สรุปเหตุการณ์การล่มสลายของอาณาจักร FTX และ Sam Bankman-Fried

ช่วง 12 วันแรกของเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา อาจเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดสำหรับ “แซม แบงค์แมน-ฟรีด์” (Sam Bankman-Fried) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า SBF ผู้ก่อตั้ง และ อดีตซีอีโอของ FTX ซึ่งเป็นอดีตแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอันดับ 2 ของโลก โดยเขาไม่เพียงแต่สูญเสียอาณาจักรคริปโต แต่ยังถูกเปลี่ยนสถานะจากมหาเศรษฐี Bitcoin (BTC) และ อัศวินม้าขาวแห่งโลกคริปโต กลายเป็นผู้ล้มละลาย และ มีเงินค้างชำระลูกหนี้อีกอย่างน้อย 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 107,000 ล้านบาท

ในอีก 8 วันต่อมา มีการเปิดเผยว่า หนึ่งใน Exchange ที่เคยทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกคริปโต นั้นไม่ได้เป็นอย่างที่ใครหลายคนคิด ซึ่งแอดมินได้รวบรวมไทม์ไลน์เหตุการณ์สำคัญอันนำไปสู่การล่มสลายของ FTX ไว้ให้แล้ว!

จุดเริ่มต้นของจุดจบ

2 พฤศจิกายน 2022: ปัญหาเริ่มต้นมาจากสื่อคริปโตอย่าง CoinDesk ได้ตีพิมพ์รายงานซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอย่างหนักในเวลานั้น แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดงบดุลของบริษัท Alameda Research ที่เรียกได้ว่า “เข้าขั้นวิกฤต” โดยรายละเอียดระบุว่า Alameda Research ได้ถือ FTT ซึ่งเป็น Native Token ของแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล FTX ไว้มากถึง 70% ของอุปทานทั้งหมด และ 174% ของอุปทานหมุนเวียน

นักลงทุนเกิดความกังวลกันอย่างมาก เมื่อ CoinDesk รายงานว่า Alameda Reseach และ FTX นั้นก่อตั้งโดยชายคนเดียวกัน คือ “แซม แบงค์แมน-ฟรีด์” หรือ SBF

การต่อสู้ของ 2 ยักษ์ใหญ่ในโลกคริปโต

6 พฤศจิกายน 2022: แคโรไลน์ เอลลิสัน (Caroline Ellison) ซีอีโอของ Alameda Research ออกมาปฏิเสธความกังวลเกี่ยวกับงบดุลของบริษัท ว่าเป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น โดย ‘เอลลิสัน’ ระบุว่าบริษัทมีสินทรัพย์มูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท อยู่ในงบดุลซึ่งไม่ได้รับผลกระทบ

ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา คู่แข่งคนสำคัญของ FTX อย่าง Binance ได้ออกมาประกาศว่า “Binance มีแผนจะทำการเทขาย FTT ที่ถือไว้ทั้งหมด” โดยจะให้เกิดผลกระทบกับตลาดน้อยที่สุด ทั้งนี้ Binance ได้รับโทเคนดังกล่าวมาจากการลงทุนใน FTX เมื่อปี 2021

ชางเพ็ง เจา (Changpeng Zhao) หรือ CZ กล่าวว่าการตัดสินใจเทขายโทเคนดังกล่าวมีเหตุผลจาก “ความจริงได้ถูกเปิดเผย” ต่อมา CZ ได้ทวีตข้อความว่า บริษัทของเขาไม่สนับสนุน “ใครก็ตามที่ล็อบบี้ผู้เล่นอื่นในอุตสาหกรรม อย่างลับหลัง” แม้จะไม่มีการเอ่ยชื่อ FTX โดยตรง แต่ผู้ติดตามข่าวทราบดีว่าทวีตนี้ CZ หมายถึงใคร

‘เอลลิสัน’ รีบทวีตโต้ตอบ CZ อย่างฉับไว โดยเสนอการซื้อคืน FTT ที่เหรียญละ 22 ดอลลาร์สหรัฐ (784 บาท) หาก CZ ต้องการขาย FTT โดยไม่ส่งผลกระทบต่อตลาด

FTX สบายดี, สินทรัพย์ก็ยังสบายดี : SBF กล่าว

7 พฤศจิกายน 2022: SBF สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า โดยทวีตข้อความระบุว่า FTX และ สินทรัพย์บนแพลตฟอร์มนั้นยังสบายดี บริษัทของเขามีเงินสดส่วนเกินมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท) นอกจากนี้ SBF ยังกล่าวในทวีต (ซึ่งถูกลบไปแล้ว) ว่า คู่แข่งของเขากำลังไล่จับ FTX ด้วย “ข่าวลืออันเป็นเท็จ”

CZ ปฏิเสธข้อเสนอของเอลลิสันที่จะซื้อคืน FTT จาก Binance โดยให้เหตุผลว่า “บริษัทของเขาขออยู่ในตลาดเสรีดีกว่า” ส่งผลให้ราคา FTT ร่วงลงกว่า 80% จากการเทขายของนักลงทุนในตลาด

FTX ระงับการถอน, Binance เสนอเงินช่วยเหลือ 

8 พฤศจิกายน 2022: ไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจาก SBF ทวีตข้อความว่าสินทรัพย์ยังอยู่ดี ก็มีรายงานยืนยันว่า FTX ได้ระงับไม่ให้ผู้ใช้สามารถถอนเงินออกจาก Exchange ได้ นี่เป็นสัญญาณแรกที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน ว่า FTX กำลังเดินทางสู่บท “ล่มสลาย”

ใน 2-3 ชั่วโมงต่อมา CZ ได้ทวีตข้อความ ว่าเขาได้เซ็นข้อตกลงที่ไม่มีผลผูกพันในการเข้าซื้อ FTX หลังจาก SBF ร้องขอความช่วยเหลือ

Binance กลับลำ, การล่มสลายมาเยือน

9 พฤศจิกายน 2022: ในขณะที่ผู้คนมากมายคาดหวังว่าการประกาศครั้งต่อไปของ CZ จะเป็นประกาศเข้าซื้อกิจการอย่างเรียบร้อย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ Binance ยกเลิกดีลเข้าซื้อ FTX โดยให้เหตุผลว่า ปัญหาของ FTX นั้นอยู่เหนือการควบคุม และ ความสามารถของ Binance ที่จะเข้าไปช่วยเหลือ

ข่าวนี้ได้ส่งผลให้ Bitcoin (BTC) ร่วงลงไปแตะช่วงราคา 16,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 570,000 บาท เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2020 ทำให้ SBF สูญเสียมูลค่าสินทรัพย์สุทธิกว่า 95% เช่นเดียวกับสถานะ “เศรษฐีพันล้าน” ของเขา

ไม่กี่ชั่วโมงถัดมา อุตสาหกรรมคริปโตได้พบกับปฏิกิริยาลูกโซ่จากเหตุการณ์ FTX เช่น Solana (SOL) ซึ่ง FTX และ Alameda Research เป็นลงทุนคนสำคัญในอีโคซิสเต็ม หรือ การที่ Exchange คริปโตบางแพลตฟอร์มทำการระงับการถอน จากปัญหาเรื่องเงินสำรองเมื่อมีผู้ใช้ถอนเงินออกจาก Exchange เป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน ทีมกฎหมายของ FTX รายงานว่า พวกเขาได้ทำการลาออกจากบริษัทก่อนที่ Binance จะยกเลิกดีลเข้าซื้อ

SBF กล่าวขอโทษ พร้อมตามหานักลงทุน

10 พฤศจิกายน 2022: เมื่อไม่มีความช่วยเหลือจาก Binance แล้ว SBF ก็พยายามทุกวิถีทางที่จะรั้ง FTX ไม่ให้ล้มลง โดยการร้องขอคู่แข่งต่าง ๆ ทั้ง OKX และ ผู้ก่อตั้ง TRON อย่าง จัสติน ซุน (Justin Sun)

ทั้งนี้ SBF ได้ทวีตข้อความกล่าวขอโทษลูกค้า เขายอมรับในความผิดพลาดบางอย่าง รวมไปถึงการคำนวณวิเคราะห์สภาพคล่อง ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของบริษัท

เขาได้ให้สัญญากับลูกค้า FTX ทั้งหมด ว่าเขาจะทำทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับบริษัท อย่างไรก็ตาม เขาไม่รับปากว่าจะทำเรื่องนี้สำเร็จ โดยต่อมาเขาเปิดเผยว่า Alameda Research จะหยุดทำการเทรดเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในแผนการช่วยเหลือ FTX

SBF ลาออก และ ยื่นล้มละลาย

11 พฤศจิกายน 2022: SBF ไม่สามารถตามหานักลงทุนที่จะมาช่วยเหลืออาณาจักรของเขาได้ ดังนั้น การเคลื่อนไหวครั้งสุดท้ายของเขาคือการลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของ FTX หลังจากยื่นเอกสาร “บทที่ 11 ของประมวลกฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกา” สำหรับ FTX, FTX US, Alameda Research และ บริษัทที่ประกอบกิจการร่วมกันอีกว่า 130 แห่ง

วันต่อมา BlockFi แพลตฟอร์มให้กู้ยืมคริปโตได้ระงับการถอน โดยอ้างถึงวิกฤตสภาพคล่องของ FTX

1.7 หมื่นล้านบาทหายไป หน่วยงานกำกับดูแลออกโรง

12 พฤศจิกายน 2022: ไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจาก FTX ยื่นล้มละลาย สินทรัพย์มูลค่ากว่า 477 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท ถูกถอนออกจาก Exchange และ จากบัญชีซึ่งเป็นของ FTX US มีการคาดเดาอย่างมากมายว่าการถอนเงินออกในครั้งนี้ มาจากบริษัทพยายามขโมยเงินทุนที่ยังหลงเหลืออยู่

อย่างไรก็ตาม มีรายงานตามมาภายหลัง ว่าการถอนเงินขนาดใหญ่ในครั้งนี้ มาจากการที่ กลต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ของบาฮามาสสั่งยึดสินทรัพย์ทั้งหมดของ FTX

12 พฤศจิกายน 2022 หลังแพลตฟอร์มคริปโทฯ FTX ประกาศล้มละลายไม่นาน มีข้อมูลออกมาว่า แซม แบงก์แมน-ฟรายด์ (Sam Bankman-Fried) ผู้ก่อตั้ง FTX ได้แอบโอนเงินลูกค้ากว่า 10,000 ล้านเหรียญ (ราว 360,000 ล้านบาท) ไปยังบริษัท Alameda Research โดยเงินกว่า 1,000 ล้านเหรียญในนั้น (ราว 36,000 ล้านบาท) ได้หายไปอย่างไร้ร่องรอย

ความเจ็บปวดแพร่ไปทั่วทุกมุม

13 พฤศจิกายน 2022: มีข่าวรายงานว่า วิกฤต FTX ในครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักกับพนักงานของบริษัท โดยจากข้อมูลระบุว่า พนักงานของ FTX นั้นได้รับการผลักดันให้ลงทุน และ รับโบนัสเป็นหุ้น FTX หรือ โทเคน FTT นอกจากนี้ สินทรัพย์ต่าง ๆ ของพนักงานก็อยู่บนแพลตฟอร์ม เมื่อบริษัทล้มลง พวกเขาก็ไม่สามารถเข้าถึงสินทรัพย์ได้

14 พฤศจิกายน 2022: ธุรกิจคริปโตเริ่มได้รับผลกระจบจากปัญหาสภาพคล่องของ FTX เช่น โบรกเกอร์คริปโตเจ้าใหญ่อย่าง Genesis Global Trading ได้ระงับการถอนในระบบยืมเงิน โดยอ้างว่า “เป็นการขอถอนเงินที่ผิดปกติ”

หลังจากนั้นไม่นาน Gemini แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโต ก็ได้ประกาศระงับการถอนเงินจากโปรแกรม Earn โดย Gemini และ Genesis เป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจกัน สำหรับผลิตภัณฑ์ให้กู้ยืมเงิน

ฉ้อโกงอย่างจริงจัง และ บริหารเงินลูกค้าในทางที่ผิด

16 พฤศจิกายน 2022: บริษัท FTX Digital Markets จำกัด ได้ยื่นเอกสาร “บทที่ 15 ของประมวลกฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกา” (เอกสารยื่นล้มละลายสําหรับกิจการที่มีธุรกิจข้ามประเทศ)

17  พฤศจิกายน 2022: ผู้ชำระบัญชีซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากศาล อ้างถึง FTX ว่าเป็น “การฉ้อโกงอย่างจริงจัง และ การบริหารเงินลูกค้าในทางที่ผิด” ในเอกสารยื่นล้มละลาย

เมื่อตรวจสอบการล้มละลายลึกลงไปยิ่งค้นพบข้อมูลที่น่าตกใจเกี่ยวกับ FTX ไม่ว่าจะเป็น การนำเงินฝากลูกค้าไปใช้ในทางที่ผิด อนุมัติงบประมาณด้วยอีโมจิผ่านการส่งข้อความที่จะหายไป (Disappearing Chat) และ ผู้บริหารระดับสูงนำเงินลูกค้าไปซื้อสินทรัพย์ให้ตนเองอย่างฟุ่มเฟือย

20 พฤศจิกายน 2022: FTX เปิดเผยว่า บริษัทมีเจ้าหนี้มากกว่า 50 แห่ง ด้วยจำนวนเงินมากกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 107,000 ล้านบาท

TechToro

Ref


คำเตือน

การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุนผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูลรวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้