JPMorgan เตือนนักลงทุนรับมือ นโยบายการเงินเข้มงวดแรงสุดรอบ 30 ปี

ธนาคารกลางทั่วโลกเตรียมถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ นักวิเคราะห์เตือน ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางจะเร็วและแรงกว่าที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้

ตอนนี้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อดูจะเป็นภัยคุกคามใหญ่กว่าผลกระทบจากโควิด จนธนาคารกลางทั่วโลกต่างส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว และนี่ทำให้เกิดเสียงแตกในหมู่นักวิเคราะห์

โดยส่วนนึงมองว่าธนาคารกลางใช้นโยบายเข้มงวดช้าเกินไป แต่อีกส่วนมองว่าต้นเหตุเกิดจากปัญหาซัพพลายเชนที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของการใช้นโยบายการเงิน

Fed ของสหรัฐฯ เตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน มี.ค. โดยตัวเลขจ้างงานเดือน ม.ค. ที่ดีกว่าคาดอาจยิ่งทำให้ท่าทีของ Fed มีความเข้มงวดมากขึ้น ขณะที่ BOE ของอังกฤษได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 0.5% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา และตลาดอาจได้เห็น ECB ของยุโรปเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี

JPMorgan ประมาณการว่าในเดือน เม.ย. นี้ ธนาคารกลางของหลายประเทศที่รวมกันแล้วมี GDP คิดเป็น 50% ของโลกจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย (ตอนนี้มีเพียง 5% ที่ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว) โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยทั่วโลกจะอยู่ที่ 2% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับก่อนเกิดการแพร่ระบาด

นี่จะเป็นความเข้มงวดของนโยบายการเงินที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 หรือกว่า 30 ปี โดยความเคลื่อนไหวจะไม่ได้อยู่แค่ที่การขึ้นดอกเบี้ย แต่จะรวมถึงการถอนมาตรการซื้อพันธบัตรครั้งใหญ่ที่เคยใช้เพื่อควบคุมต้นทุนการกู้ยืมระยะยาว

ตลาดตอบรับท่าทีเข้มงวดดังกล่าว โดยดัชนี MSCI World ปรับลดลงมาแล้ว 5% ในปีนี้ ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกปรับสูงขึ้น

ก่อนหน้านี้ธนาคารกลางทั่วโลกต่างมองว่าเงินเฟ้อเป็นเพียงแค่เรื่องชั่วคราว แต่ตอนนี้ผู้กำหนดนโยบายได้ข้อสรุปแล้วว่าเงินเฟ้อยังคงสร้างแรงกดดันอยู่ และการอดทนต่อเงินเฟ้อจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ราคาสินค้าและค่าจ้างพุ่งสูงขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องยากมากที่จะหยุดเงินเฟ้อโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจถดถอย

JPMorgan คาดว่า เงินเฟ้อมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง พร้อมกับอัตราว่างงานที่ลดลงและความต้องการบริโภคด้านบริการที่เพิ่มขึ้นหลังล็อกดาวน์ เนื่องจากเศรษฐกิจได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความยืดหยุ่นต่อการแพร่ระบาดของโอมิครอนแล้ว

สิ่งที่ต้องระวังคือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงมาเองจากการฟื้นตัวของซัพพลายเชนและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง ซึ่งนั่นจะทำให้นโยบายการเงินเข้มงวดตึงตัวเกินไป เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับ ECB เมื่อทศวรรษที่แล้ว

BlackRock ที่มองว่า ปัญหาเงินเฟ้อเกิดจากซัพพลายเชน และธนาคารกลางต่างๆ ควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ ขณะที่ Bloomberg วิเคราะห์ว่า ถ้า ECB ต้องการลดเงินเฟ้อให้อยู่ที่ระดับ 2% ECB จะต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมากพอที่จะโยนคน 1.2 ล้านคน ออกจากงาน

อ้างอิง: https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-02-05/goodbye-easy-money-as-hawkish-central-banks-speed-up-rate-hikes?sref=e4t2werz

——————-

👍 อย่าลืมกดไลก์ Page The Opportunity เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสด้านการลงทุน