Analysis: วิเคราะห์ ‘โอไมครอน’ กระทบเศรษฐกิจอย่างไร? Goldman Sachs ชี้กรณีเลวร้ายสุด GDP โลกเหลือ 2% ประเทศกำลังพัฒนากังวล ‘กระสุนหมด’ กระตุ้นไม่ไหว

ปัจจัยลบที่ไม่คาดคิดอย่างโควิดสายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’ อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2022 รวมถึงการกำหนดนโยบายของภาครัฐที่จำเป็นต้องต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อมากกว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

มาตรการคุมเข้มด้านการเดินทางซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับเทศกาลวันหยุดปีใหม่ อาจสั่นคลอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ โดยในวันศุกร์ที่ผ่านมา (26 พ.ย.) ตลาดทั่วโลกเคลื่อนไหวในแดนลบรับข่าวโควิดสายพันธุ์ใหม่ ขณะที่ความคาดหวังในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าลดลงอย่างน้อย 0.1% ทั้งในสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย

📈 สถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโลก

ตลาดกำลังรอความชัดเจนเกี่ยวกับโอไมครอน ทั้งความทนทานต่อวัคซีนในปัจจุบัน และความเร็วในการแพร่เชื้อเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลต้า โดยสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้คือ การแพร่ระบาดครั้งใหม่อาจนำไปสู่การล็อกดาวน์ที่จะไปหยุดยั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และไปจุดชนวนสภาวะ Stagflation หรือ การที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นในเวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง

สำหรับกรณีที่เลวร้ายที่สุด นักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs คาดการณ์ว่า GDP ไตรมาสแรกของปีหน้าจะขยายตัวเพียง 2% จากคาดการณ์เดิมที่ 4.5% และทำให้การเติบโตของ GDP ปี 2022 ลดลงเหลือ 4.2% จากคาดการณ์เดิมที่ 4.6%

📈 โควิดจะเป็นภัยคุกคามโลกไปอีกหลายปี

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก หากโควิดสายพันธุ์โอไมครอนไม่ได้มีความรุนแรงอย่างที่ทั่วโลกกังวล อย่างไรก็ตาม การอุบัติขึ้นของโอไมครอนเป็นเครื่องย้ำเตือนแก่ทั้งโลกว่า โควิดจะยังเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจโลกไปอีกหลายปี

Alicia Herrero หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจาก Natixis SA เชื่อว่า เศรษฐกิจโลกยังไม่อยู่ในสภาวะ Stagflation อย่างไรก็ตาม หากในอีก 1 ปีข้างหน้า การเดินทางข้ามประเทศยังไม่กลับสู่สภาวะปกติ และโลกไม่สามารถก้าวผ่านปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานได้ เศรษฐกิจโลกอาจไปอยู่ในจุดนั้นจริงๆ

📈 ผู้เชี่ยวชาญชี้ผลกระทบน้อยกว่าครั้งก่อนๆ

นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งเชื่อมั่นว่าผลกระทบจากโอไมครอนจะไม่รุนแรงเท่าก่อนหน้านี้ ด้วยอุปทานวัคซีนจำนวนมาก และความยืดหยุ่นในการปรับตัวที่มีมากขึ้น ทำให้รัฐบาลในเกือบทุกประเทศยกเว้นจีนไม่ต้องการกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง

Rob Subbaraman หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดโลกของ Nomura กล่าวว่า ภาคธุรกิจและครัวเรือนเริ่มปรับตัวต่อมาตรการต่างๆ ได้แล้ว ทำให้ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจะไม่รุนแรงเท่าครั้งก่อนๆ ขณะที่จีนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการจัดการการแพร่ระบาดแบบสุดโต่งอาจต้องแลกมาด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจในระยะยาว

📈 ความท้าทายในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ

ความท้าทายของผู้กำหนดนโยบายในช่วงที่เศรษฐกิจเผชิญผลกระทบจากการแพร่ระบาดมาเป็นเวลานานคือ ทางเลือกที่จำกัด เนื่องจากได้ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ไปแล้วในปีที่ผ่านมา

มีเพียงธนาคารไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศพัฒนาแล้วยังคงอยู่ที่ระดับใกล้ 0 นั่นหมายถึง ‘กระสุน’ หรือช่องว่างในการใช้นโยบายต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแทบไม่มีแล้ว โดยเฉพาะในเวลาที่รัฐบาลกำลังเผชิญข้อจำกัดจากภาระหนี้ที่สูงอยู่แล้ว

Mickey Levy หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Berenberg Capital Markets กล่าวว่า ความไม่แน่นอนของโอไมครอนอาจทำให้เฟดชะลอความเร็วในการ QE Tapering ลง รวมถึงเลื่อนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป โดยข่าวดังกล่าวทำให้นักลงทุนในตลาดฟิวเจอร์สเดิมพันว่า Fed จะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกจนกว่าจะถึงเดือน ก.ค. 2022 ซึ่งช้ากว่าคาดการณ์เดิม

อ้างอิง: https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-11-29/economists-wargame-how-omicron-will-impact-the-global-recovery?sref=e4t2werz  

 ——————-

👍 อย่าลืมกดไลก์ Page The Opportunity เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสด้านการลงทุน
iran-israel-war