Before-Investment

 

การลงทุนมีหลายประเภท ทั้งการลงทุนในตัวเอง การลงทุนในสินทรัพย์จับต้องได้ และการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน หลักในการเลือกลงทุนจึงมีอยู่ว่า…

1) ไม่ควรลงทุนเพียงมิติเดียว

คนทำงานประจำก็ไม่ควรทำแต่งานเก็บเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์เพียงอย่างเดียว แต่ควรนำเงินที่มีสะสมเพิ่มขึ้นจากการทำงานนั้นไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าในระยะยาว หรือแม้แต่กับคนที่มีสินทรัพย์ทางการเงิน ก็ไม่ควรจำกัดขอบเขตการลงทุนอยู่เพียงแค่นั้น แต่ควรพิจารณาถึงการลงทุนในสินทรัพย์ที่จับต้องได้ รวมถึงการจัดสรรเวลาไปลงทุนในตัวเองด้วย ซึ่งในที่สุดแล้วการพัฒนาตัวขึ้นมานั้น ก็จะยิ่งเปิดโอกาสใหเรามีความรู้และความกล้าที่จะไปลงทุนในด้านอื่น ๆ ได้อย่างกว้างขวางขึ้น ซึ่งอาจกล่าวโดยย่อได้ว่า คนที่รักจะลงทุนต้อง “ครบเครื่อง”

2) ช่วงอายุต่างกันก็ลงทุนต่างกัน  

วัยรุ่นซึ่งมักจะมีความรู้และประสบการณ์จำกัด รวมทั้งมีเงินลงทุนไม่มาก  ก็ควรลงทุนในเรื่องที่มีความซับซ้อนไม่มาก และไม่ต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้นเยอะ เน้นไปที่การศึกษาหาความรู้ สั่งสมประสบการณ์ หรือแม้แต่จะลอง เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นแบบจำลอง เพื่อให้มีความคุ้นเคยกับระบบการทำงานของตลาดหุ้นและจริตการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น ก่อนที่จะเอาเงินไปลงสนามจริง

คนวัยทำงานที่รายได้เริ่มจะเติบโตไปตามตำแหน่งและประสบการณ์ หรือคนที่เริ่มจะมีเงินออมมากพอสมควรแล้ว ก็ควรขยับไปลงทุนในเรื่องที่มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น ต้องใช้เงินเป็นก้อนมากขึ้น เช่นการลงทุนในหุ้น หรือการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โดยคนในช่วงวัยนี้ ควรเน้นไปที่สร้างฐานะให้เติบโตอย่างเต็มที่

ส่วนคนทำงานรุ่นอาวุโสที่มีเงินออมมากแล้ว และยังมีรายได้ประจำ แม้จะยังต้องให้ความสำคัญกับการเติบโตของฐานะ แต่ก็ควรจะเริ่มปรับตัวเข้าสู่วัยเกษียณ โดยการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนที่มีความแน่นอนให้มากขึ้น และเมื่อเข้าสู่วัยอาวุโสที่มักจะไม่มีรายได้ประจำจากการทำงานเข้ามาเพิ่มแล้ว แต่มีเงินออมจำนวนมาก ก็ควรจะนำออกมาใช้จ่ายให้สำราญ ไปเที่ยวรอบโลกให้คุ้มกับที่ทำงานหนักมาทั้งชีวิต ไม่ต้องไปคิดถึงตอนเจ็บป่วย ก็ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนสม่ำเสมอ สร้างรายได้ประจำจากเงินลงทุน เพื่อใช้จ่ายในการดำรงชีวิตให้สะดวกสบายและการรักษาพยาบาล และเป็นสิ่งประกันให้ลูกหลานต้องมาดูแล

นอกจากนั้น การเลือกลงทุน…

3) ต้องจัดสรรให้เหมาะสมกับระดับความรู้ความเข้าใจ

เช่นเคยฝากแต่ออมทรัพย์ ก็ไม่ใช่อยู่ดี ๆ จะวิ่งไปเปิดบัญชีซื้อขายอนุพันธุ์ หรือคนที่ลงทุนในหุ้นมาตลอด ก็ไม่ใช่ว่าเมื่อมีใครมาชวนซื้อที่ดินแปลงใหญ่ แล้วจะสามารถขายหุ้นล้างพอร์ตออกมาซื้อได้ทันที เพราะการฝืนลงทุนในสิ่งที่ยังไม่รู้จริง ถ้าได้กำไรก็คือโชคดี แต่ถ้าขาดทุนก็คงต้องโทษตัวเอง และการเลือกลงทุนยังต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับจริตความชอบของเราด้วย เช่น เราเป็นคนกลัวความเสี่ยงมาก

ชีวิตเจอความไม่แน่นอนเมื่อไหร่ถึงกับนอนไม่หลับ ก็ควรจะรู้ตัวว่าเราไม่เหมาะกับหุ้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมพิจารณาถึงเป้าหมายการสร้างฐานะของเรา หากหวังสูงแต่ลงทุนเฉพาะสิ่งที่ให้ผลตอบแทนต่ำมากก็ไม่มีโอกาสไปถึงเป้าหมายได้

4) ความจำเป็นในชีวิต

ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการเลือกลงทุนให้เหมาะกับตัวเอง เช่น ต้องผ่อนรถ แต่กลับเอาเงินไปซื้อที่ดินเปล่า ซึ่งไม่ก่อให้เกิดรายได้ เมื่อถึงกำหนดจ่ายหนี้ ก็ไม่สามารถหาเงินสดได้พอ หรือ กำลังผ่อนบ้านอยู่ แต่ออกจากงานประจำเพื่อมาเป็นนักเทรดหุ้นรายวันแต่เพียงอย่างเดียว ในยุคที่ตลาดหุ้นสดใสก็พอจะสามารถเอากำไรไปผ่อนบ้านได้ แต่ทุกคนก็รู้ดีว่าความไม่แน่นอนอยู่คู่ตลาดหุ้นเสมอ ต้องมีช่วงที่ตลาดซบเซา และในอดีตพบว่ามีหลายครั้งที่กินเวลานานเป็นปี นักเทรดหุ้นรายวันก็จะต้องเผชิญความยากลำบากในการหาเงินไปผ่อนบ้าน

จึงอาจพูดได้ว่า การเลือกลงทุน ต้องพิจารณาทั้ง “willingness” (ความชอบที่จะลงทุน) และ “ability” (ความสามารถในการลงทุน) ไปพร้อมกัน … ลงทุนแบบที่เหมาะกับตัวเรา ไม่ฝืน สุดท้ายตัวเราเองนั่นแหละที่จะได้ประโยชน์เต็ม ๆ ครับ 🙂