News Update: จีนเกินดุลการค้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งออก ก.ค. โตเกินคาดที่ 18% แต่ดีมานด์ทั่วโลกเริ่มชะลอแล้ว

การส่งออกของจีนขยายตัวเกินคาด ส่งผลดีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากโควิด แต่ความต้องการบริโภคทั่วโลกที่เริ่มอ่อนแอลงอาจฉุดรั้งการส่งออกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

เมื่อวานนี้ (7 ส.ค.) ข้อมูลศุลกากรจีนเผยว่า การส่งออกจีนในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 18% จากปีที่แล้ว ซึ่งเป็นอัตราที่เร็วที่สุดในปีนี้ เทียบกับการเพิ่มขึ้น 17.9% ในเดือน มิ.ย. และสูงกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 15%

ตัวเลขการส่งออกเป็นหนึ่งในข่าวดีไม่กี่อย่างสำหรับเศรษฐกิจจีนในปี 65 ที่ล็อกดาวน์จนส่งผลกระทบต่อธุรกิจและผู้บริโภคอย่างหนัก ขณะที่ตลาดอสังหาฯ ที่ครั้งหนึ่งเคยยิ่งใหญ่ก็ผันผวนไปสู่จุดวิกฤติ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การส่งออกจะค่อยๆ ชะลอตัวลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น เพราะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

ผลสำรวจโรงงานทั่วโลกที่เผยแพร่ในสัปดาห์ที่แล้วรายงานว่า ความต้องการบริโภคในเดือน ก.ค. ลดลง โดยดัชนีคำสั่งซื้อและผลผลิตลดลงสู่ระดับอ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิดเมื่อต้นปี 2020

นักเศรษฐศาสตร์จาก Jones Lang Lasalle กล่าวว่า การส่งออกในเดือน ก.ค. อาจได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (Pent Up Demand) ในอาเซียนเนื่องจากซัพพลายที่ลดลง นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบและอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ยังทำให้ลูกค้าในยุโรปและสหรัฐฯ ​สั่งสินค้าล่วงหน้าเพื่อให้มั่นใจว่าได้สินค้าในต้นทุนที่ต่ำกว่า

ก้าน Chang Ran นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยการลงทุน Zhixin กล่าวว่า การส่งออกที่ขยายตัวได้รับแรงหนุนจากปัจจัยด้านราคาเป็นหลัก แต่ปริมาณสินค้าส่งออกนั้นลดลงในเดือน ก.ค.

ขณะที่ การนำเข้าในเดือน ก.ค. ของจีนอ่อนแอกว่าคาด บ่งชี้ว่าความต้องการบริโภคในจีนยังไม่ฟื้นตัว โดยการนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.3% จากปีที่แล้ว เทียบกับการเพิ่มขึ้น 1% ในเดือน มิ.ย. และน้อยกว่าคาดการณ์ที่ 3.7%

ทำให้จีนเกินดุลการค้าครั้งประวัติการณ์ที่ 101,260 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 90,000 ล้านดอลลาร์

อ้างอิง: https://www.cnbc.com/2022/08/07/chinas-export-growth-gains-steam-despite-weakening-global-demand.html 

——————-

👍 อย่าลืมกดไลก์ Page The Opportunity เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสด้านการลงทุน