สภาพัฒน์คาดทั้งปี 65 ขยายตัว 2.7% - 3.2% เพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อสู่ 6.3% - 6.8%

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 2.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า (%YoY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สอง ของปี 2565 ขยายตัวจากไตรมาสแรกของปี 2565 ร้อยละ 0.7 (QoQ_SA) รวมครึ่งแรกของปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.4

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสอง ที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 ถือว่าต่ำกว่าประมาณการของผลสำรวจความคิดเห็นจาก Bloomberg ที่ให้ค่ากลางการเติบโตไว้ที่ ร้อยละ 3.1

ด้านการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกบริการขยายตัวเร่งขึ้น ร้อยละ 6.9 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ขยายตัวร้อยละ 2.4 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.3 ขณะที่การลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลงต่อเนื่องร้อยละ 6.8 รวมครึ่งแรกของปี 2565 การลงทุนรวมลดลงร้อยละ 0.1

ด้านการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 44.9 สาขาการขายส่ง ขายปลีก และการซ่อมฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ร้อยละ 3.1 และสาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 5.3 สาขาเกษตรกรรมและสาขาการไฟฟ้าและก๊าซฯ ชะลอตัว ในขณะที่สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและสาขาการก่อสร้างปรับตัวลดลง

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.37 ต่ำกว่าร้อยละ 1.53 ในไตรมาสก่อนหน้าและต่ำกว่าร้อยละ 1.89 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.5 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.3

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 8.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (29.75 หมื่นล้านบาท) คิดเป็นการขาดดุลร้อยละ 7.0 ของ GDP

ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2565 อยู่ที่ 2.2 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 มีมูลค่าทั้งสิ้น 10,204,305.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 61.1 ของ GDP

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7 – 3.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.4 และ ร้อยละ 3.1 ตามลำดับ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 6.3 – 6.8 และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 1.6 ของ GDP

ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

——————-

👍 อย่าลืมกดไลก์ Page The Opportunity เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสด้านการลงทุน