้นตอนเลือก “กองทุนใหม่” นั้น ขอให้เลือกกองทุนที่เราคิดว่าเข้าใจในการลงทุน และยอมรับความเสี่ยงในการลงทุนได้ก่อน เพื่อที่จะไม่ต้องมีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นในภายหลัง (อยากเน้นว่าให้ตรวจสอบเป้าหมายในการลงทุนให้ดีด้วยนะครับ)
  • ตรวจสอบนโยบายและวิธีการสับเปลี่ยนกองทุนของแต่ละบลจ.ให้เรียบร้อย โดยสิ่งที่ต้องเตรียมนั้นมีดังนี้ครับ
    1. เอกสาร บางบลจ.ต้องการใบสับเปลี่ยนกองทุนของทางกองทุนต้นทาง (บลจ.เดิม) และกองทุนปลายทาง (บลจ.ใหม่) รวมถึงเอกสารสำเนาบัตรประชาชน ซึ่งเราต้องตรวจสอบให้ดีว่าแต่ละแห่งต้องการอะไรแน่ๆครับ แต่ผมแนะนำให้เตรียมไปให้ครบไว้ล่วงหน้าเลยครับเพราะแม้แต่บลจ.เดียวกันนั้นอาจจะต้องการเอกสารไม่เหมือนกันตามแต่ละสาขา (แป่ววว)
    2. การเจรจากับพนักงาน สิ่งหนึ่งที่เราต้องมีนอกจากเอกสารพร้อมแล้ว คือ ข้อมูลต้องเป๊ะ รู้ว่ากองทุนเรานั้นไปลงทุนอะไร สาเหตุในการสับเปลี่ยน เพราะต้องยอมรับว่าแต่ละบลจ. รวมถึงพนักงานแต่ละสาขาของทางธนาคาร บางสาขาก็ทราบเรื่องดีมาก บางสาขาก็ไม่ทราบเลยว่าต้องทำยังไง บางสาขาก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล ดังนั้นภาระเลยตกเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคระดับเทพอย่างเรา คือ เตรียมข้อมูลทั้งหมดไปให้พร้อมด้วยครับ
    3. ค่าธรรมเนียม ตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการสับเปลี่ยนกองทุนที่แตกต่างในกันแต่ละ บลจ. บางทีคิดค่าสับเปลี่ยนเป็นค่าธรรมเนียม บางแห่งคิดเป็น % ของ NAV บางแห่งคิดหมดทุกอย่าง ตังนั้นเตรียมค่าใช้จ่ายต่างๆไปให้พร้อมด้วยครับ อาจจะต้องมีการชำระเงินเพิ่มในบางที่

แต่มีอีกกรณีหนึ่งที่จะจัดการได้ง่ายขึ้นครับ นั่นคือ ถ้าเราไม่ได้ซื้อกองทุนผ่านทาง บลจ.โดยตรง แต่ไปซื้อผ่านตัวแทนนายหน้า (Broker) ต่างๆที่สามารถซื้อขายกองทุนได้หลากหลาย บลจ. (Fund Supermart) เพราะทาง Broker เองจะเป็นผู้จัดการเอกสารให้เราหมดทุกอย่าง เพียงแค่เราแจ้งว่าจะสับเปลี่ยนกองทุน คุณก็จะได้พบกับพี่ Messenger (ไม่ใช่พี่แบงค์ Mr.Messenger นะครับ) ขับมอไซด์มารับเอกสารของเราถึงที่ แล้วก็รออัพเดทผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์เลยครับ

อ่า… หรือไม่ก็มีวิธีอีกทางหนึ่งคือ เราต้องเป็นคนรักและภักดีกับ บลจ.แห่งใดแห่งหนึ่งเพียงที่เดียว โยกย้ายกองทุนทั้งหมดไปลงทุนใน บลจ.นั้นๆ แม้ว่าผลตอบแทนบางกองอาจจะทำให้เราฝันร้าย แต่ก็เพื่อความสบายใจการสับเปลี่ยนกองทุนที่ง่ายกับชีวิต แถมอาจจะได้รับสิทธิประโยชน์ในกรณีที่เงินลงทุนเยอะๆ หลักหลายล้านครับผม

สุดท้ายสรุปให้ฟังอีกครั้งนะครับว่า หากซื้อกองทุน LTF ไหนแล้วไม่พอใจในผลตอบแทน เราสามารถเลือกทำได้ 2 วิธี นั่นคือ เปลี่ยนไปซื้อกองทุนใหม่ หรือ สับเปลี่ยนกองทุน เพื่อไม่ให้มีปัญหาทางภาษีครับ และถ้าหากใครมีปัญหาเรื่องการสับเปลี่ยนกองทุน หรือสงสัยในเงื่อนไขเกี่ยวกับเรื่องนี้ ลองสอบถามเพิ่มเติมมาที่แฟนเพจ TAXBugnoms หรือแอดเฟรนด์ Line Official Account https://line.me/R/ti/p/%40TAXBugnoms  ได้นะครับ ยินดีช่วยเหลือตอบทุกคำถามคร้าบบ

แล้วพบกันในบทความตอนต่อไปนะครับ ตอนหน้าเราจะมาพูดถึงเรื่องของ RMF กันบ้างแล้วล่ะครับ วันนี้ขอลาไปก่อน สวัสดีครับ


พิเศษ!! ฟินโนมินา ขอแนะนำ “NTER RL” ปัจจุบันท่านสามารถซื้อ LTF/RMF ผ่านทาง NTER ได้แล้วฟรี!! โดยคลิ๊ก ที่นี่ หรือคลิ๊กที่รูปด้านล่างได้เลย

banner-rl

ติดตาม สภาวะการลงทุนและรับบริการ NTER Alert ได้ที่ Add line ID = @nter หรือ คลิ๊ก ที่นี่ ด้วยมือถือ หรือ เพื่อความกระจ่างในการใช้งาน อ่านต่อได้เลยที่ ทำไมใครๆ ก็ใช้ NTER ซื้อกองทุน RMF LTF?