แจ้งเตือน

FINNOMENA REVIEW

เลือกที่จะดอยต่อไป หรือออกมาคว้าโอกาสให้พอร์ตลงทุน

ด้วย UGIS-N

Created by:

Weerapon bangwak (crisisman)

Key Highlights

Introduction

ในชีวิตการเป็นนักลงทุนต้องพบเจอกับตลาดขาขึ้นและขาลง แน่นอนครับถ้าเป็นตลาดขาขึ้น การเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นย่อมสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจ แต่หากพบเจอกับตลาดในช่วงขาลง ตลาดหุ้นย่อมสร้างผลตอบแทนที่ไม่น่าดูสักเท่าไร อย่างไรก็ตาม ในช่วงตลาดขาลงย่อมมีสินทรัพย์หรือตลาดที่สามารถสร้างผลตอบแทนเป็นบวกอยู่

แต่...ก่อนอื่นขอเริ่มต้นด้วยภาพรวมเศรษฐกิจก่อนครับ!

S&P 500, Nasdaq, STOXX600, CSI300, Nikkei225, SET 

นี่คือรายนามตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวลงมาจากจุดสูงสุด 10-20% ไล่ตั้งแต่สหรัฐฯ ยุโรป จีน ไปจนถึงญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งไทยเองก็ตาม

รูปที่ 1 : ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลงอย่างหนักในปีที่ผ่านมา | ที่มา : Bloomberg

จากรายนามตลาดหุ้นข้างต้น ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าตลาดหุ้นได้ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดของรอบวัฏจักรเศรษฐกิจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหตุผลหลัก คือตลาดเกิดความกลัวว่าเศรษฐกิจที่ขยายตัวมาตลอดทศวรรษจะเริ่มเข้าสู่ช่วงชะลอตัว ด้วยสาเหตุจากทั้งรอบวัฎจักรเศรษฐกิจ รวมไปถึงปัจจัยด้านสงครามการค้า และความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป นอกจากนี้ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจหลายตัวก็เริ่มส่งสัญญาณตอบรับเช่นเดียวกัน อาทิเช่น ตัวเลข GDP เริ่มขยายตัวน้อยลง บางประเทศถึงกับหดตัวแล้ว ส่วนตัวเลขที่เป็นสัญญาณบ่งบอกสภาพเศรษฐกิจโลกในอนาคตอย่าง Global PMI ก็ปรับตัวลงมาโดยตลอดทั้งปี 2018

รูปที่ 2 : Global PMI | ที่มา : Bloomberg

แต่ระหว่างที่ตลาดหุ้นเป็นขาลงจะต้องมีสินทรัพย์บางประเภทที่สามารถสร้างผลตอบแทนเป็นบวกได้ ยกตัวอย่างเช่น กองทุนตราสารหนี้ กองทุนทองคำ และกองทุนอสังหาฯ

ดังนั้นวันนี้ผมขอนำท่านทั้งหลายมารู้จักกับกองทุนตราสารหนี้ที่ชื่อว่า UGIS-N กันครับ แต่ก่อนอื่นผมต้องขอพาไปสำรวจภาวะตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกพอสังเขปกันก่อนครับ

แน่นอนครับ…ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กองทุนตราสารหนี้หลายกองอาจสร้างผลงานได้ไม่ประทับใจใครหลายท่าน เหตุผลมันเริ่มจากตรงนี้ครับ…

รูปที่ 3 : ขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED Balance Sheet) | ที่มา : Fed St.Louis

หลายปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะกระทิงอย่างเต็มตัว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับเกือบ 0% ในบางประเทศก็ถึงขั้นติดลบ นักลงทุนในตลาดจึงพากันเข้าลงทุนในตลาดหุ้น ส่งผลให้ตราสารหนี้มีแนวโน้มปรับตัวลงมาโดยตลอด ประกอบกับในระยะหลังนักลงทุนกังวลว่า FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จีงเป็นปัจจัยเสริมในเชิงลบต่อตลาดตราสารหนี้…นี่แหละครับสาเหตุ

แต่ๆ...แล้วทำไมถึงยังพามารู้จักกับกองทุนตราสารหนี้?

ก็เพราะปัจจัยในเชิงลบข้างตันได้เปลี่ยนไปแล้ว นับตั้งแต่…

…ช่วงปลายปีที่ผ่านมา นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ออกมาส่งสัญญาณว่าการขึ้นดอกเบี้ยใกล้ถึงจุดสูงสุด โดย ณ เวลานี้ Bond Yield ทั้งพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ภาคเอกชนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจากความกังวลข้างต้นพอสมควรแล้ว ทำให้ระดับอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจากการถือครองตราสารหนี้กลับมาน่าสนใจอีกครั้ง นอกจากนี้ด้วยลักษณะของตราสารหนี้เอง ราคาจะปรับขึ้นในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นสิ้นหวังและร่วง หรือที่มักเรียกติดปากกันว่า Risk-Off Mode ทำให้การเข้าลงทุนในช่วงเวลาดังกล่าวมีโอกาสทั้งดอกเบี้ยรับที่สูง และโอกาสรับกำไรจาก capital gain เมื่อระดับ Yield curve ปรับตัวลดลง (กลไกของตราสารหนี้ คือราคาขึ้น Yield ลง)…

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด ค่อนข้างชัดเจนมากแล้วว่าเวลาของตราสารหนี้ได้กลับมาอีกครั้ง

รูปที่ 4 : US. Bond Yield 10ปี (เส้นสีขาว) และอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ (เส้นสีเหลือง) | ที่มา : Bloomberg

แต่ๆ...ทำไมต้อง UGIS-N ล่ะครับ?

อย่าเพิ่งเชื่อผมครับ ตามมาดูกันต่ออีกสักนิดถึงสาเหตุที่ต้องเป็น UGIS-N

กองทุน UGIS-N หรือกองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล อินคัม สตราทีจิค บอนด์ ฟันด์ ชนิดรับซื้อคืนหน่วยลงทุนแบบปกติ ภายใต้การบริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนยูโอบีหรือ UOBAM โดยลงทุนผ่านกองทุน PIMCO GIS Income Fund ที่มีประสบการณ์การลงทุนระดับโลก… แต่จะเข้มข้นเชี่ยวชาญขนาดไหน เราตามไปดูด้วยกันครับ

นโยบายของ PIMCO GIS Income Fund

PIMCO GIS Income Fund  มีนโยบายการลงทุนแบบ Active ซึ่งลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐฯ เป็นหลัก เน้นสร้างผลตอบแทนพร้อมควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับต่ำ ตราสารหนี้ในพอร์ตกองทุนมีอันดับความน่าเชื่อถือเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ A สะท้อนความเสี่ยงจากการผิดชำระหนี้ต่ำมาก สัดส่วนการลงทุนของกองทุนนั้นกระจายในหลายประเภทธุรกิจ โดยรวมแล้วเน้นถือตราสารหนี้ระยะกลาง (3-5 ปี)

กองทุนนี้บริหารโดย PIMCO ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านตราสารหนี้โดยเฉพาะ ก่อตั้งโดย Bill Gross ที่ได้รับการขนานนามว่า ราชาแห่งพันธบัตร (Bond King) ชื่อนี้มิได้ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เพราะความสามารถล้วนๆ ดังนั้นขอพาไปรู้จักกับ Bill Gross สักนิดครับ

รูปที่ 5 : Bill Gross ราชาแห่งพันธบัตร (Bond King)  | ที่มา : marketnewsdaily

Bill Gross เริ่มชีวิตนักลงทุนด้วยการเป็นนักเล่น Blackjack ซึ่งเขาได้ใช้หลักการในการเล่น Blackjack บางส่วนไปประยุกต์กับการซื้อขายตราสารหนี้และกำหนดกลยุทธ์การลงทุน จากนั้นก็ก่อตั้งบริษัท PIMCO โดย Bill Gross ใช้แนวทางการบริหารกองทุนตราสารหนี้ที่เรียกว่า “Total Return Approach”

แนวทางดังกล่าวสรุปได้ดังนี้…

เขากำหนดมุมมองระยะยาว 3 – 5 ปีที่เรียกว่า “Secular Outlook” อีกทั้งเน้นกระจายการลงทุนเพื่อลดความผันผวนแต่ยังรักษาระดับผลตอบแทนที่สูง พร้อมกับหาผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากความผิดปกติของราคาตลาด

ด้วยแนวทางดังกล่าวประกอบกับชีวิตประจำวันที่ตื่นนอนตั้งแต่ตี 4 สำรวจข้อมูลตลาดโลก โดยในช่วงเวลาทำงาน Bill Gross จะให้ความสำคัญกับสมาธิในการทำงาน หลีกเลี่ยงการใช้มือถือ รวมไปถึงการเปิดอีเมล

มาถึงตรงนี้ต้องยอมรับในความอินของชายที่ได้รับการขนานนามว่า “ราชาแห่งพันธบัตร (Bond King)”

ผลงานการบริหารของ PIMCO GIS Income Fund

รูปที่ 6 : ระดับ Portfolio Yield ล่าสุดของ PIMCO GIS Income Fund | ที่มา PIMCO

ขณะที่ความกังวลเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ FED ที่ผมได้เกริ่นไว้ก่อนหน้านี้ ได้ทำให้ล่าสุด Current Yield ของ PIMCO GIS Income Fund ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2018 อยู่ที่ 4.10% ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงขึ้นพอสมควร ขณะที่อายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในกองทุนอยู่ที่ 3.15 ปี ซึ่งตามหลักการลงทุนในตราสารหนี้นั้น เวลาที่เหมาะเข้าลงทุนคือช่วงเวลาที่การขึ้นดอกเบี้ยใกล้ถึงจุดสูงสุดในแต่ละรอบวัฏจักร การเข้าลงทุนจะมีโอกาสได้รับทั้งดอกเบี้ยรับที่สูง และโอกาสรับกำไรจาก capital gain อย่างไรก็ตามหากเกิดกรณีไม่มีแรงซื้อเข้าตามคาด หรือแม้กระทั่งมีแรงขายในตราสารหนี้สหรัฐฯ ก็ยังมีโอกาสที่จะให้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยรับ

แต่ๆ…ผลงานที่เด่นชัดที่สะท้อนความเชี่ยวชาญในการลงทุนตราสารหนี้ได้ปรากฏออกมาในช่วงปี 2017-2018 อันเป็นช่วงที่ตลาดตราสารหนี้เป็นขาลง

ด้วยนโยบายการลงทุนแบบ Active ทำให้กองทุนต้องปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุน โดยเฉพาะอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในกองทุน เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะตลาด ด้วยสินทรัพย์ภายใต้การบริหารกว่า 56,000 ล้านดอลลาร์ (1.792 ล้านล้านบาท) หรือเทียบเคียงได้กับมูลค่าตลาดของ ปตท. ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับกองทุนตราสารหนี้ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนอย่างรวดเร็ว เพื่อให้อายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในกองทุนเปลี่ยนนั้นเป็นไปได้ยาก

รูปที่ 7 : Duration (ความผันผวน) ของพอร์ตกองทุน PIMCO GIS Income Fund ณ วันที่ 31 มกราคม 2017 | ที่มา PIMCO
รูปที่ 8 : Duration (ความผันผวน) ของพอร์ตกองทุน PIMCO GIS Income Fund ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2017 | ที่มา PIMCO

อย่างไรก็ตามกองทุน PIMCO GIS Income Fund สามารถปรับเปลี่ยนอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในกองทุนได้อย่างรวดเร็ว โดยในปี 2017 ช่วงที่ Fed เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยสูงได้รับผลกระทบเชิงลบจากการขึ้นดอกเบี้ย กองทุน PIMCO GIS Income Fund จึงปรับลดอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในกองทุนจาก 3.38 ปี ลงมาที่ 1.80 ปี ภายในเวลาเพียง 6 เดือน เมื่อเข้าถึงช่วงปลายปี 2018 ที่ตลาดเริ่มคลายความกังวลประเด็นการขึ้นดอกเบี้ย กองทุน PIMCO GIS Income Fund ได้ทยอยปรับเพิ่มอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในกองทุนขึ้นมาอีกครั้ง โดยล่าสุดเดือน พ.ย. 2018 อายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในกองทุนอยู่ที่ 3.15 ปี สอดคล้องกับภาวะตลาดในช่วงคลายความกังวลจากการขึ้นดอกเบี้ย (รูปที่ 7 ถึง 9)

รูปที่ 9 : Duration (ความผันผวน) ของพอร์ตกองทุน PIMCO GIS Income Fund ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2018 | ที่มา PIMCO

ท้ายสุด...มาดูรายละเอียดกองทุน UGIS-N กันอีกสักนิดครับ

รูปที่ 10: รายละเอียด UGIS-N โดยคร่าว | ที่มา บลจ.ยูโอบี, FINNOMENA

*ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต*

ดูข้อมูลผลการดำเนินงานปัจจุบันได้ ที่นี่

ดูหนังสือชี้ชวนต้นฉบับและเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ ที่นี่

รูปที่ 11 : อันดับความน่าเชื่อถือและความผันผวนของตราสารหนี้ในกองทุน | ที่มา บลจ.ยูโอบี

กองทุน UGIS-N มีความผันผวนของผลการดำเนินงานต่ำพร้อมด้วยความเสี่ยงจากการกระจุกตัวในผู้ออกตราสารที่ต่ำเช่นกัน สะท้อนการกระจายความเสี่ยงของโอกาสการผิดชำระหนี้ จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลดความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวมในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นเข้าสู่ขาลง

Jessada Sookdhis
Investment Analyst (IA)
ตรวจทานบทความ

คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต / ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน