News Update: 40 ผู้นำโลก ตอบรับไบเดน เตรียมประชุมสุดยอด Climate Change
ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯประกาศในวันเเรกที่เริ่มต้นการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลของตนว่า สหรัฐฯ จะเข้าสู่การเป็นประเทศในกรอบความตกลงปารีสว่าด้วยการแก้ปัญหาภาวะอากาศเปลี่ยนเเปลงผิดธรรมชาติ และในวันพฤหัสบดีนี้ (22 เม.ษ. 2564) เขาจะเปิดประชุม ‘Earth Day’ กับผู้นำโลก จาก 40 ประเทศผ่านระบบออนไลน์และจะส่งสัญญาณอีกครั้งว่าสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนจุดยืนจากนโยบายเดิมของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่นำอเมริกาออกจากข้อตกลงปารีส
ในบรรดา 40 ประเทศที่ได้รับเชิญจากสหรัฐฯ ไม่มีประเทศไทย แต่มีตัวเเทนจากเอเชียหลายประเทศอย่างเช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ภูฏาน และสิงคโปร์ เป็นต้น ขณะที่ประเทศจากทวีปอื่น ประกอบด้วย เเคนาดา เดนมาร์ก รัสเซีย ฝรั่งเศส บราซิล เคนยา กาบอง และซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น
นักวิเคราะห์ เดวิด วาสโควแห่งสถาบัน World Resources Institute กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีที่จะเเสดงว่าสหรัฐฯ จริงจังกับปัญหาภาวะอากาศเปลี่ยนเเปลงผิดธรรมชาติ
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สิ่งท้าทายที่เกิดขึ้นจากปัญหาสภาพอากาศมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่เห็นจากเหตุการณ์ไฟป่า ภัยเเล้งขั้นรุนเเรง และพายุที่สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ ในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าความตกลงกรุงปารีสเมื่อปี ค.ศ. 2015 หรือเมื่อหกปีก่อน ได้ตั้งเป้าการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนไว้
ผู้เชี่ยวชาญ เรเชล คลีตัส แห่ง Union of Concerned Scientists กล่าวว่า อุณหภูมิโลกยังคงสูงขึ้น และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง เธอกล่าวว่าคนจำนวนมากเชื่อว่าทศวรรษนี้คือสิบปีที่จะเป็นตัวตัดสินความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการเเก้ปัญหาภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ
เดวิด วาสโควจาก World Resources Institute กล่าวว่า หากยังไม่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตอนนี้ จะยากมาถ้าต้องมาเเก้ปัญหาอีก 10 ปีจากนี้
นักรณรงค์เพื่อสิ่งเเวดล้อมเรียกร้องให้ประธานาธิบดีไบเดนประกาศเป้าการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่อเมริกาปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ลงครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030 และทำเนียบขาวกล่าวว่าจะประกาศเป้าหมายดังกล่าวก่อนวันประชุมสุดยอด
ประธานาธิบดีไบเดน หวังว่าธุรกิจจากพลังงานสะอาด จะสร้างงานตำแแหน่งใหม่ๆให้กับคนอเมริกันที่ไม่สามารถถูกเเย่งไปได้โดยเเรงงานในต่างประเทศ โดยจะสอดคล้องกับแผนงบประมาณยกระดับสาธารณูปโภคพื้นฐานมูลค่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ที่เขาพยายามผลักดัน
อย่างไรก็ตามเกิดเสียงคัดค้านจากพรรครีพับลิกันขึ้นเเล้ว
วุฒิสมาชิก จอห์น ธูน สังกัดรีพับลิกัน จากรัฐเซาธ์ดาโกตาเเสดงความกังวลถึงภาระด้านการคลังที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหมายถึงภาษีต่อประชาชนที่อาจจะเพิ่มขึ้น
ด้วยเหตุนี้ผู้เชี่ยวชาญ โจเซฟ มาจคุต จาก Niskanen Center กล่าวว่า จะต้องมีการผ่านด่านทางการเมืองเสียก่อน เพื่อที่สหรัฐฯจะได้จัดสรรงบประมาณมาสนับสนุนโครงการด้านสิ่งเเวดล้อมได้
นอกจากนี้ ทุกสายตายังจับจ้องไปที่จีน อินเดีย และประเทศต้นทางรายใหญ่ของมลพิษประเทศอื่นๆ ว่าจะมีการประกาศแผนแก้ปัญหาภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรม หรือไม่ก่อนการประชุมใหญ่ของสหประชาชาติในหัวข้อนี้ หรือ United Nations Climate Change Conference (COP26)​ เดือนพฤศจิกายน ที่เมืองกลาสโกวประเทศสก็อตเเลนด์
ที่มา: VOA Thai