Analysis: เศรษฐกิจ หรือ ชีวิตคน? ความท้าทายของชาติอาเซียน ที่ต้องเปิดเมือง แม้สถานการณ์โควิดยังไม่ดีขึ้น

แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เลวร้ายที่สุดในโลก แต่กลุ่มประเทศอาเซียนจำเป็นต้องเริ่มทยอยเปิดเมือง เพราะไม่สามารถแบกรับความเสียหายทางเศรษฐกิจได้อีกต่อไป

รัฐบาลของหลายประเทศเร่งผลักดันแผนการเปิดเมืองอีกครั้ง โดยพยายามสร้างสมดุลระหว่างการแพร่ระบาดและการไหลเวียนของเศรษฐกิจ จนนำไปสู่การทดสอบต่างๆ เช่น การล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ และการอนุญาตให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข้าถึงร้านอาหารและสำนักงานได้ เป็นต้น

อัตราการฉีดวัคซีนระดับต่ำเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ประเทศเหล่านี้ เผชิญกับการแพร่ระบาดของเดลต้าอย่างรุนแรง แต่ด้วยสภาวะการเงินของรัฐบาลที่อ่อนแอลงจากการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อ ทำให้หลายประเทศจำเป็นต้องเริ่มเปิดเศรษฐกิจ

Krystal Tan นักเศรษฐศาสตร์จาก ANZ Banking Group ระบุว่า การเลือกระหว่างการเข้มงวด เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิต กับการผ่อนคลายเพื่อปล่อยให้คนทำมาหากินเป็นเรื่องยาก แม้แต่สิงคโปร์ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนอันดับต้นของโลก ยังต้องต่อสู้กับการแพร่ระบาด ดังนั้นการเปิดเมืองของประเทศอื่นในภูมิภาคจึงมีความเสี่ยงสูง

🚩 อาเซียนรับมือกับโควิดได้แย่สุดในโลก

การปิดโรงงานในอาเซียนก่อให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดย Toyota ผู้ผลิตรถยนต์ ได้ปรับลดกำลังการผลิตลง ในขณะที่ ธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้าอย่าง Abercrombie และ Fitch Co. ต่างกล่าวว่าสถานการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้

อัตราการเสียชีวิตรายวันของประเทศในอาเซียนแซงหน้าค่าเฉลี่ยทั่วโลก และจากการจัดอันดับการรับมือกับโควิด-19 ของ Bloomberg ประเทศอาเซียนอยู่ในอันดับต่ำที่สุด

รัฐบาลของหลายประเทศกังวลในผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อ โดยมาเลเซียได้ปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจปี 2021 เหลือ 3-4% หลังมีผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่ ความหวังการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยกำลังหายไปอย่างรวดเร็ว

แม้ตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจของบางประเทศยังอยู่ในระดับสูง เช่น เวียดนามที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 6% และสิงคโปร์ที่คาดว่าจะเติบโต 7% แต่ยังคงมีแรงกดดันจากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการลดลงของนักลงทุนต่างชาติจากปัญหาการแพร่ระบาด

🚩 ความหวังเปิดเมืองในวงกว้าง อาจเป็นเพียงความฝัน

Wellian Wiranto นักเศรษฐศาสตร์จาก Oversea-Chinese Banking กล่าวว่า ประเทศต่างๆ ในอาเซียนกำลังเผชิญความซบเซาของเศรษฐกิจที่เกิดจากการล็อกดาวน์ รวมถึงความอ่อนล้าของประชาชนจากการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อ

Wellian Wiranto กล่าวว่า ความหวังในการเปิดเมืองในวงกว้าง อย่างการค้าและการท่องเที่ยวในประเทศอาเซียน คงเป็นเพียงความเพ้อฝันอันไกลโพ้น

การล็อกดาวน์ที่เข้มงวดขึ้นในเวียดนามทำให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกต้องแบกรับภาระจำนวนมาก ในขณะที่รัฐบาลยังไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดของเดลต้าได้

กระทรวงการค้าของเวียดนามเตือนผู้ประกอบการถึงความเสี่ยงจากการสูญเสียลูกค้าต่างชาติ เนื่องจากการปิดตัวของโรงงาน โดยสภาหอการค้ายุโรปคาดการณ์ว่า 18% ของประเทศสมาชิกได้ย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังประเทศอื่นจากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

🚩 ประชาชนออกมาประท้วงรัฐบาล จากความล้มเหลวจัดการโควิด

ความอดทนของผู้คนเริ่มลดลงทั่วทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้องต่อสู้มานานกว่าคนส่วนใหญ่ในโลก ความทุกข์ของสังคมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในมาเลเซีย หลังรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาโควิดได้

การประท้วงต่อต้านรัฐบาลไทยก่อนเกิดโควิดกลายมาเป็นการชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาด หรือชะตากรรมของแรงงานยากจนในเวียดนาม ได้เพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลเวียดนามเร่งเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง รวมถึง ปัญหาการวางแผนระยะยาวของธุรกิจในสิงคโปร์และฟิลิปปินส์ เพราะขาดความมั่นใจในนโยบายของรัฐบาล

🚩 เศรษฐกิจ หรือชีวิตคน?

ปัญหาการซบเซาของเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อ ทำให้หลายประเทศในภูมิภาค เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย เริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่กับไวรัสตามกลยุทธ์ของสิงคโปร์

หลายประเทศเริ่มมาตรการล็อกดาวน์บางพื้นที่แทนการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ด้วยข้อจำกัดที่แตกต่างกันไปตามความเสี่ยงของไวรัสในพื้นที่ต่างๆ

แม้กลยุทธ์ดังกล่าวอาจลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง แต่ยังต้องระวังความเสี่ยงในการกระจายวัคซีนอย่างไม่เท่าเทียมกัน เช่น การจัดสรรวัคซีนไปยังพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากกว่าพื้นที่ชนบท

อ้างอิง: https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-09-12/with-economies-on-the-brink-southeast-asia-chooses-to-reopen?sref=e4t2werz

——————-

👍 อย่าลืมกดไลก์ Page The Opportunity เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสด้านการลงทุน