เช็คลิสต์ก่อนซื้อประกันสุขภาพ - ประกันมะเร็ง “เลือก” อย่างไร ให้คุ้มค่า

แน่ใจแล้วหรือ? ว่าประกันสุขภาพ และ ประกันมะเร็งที่ซื้อไป เป็นประกันฯ ที่เหมาะกับคุณจริง ๆ ? ไปเช็คลิสต์กันดีกว่าว่า วิธีที่ควรใช้คัดเลือกประกันฯ ทั้งสองประเภทนี้ ต้องดูเรื่องอะไรกันบ้าง

1. “วงเงินความคุ้มครอง” เหมาะสม

หากต้องการให้ประกันสุขภาพ ครอบคลุมค่าใช้จ่ายการรักษา ทั้งโรคทั่วไป โรคร้ายแรง และช่วยให้คุณสามารถเข้าถึงนวัตกรรมการรักษารูปแบบใหม่ที่ดียิ่งขึ้นได้ในอนาคต แนะนำว่าคุณอาจต้อง “เลือก” แบบประกันฯ ที่มีความคุ้มครองขั้นต่ำราว 3 – 5 ล้านบาท ก็จะช่วยให้สบายใจยิ่งขึ้นเมื่อเข้ารับการรักษา

2. “ค่าห้องพัก” ใกล้เคียงกับ รพ. ที่ใช้ประจำ

ค่าห้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ มีความแตกต่างกันมาก  โดยโรงพยาบาลรัฐฯ จะมีค่าห้องผู้ป่วยปกติอยู่ที่ประมาณ 2,500 -3,500 บาทต่อคืน ส่วนโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ จะอยู่ที่ประมาณ 8,000 บาทต่อคืนขึ้นไป

ดังนั้นควรดูให้ดีว่า กรมธรรม์ที่เลือก มีวงเงิน “ค่าห้อง” สอดคล้องกับโรงพยาบาลที่ใช้ประจำหรือเปล่า

3. ไม่ปฏิเสธการต่ออายุ

คุณอาจเคยได้ยินว่ามีคนถูกบริษัทประกันปฏิเสธการต่ออายุความคุ้มครอง ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากเราพบว่าเป็นโรคร้ายแรงแล้ว และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะเริ่มทำประกันใหม่กับบริษัทอื่น เพื่อให้มีความคุ้มครองครบถ้วนหลังจากที่มีประวัติโรคร้ายแรง

ดังนั้น จึงควรเลือกทำประกันที่ไม่ปฏิเสธการต่ออายุ เพื่อเป็นหลักประกันว่าเรายังมีความคุ้มครองต่อเนื่องได้ตลอดการรักษาตัว

4. ค่าเบี้ยฯ หลังเกษียณไม่แพงก้าวกระโดด

หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่า ค่าเบี้ยฯ หลังเกษียณอายุ 55 ปี หรือ 60 ปี ไปจนถึงเสียชีวิตหรือสิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครองสูงสุด จะต้องเตรียมเงินล่วงหน้าไว้เท่าไหร่… รู้หรือไม่ว่า ยิ่งอายุมากขึ้น ค่าเบี้ยฯ ก็มักจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ดังนั้นอย่าลืมดูค่าเบี้ยฯ ให้ดี

4.1 เลือกกรมธรรม์ทั้งแบบจ่ายเงินก้อน + แบบจ่ายวงเงินค่ารักษาฯ

โดยหลักแล้ว ความคุ้มครองจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

แบบจ่ายเงินก้อน : ได้รับเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง

แบบจ่ายวงเงินค่ารักษาฯ : คุ้มครองการรักษาฯ ตามวงเงินที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม แนะนำว่าคุณควรมีทั้งกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองแบบ เงินก้อนและ วงเงินค่ารักษาฯ เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ที่คุณจำเป็นต้องมี “เงินก้อน” เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำรอง และจำเป็นต้องมี “เงินค่ารักษาพยาบาล” ในระหว่างที่รักษาตัว

4.2 ตรวจสอบการปรับขึ้นของค่าเบี้ยฯ 

ลักษณะการคิดค่าเบี้ยประกันรายปี มีด้วยกัน 2 รูปแบบ ได้แก่

– ค่าเบี้ยประกันแบบคงที่

– ค่าเบี้ยประกันแบบปรับเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ

แนะนำให้เลือกค่าเบี้ยประกันแบบคงที่ จะคุ้มค่ากว่า เนื่องจากหากคุณทำประกันประเภทนี้ตอนอายุยังน้อย ค่าเบี้ยประกันก็จะยิ่งถูก และจะช่วยให้วางแผนการเงินในระยะยาวได้ชัดเจนขึ้นว่า ต้องเตรียมเงินค่าเบี้ยประกันไว้เท่าไหร่

4.3 สำรวจข้อยกเว้น ว่าไม่คุ้มครองมะเร็งชนิดใด

สิ่งที่จะลืมไม่ได้อีกเรื่องก็คือ การตรวจเช็กข้อยกเว้นความคุ้มครองของกรมธรรม์ให้ดี ว่าครอบคลุมการเป็นมะเร็งชนิดใดบ้าง เพราะบางกรมธรรม์ อาจจะไม่คุ้มครองหากเป็นมะเร็งผิวหนัง เป็นต้น

ตรวจเช็คลิสต์ให้ละเอียดก่อนซื้อ ประกันฯ ที่คุณเลือก ใช่แบบที่ตอบโจทย์จริงหรือไม่ ถึงเวลาเปลี่ยนความคิดเรื่องประกัน เลือกกรมธรรม์ที่ใช่สำหรับคุณ !!

TISCO Advisory

ที่มา : https://www.tisco.co.th/th/advisory/2020-12-16-checklist-health-cancer-insurance.html

iran-israel-war