News Update: 11.11 จีน ไม่คึกคักเหมือนทุกปี รัฐบาลจีนคุมเข้มอีคอมเมิร์ซ Alibaba ไม่เน้นกำไรสูงสุด หันตอบแทนสังคมมากขึ้น

ปีนี้งานช้อปปิ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง ‘เทศกาลวันคนโสด’ ซึ่งตรงกับวันที่ 11 เดือน 11 แตกต่างไปจากทุกปี เพราะ Alibaba ผู้นำด้านอีคอมเมิร์ซกำลังเบนความสนใจจากยอดขายมูลค่ามหาศาล ไปสู่การกุศลและความยั่งยืน ซึ่งเป็นเสาหลักในการพลิกโฉมเศรษฐกิจของปธน.สี จิ้นผิง

🛍️ ทำไมวันคนโสดถึงกลายมาเป็นเทศกาลช้อปปิ้ง

วันที่ 11 เดือน 11 เขียนด้วยเลข 1 สี่ตัวแยกกัน ซึ่งมีลักษณเหมือนท่อนไม้ และคำว่าท่อนไม้ในภาษาจีน สามารถเป็นคำแสลงที่แปลว่าคนโสดได้ด้วย โดยในช่วงทศวรรษที่ 1990 วันที่ 11/11 กลายมาเป็นวัฒนธรรมเฉลิมฉลองการเป็นโสดของกลุ่มวัยรุ่นมหาวิทยาลัยที่ได้รับแรงกดดันจากครอบครัวให้รีบแต่งงาน

Jack Ma ผู้ร่วมก่อตั้ง Alibaba ใช้กลยุทธ์ของชาติตะวันตกที่จัดโปรโมชันช้อปปิ้งในระหว่างวันหยุดยาว อย่างโปรโมชัน Black Friday หลังวันขอบคุณพระเจ้า โดยเทศกาลวันคนโสดของ Alibaba เริ่มต้นในปี 2009 ซึ่งเริ่มแรกผู้บริโภคได้รับการกระตุ้นให้ซื้อสินค้าเพื่อเฉลิมฉลองการเป็นโสด แต่หลังจากนั้นผู้คนทุกช่วงวัยกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายของบริษัทแม้จะไม่ใช่คนโสดก็ตาม

🛍️ สถิติยอดขายมหาศาลในเทศกาลวันคนโสด

ที่ผ่านมา ยอดขายวันคนโสดทุบสถิติปีก่อนหน้าได้ทุกครั้ง โดยยอดขายในปีที่แล้วอยู่ที่ 78,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่า 2 เท่า ของยอดขายในปี 2019 ที่ 39,000 ล้านดอลลาร์ จากกลยุทธ์ของ Alibaba ที่ขยายวันจัดโปรโมชันให้นานขึ้น

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันเป็นไปอย่างดุเดือด ในปีนี้ คู่แข่งอย่าง JD.com เริ่มการขายล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. และมียอดจองสินค้าล่วงหน้ากว่า 190 ล้านรายการ ภายใน 4 ชั่วโมงแรก ตั้งแต่ โทรศัพท์มือถือ ไปจนถึง เครื่องดูดฝุ่น

ขณะที่ ผู้นำด้านโซเชียลมีเดียอย่าง Douyin และ Kuaishou ของ ByteDance ได้จ้างอินฟลูเอนเซอร์เพื่อขายผลิตภัณฑ์ผ่านการไลฟ์สด ซึ่งเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมในจีน แต่ก็ไม่สามารถบดบังความนิยมของ Li Jiaqi บิวตี้อินฟลูเอนเซอร์ของ Alibaba ผู้มีฉายาว่าราชาแห่งลิปสติก ที่มียอดจองสินค้าล่วงหน้าแล้วกว่า 1,900 ล้านดอลลาร์ ในวันแรกของเทศกาลปีนี้

ยอดขายในวันคนโสดของจีนสามารถเอาชนะยอดขายในช่วงวันขอบคุณพระเจ้าของสหรัฐฯ มาตลอดหลายปี และทำให้เทศกาลวันคนโสดของจีนกลายเป็นมหกรรมช้อปปิ้งออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

🛍️ รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ส่งคืนสู่สังคมมากขึ้น

ทางการจีนคุมเข้มและสอบสวนการผูกขาดในเกือบทุกภาคส่วนของธุรกิจอินเทอร์เน็ต เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมและลดช่องว่างของความมั่งคั่ง โดยทางการจีนสั่งปรับ Alibaba เป็นจำนวนเงิน 2,800 ล้านดอลลาร์ และ สั่งให้เหล่าผู้นำด้านอีคอมเมิร์ซยกเลิกแนวทางที่ต่อต้านการแข่งขัน เช่น การบังคับให้ร้านค้าทำสัญญาห้ามขายสินค้าบนแพลตฟอร์มคู่แข่ง

รายได้มูลค่ามหาศาลของ Alibaba หายไปจากการคุมเข้มของรัฐบาล สะท้อนจากรายได้ไตรมาส 2 ในปีนี้ที่พลาดเป้าเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี โดยแม้รายได้จะลดลงจำนวนมาก แต่ Alibaba กลับลดความสำคัญในยอดคำสั่งซื้อ และนำเสนอแคมเปญที่สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลจีน

Alibaba กล่าวว่าจะบริจาคเงิน 1 หยวน สำหรับสินค้าบางรายการในช่วงเทศกาลวันคนโสด หากผู้ซื้อโพสต์บนโซเชียลมีเดีย และยังมีการแสดงสินค้าประหยัดพลังงานบนหน้าเว็บไซต์ รวมถึงนำเสนอการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ในกระบวนการขนส่ง เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายลดการปล่อยมลพิษของรัฐบาลจีน

ก่อนหน้านี้ Alibaba ประกาศแผนบริจาคเงิน 15,500 ล้านดอลลาร์ ในเวลา 5 ปี เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมกันในสังคม เช่นเดียวกับมหาเศรษฐีจีนรายอื่นๆ ที่ให้คำมั่นว่าจะบริจาคเงินจากสินทรัพย์ส่วนตัวมูลค่ามหาศาลของพวกเขาเพื่อการกุศล

🛍️ การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของ Ant Group

อีกประเด็นที่ต้องจับตา คือ อนาคตของ Ant Group บริษัทฟินเทคในเครือ Alibaba ที่ถูกหน่วยงานกำกับดูแลจีนระงับการ IPO และสั่งให้ปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ รวมถึงการแยกธุรกิจสินเชื่อออกจาก Alipay แอปชำระเงินครบวงจรที่มีผู้ใช้งานกว่า 1 พันล้านคน

Alibaba ได้เพิ่มระบบการชำระเงิน WeChat Pay ของ Tencent ลงในบางแอปของ Alibaba หลังเผชิญแรงกดดันด้านกฎระเบียบใหม่ที่ต้องการให้ธุรกิจลดการผูกขาดลง อย่างไรก็ดี ยังไม่มีบริการ WeChat Pay ใน Taobao และ Tmall แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในจีน

อ้างอิง: https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-11-08/what-china-s-tech-squeeze-is-doing-to-singles-day-quicktake?sref=e4t2werz

——————-

👍 อย่าลืมกดไลก์ Page The Opportunity เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสด้านการลงทุน
iran-israel-war