Analysis: คว่ำบาตรยืดเยื้อ ยิ่งเจ็บตัวทุกฝ่าย เปิดราคาที่ชาติตะวันตกต้องจ่ายในสงครามเศรษฐกิจรัสเซีย ปูติน ไม่ได้เสียสติ? แต่มั่นใจมีไพ่ใบสุดท้าย

ท่ามกลางภาวะสงครามที่รัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครน ภาพที่ปรากฎในสื่อตะวันตกดูเหมือนว่ารัสเซียกำลังเพลี่ยงพล้ำ ที่แม้จะชนะในสมรภูมิทางทหาร แต่กำลังพ่ายแพ้ในสมรภูมิเศรษฐกิจ

มาตรการตอบโต้จากนานาชาติกำลังถูกประเคนใส่รัสเซียทุกทิศทาง ตั้งแต่การคว่ำบาตรทางการเงิน ตัดธนาคารของรัสเซียออกจากระบบ SWIFT ระงับการนำเข้า-ส่งออก สินค้าสำคัญทางเศรษฐกิจ รวมถึงอายัดทรัพย์สินสำคัญรัสเซียในต่างประเทศ

ชาติตะวันตกรู้ดีว่าแม้ไม่สามารถส่งกองกำลังทางทหารไปร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวยูเครนได้ แต่การตัดกำลังทางเศรษฐกิจและโดดเดี่ยวรัสเซียจากโลกโลกาภิวัตน์ สุดท้ายแล้วรัสเซียจะอ่อนกำลังและพ่ายแพ้ในที่สุด

เห็นได้จากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของรัสเซียที่กำลังตกต่ำถึงขีดสุด ตลาดหุ้นปรับตัวลงถล่มทลาย และเงินรูเบิลอ่อนค่าอย่างหนักอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบทศวรรษ

คำถามสำคัญคือ รัสเซียรู้หรือไม่ ว่าหากประกาศสงครามครั้งนี้ จะนำไปสู่การตอบโต้ทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

บางคนถึงขั้นกล่าวหาว่าปูตินกำลังเสียสติ

แต่หากลองพิจารณา ข้อมูลจากฝั่งรัสเซีย และชาติพันธมิตรอย่างจีน การตอบโต้ทางเศรษฐกิจอาจเป็นสิ่งที่รัสเซียเตรียมพร้อมและถูกคำนวณในสมการก่อนตัดสินใจประกาศสงครามแล้ว

Ma Xue นักวิจัยร่วมจากสถาบันสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมสมัย (CICIR) ซึ่งเป็นสถาบันที่เชื่อมโยงกับกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติของจีน หรือหน่วยข่าวกรองพลเรือนของจีน หน่วยงานที่ได้ชื่อว่าเป็นมันสมองรัฐบาลจีน ผู้เป็น ‘กุนซือสำคัญของสี จิ้นผิง’

ข้อความสำคัญที่กุนซือจีนออกมาเตือนชาติตะวันตกคือ “ให้ระวังผลกระทบย้อนกลับ” และการถูกคว่ำบาตร ไม่ใช่เรื่องใหม่ของรัสเซีย

ย้อนหลังกลับไปในปี 2014 รัสเซียเคยเผชิญมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหญ่จากการบุกไครเมีย ทำให้รัสเซียคุ้นเคยและปรับตัวกับการลงโทษทางการเงินมาแล้ว

แต่กลายเป็นสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรยุโรปต่างหาก ที่ต้องเตรียมรับมือกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนยูเครน

ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ชาติตะวันตกต้องเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรครั้งนี้คือ

1) การตัดธนาคารรัสเซียออกจากระบบ SWIFT สร้างความเสียหายแก่ชาติยุโรปไม่ต่างกัน

2) ในอนาคตสหรัฐฯ อาจสูญเงินจำนวนมากจากการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและมนุษยธรรมแก่เหล่าพันธมิตร

3) ชาติยุโรปอาจเผชิญกับความไม่มั่นคงจากการอพยพเข้ามาของผู้ลี้ภัยชาวยูเครน และรัสเซียอาจใช้วิกฤติผู้ลี้ภัยนี้มาสร้างความเกลียดชังและบ่อนทำลายนาโต้

และแม้ว่าชาติตะวันตกจะพยายามโดดเดี่ยวรัสเซียจากโลก แต่อย่าลืมว่ารัสเซียยังมีสหายร่วมอุดมการณ์ที่สำคัญคือจีน

มีความเป็นไปได้ที่จีนจะสนับสนุนรัสเซียเพื่อบรรเทาบทลงโทษไม่ให้รุนแรงเกินไป เช่น บริษัทจีนอาจช้อนซื้อน้ำมันของรัสเซียที่ราคาร่วงจากการคว่ำบาตร หรือแบงก์ชาติจีนอาจแลกเปลี่ยนสกุลเงินดอลลาร์กับคู่สัญญาในรัสเซียเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ โดยก่อนหน้านี้ในปี 2018 รัสเซียได้ขายพันธบัตรสหรัฐฯ ออกไปเกือบทั้งหมดแล้ว

แม้จีนจะสงวนท่าทีในจุดยืนเรื่องสงคราม โดยพร้อมแสดงความกังวลเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดกับพลเมืองยูเครน และกล่าวว่าจีนรู้สึกเสียใจที่เห็นความขัดแย้งเกิดขึ้น

แต่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจีน-รัสเซียยังคงเหนียวแน่น

ปูตินเสียสติหรือไม่ อาจเป็นคำกล่าวหาของชาติตะวันตก แต่ที่แน่ๆ ภูมิคุ้มกันจากมาตรการคว่ำบาตรที่รัสเซียมีไม่ใช่เรื่องล้อเล่น

และถึงแม้รัสเซียจะเพลี่ยงพล้ำ รัสเซียอาจมีทางออกของสงคราม คือการขอความช่วยเหลือจากจีน ไม่ใช่เพื่อช่วยรบ แต่เป็นบทบาทผู้ไกล่เกลี่ย หาทางออกให้รัสเซียบาดเจ็บน้อยที่สุดในสงครามครั้งนี้

อ้างอิง:

 ——————-

👍 อย่าลืมกดไลก์ Page The Opportunity เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสด้านการลงทุน