ในช่วงปีที่ผ่านมามีกระแสข่าว FUD (Fear, Uncertainly, and Doubt) หรือความกลัว, ความไม่แน่นอน และความสงสัย มากมายในตลาดคริปโต อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ล้มละลายของ FTX อดีตแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันดับ 2 ของโลก ซึ่งได้ส่งผลกระทบแบบโดมิโน (Domino Effect) ไปยังหลากหลายธุรกิจในอุตสาหกรรมคริปโต รวมไปถึง Exchange อันดับ 1 ของโลกอย่าง “Binance”

วันนี้แอดมินจะพาย้อนเวลาไปดูเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งอาจช่วยให้เราเห็นภาพอะไรบางอย่าง เกี่ยวกับกรณีการล่มสลายของอดีต Exchange อันดับ 1 ในวงการคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมี Volume ซื้อขาย Bitcoin (BTC) สูงถึง 80% ของ Exchange ทั้งหมด ไปดูกันเลยกับ “ถ้า Binance ล่ม คริปโตจะจบไหม? ย้อนรอย Mt. Gox เหตุการณ์ล่มสลายของอดีต Exchange อันดับ 1”

Mt. Gox คืออะไร

Mt. Gox เป็น Exchange สำหรับซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลของโตเกียว ดำเนินการในระหว่างปี 2010-2014 ก่อตั้งโดย “เจด แมคคาเลบ” (Jed McCaleb) ซึ่งเขาได้ขายบริษัทให้กับ “มาร์ก คาร์เปเลส” (Mark Karpelès) ในเดือนมีนาคม ปี 2011 และยังคงถือหุ้นบางส่วน

ย้อนกลับไปในปี 2007 “เจด แมคคาเลบ” เป็นโปรแกรมเมอร์ที่ต้องการสร้างตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนการ์ดเกม Magic: The Gathering ซึ่งเป็นที่นิยมมากในขณะนั้น เขาได้ใช้ชื่อเว็บไซต์ว่า Mtgox.com ซึ่งเป็นตัวย่อของคำว่า Magic: The Gathering Online eXchange 

ทั้งนี้ เมื่อเปิดตัวได้ 3 เดือน “แมคคาเลบ” ก็เริ่มสนใจจะทำโปรเจกต์อื่นมากกว่า จึงเลิกพัฒนา Mt. Gox ต่อ และในปี 2009 เขายังใช้เว็บไซต์นี้ในการเปิดตัวการ์ดเกม The Far Wilds ซึ่งเขาเป็นคนคิดค้นขึ้นมาเอง

เส้นทางสู่คริปโต Exchange

ต่อมาในปี 2010 เขาได้รู้จักกับชุมชน Bitcoin (BTC) ผ่านบอร์ดออนไลน์แห่งหนึ่ง และได้รับรู้ว่าการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีในช่วงนั้น มีระบบที่ไม่ค่อยดีนัก เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยน Mt. Gox ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี

แต่การพัฒนาธุรกิจให้มีศักยภาพ ต้องใช้แรงกาย และเวลาอย่างมาก “แมคคาเลบ” จึงตัดสินใจส่งมอบธุรกิจให้กับคนอื่นที่พร้อมกว่า โดยผู้ที่มาสานต่อภารกิจในครั้งนี้ คือ “มาร์ก คาร์เปเลส” โปรแกรมเมอร์ผู้คลั่งไคล้ Bitcoin (BTC) ซึ่งอาศัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยทั้งสองทำข้อตกลงเพิ่มว่า แมคคาเลบจะยังคงได้รับส่วนแบ่ง 12% จากรายได้ตลอดไป

ขึ้นแท่นสู่ Exchange อันดับ 1

หลังจากตกลงกันเรียบร้อยแล้ว คาร์เปเลสได้เริ่มเขียนซอฟต์แวร์เสริมให้กับเว็บไซต์ในทันที และเปิดให้ใช้บริการในฐานะคริปโต Exchange อย่างเป็นทางการ ในปี 2010

อย่างไรก็ตาม “ที่ไหนมีเงิน ที่นั่นมีโจร” Mt. Gox ถูกแฮกเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ปี 2011 ส่งผลให้เว็บไซต์ต้องออฟไลน์เป็นเวลาหลายวัน แต่ในเวลาต่อมาได้มี 2 โปรแกรมเมอร์ระดับมืออาชีพจากชุมชน Bitcoin (BTC) อย่าง เจสซี พาเวลล์ (Jesse Powell) ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของ Kraken Exchange และโรเจอร์ เวอร์ (Roger Ver) อาสาเข้ามาช่วยเหลือจึงทำให้ Mt. Gox สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง

ในช่วงเวลานั้น โดยปกติแล้ว Exchange ที่ถูกแฮกมักจะปิดตัวลงอย่างถาวร แต่ Mt. Gox ได้ทำสิ่งที่ต่างออกไป ทำให้ได้รับความชื่นชอบจากชุมชน Bitcoin (BTC) และความเชื่อถือจากบริษัทต่าง ๆ จนกระทั่งในปี 2013 บริษัทได้ขึ้นแท่นเป็น Exchange อันดับ 1 ของวงการคริปโตเคอร์เรนซี ด้วยปริมาณการซื้อขายสูงที่สุดในโลก ถึง 80% ของธุรกรรมคริปโตทั้งหมด

เดินหน้าสู่การล่มสลาย

“คาร์เปเลส” ถูกตั้งคำถามในด้านการบริหารมากมายจากพนักงานภายในบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการนิ่งเฉยเมื่อตอนที่ถูกแฮกเป็นครั้งแรก ชนิดที่ว่าเขายังประกาศหยุดงานทั้ง ๆ ที่ปัญหายังแก้ไขไม่เสร็จ หรือการไม่สนใจลงทุนในซอฟต์แวร์ และปล่อยให้นักพัฒนาต้องเขียนโค้ดขึ้นมาใช้เอง

นอกจากนี้ คาร์เปเลสยังรวบอำนาจเบ็ดเสร็จไว้กับตนเอง ส่งผลให้การจะทำอะไรสักอย่างต้องใช้เวลา และยุ่งยากมากขึ้น เช่น เขาเป็นคนเดียวที่สามารถอนุมัติการเปลี่ยนแปลงโค้ดของเว็บไซต์ได้ หมายความว่าหากเว็บไซต์เกิดปัญหาขึ้นมา จะต้องรออนุมัติจากเขาก่อนจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้

และสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นมากที่สุด คือ หลายครั้งที่ระบบ Exchange มีการอัปเดต ทางบริษัทไม่มีการทดสอบระบบ แต่กลับปล่อยให้ใช้บริการโดยทันทีโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย หรือความเสียหายของลูกค้า

ปัญหาด้านการบริหารหลายอย่างของ Mt. Gox ได้สะสมเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2014 ทาง Mt. Gox ได้ประกาศระงับการถอน Bitcoin (BTC) ทั้งหมด แต่ไม่ได้ระงับการซื้อขายบนกระดานเทรด โดยให้เหตุผลว่ามีปัญหาทางเทคนิค

ผ่านไป 2 สัปดาห์หลังจากการประกาศระงับการถอน Mt. Gox ยังคงไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ และไม่อนุญาตให้ผู้ใช้งานถอนเงินออกไปได้ จนทำให้เกิดการประท้วงอย่างหนักที่หน้าอาคารบริษัท ส่งผลให้ Mt. Gox สำนักงานไปอยู่ที่อื่น โดยอ้างเหตุผลความปลอดภัยของบริษัท

ในเวลาเพียงไม่นาน สิ่งที่นักลงทุนคริปโตในขณะนั้นกลัวที่สุดก็ได้เกิดขึ้น โดย Mt. Gox ระงับการซื้อขายทั้งหมดบนกระดานเทรด ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เว็บไซต์ของ Mt. Gox ก็ได้กลายเป็นเพียงหน้าว่างเปล่า และมีข่าวการยื่นล้มละลายของบริษัทในเวลาต่อมา ปล่อยให้นักลงทุนลอยเคว้งกับคำถามว่า “เงินของพวกเราหายไปไหน”

ถูกแฮกมาตลอดหลายปี

ภายหลังจากเหตุการณ์ล้มละลายของ Mt. Gox ก็ได้มีข้อมูลเผยแพร่ออกมาว่า สาเหตุที่ Mt. Gox ต้องปิดระงับการถอน และยื่นล้มละลายไปในที่สุด มาจากการที่บริษัทถูกแฮกเกอร์ขโมย Bitcoin (BTC) มาตลอดหลายปี แต่บริษัทกลับเลือกที่จะปกปิดปัญหาดังกล่าว และไม่มีการดำเนินการแก้ไขใด ๆ โดยจำนวน Bitcoin (BTC) ที่ถูกขโมยไปทั้งหมดคิดเป็นจำนวนกว่า 650,000 BTC

เหตุการณ์ในครั้งนี้ถูกตีเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 430 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 15,000 ล้านบาท) ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในโลกคริปโต 

บทความโดย คุณานันต์ TechToro

Ref:


คำเตือน

การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุนผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูลรวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้