ถอดรหัส “Cut Loss” เมื่อหุ้นไม่ได้มีแต่ช่วงขาขึ้น

“การขายตัดขาดทุน” หรือ “Cut Loss” เป็นหนึ่งในแนวทางที่ช่วยบรรเทาอาการบาดเจ็บจากภาวะตลาดหุ้นที่ไม่เป็นไปตามคาด แต่การจะตัดสินใจทำให้ได้จริงๆในสถานการณ์ที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลง บางครั้งก็เป็นเรื่องยาก นักลงทุนเองก็อาจยังลังเลเพราะยังมีคำถามในใจว่าควรจะทำจริงหรือเปล่า ดังนั้น เราจึงลองรวบรวมปัญหาคาใจต่างๆ เกี่ยวกับการ “Cut Loss” พร้อมทั้งแชร์ไอเดีย ซึ่งน่าจะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

การขายตัดขาดทุน (Cut Loss) ควรทำในกรณีใดบ้าง ?

การขายตัดขาดทุน คือ การบริหารความเสี่ยงจากการลงทุนในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ตรงกันข้ามกับสิ่งที่คาดหวังไว้ 

ยกตัวอย่าง เช่น เราลงทุนซื้อหุ้น AAA ที่ราคา 100 บาท คาดหวังราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นไปที่ 120 บาทเพื่อขายทำกำไร แต่ราคาหุ้นไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวังไว้ กลับปรับตัวลงเป็น 90 บาท คำถามก็คือจะตัดสินใจอย่างไรกับการลงทุนหุ้นตัวนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากราคาหุ้นตัวนั้นยังมีแนวโน้มปรับตัวลงต่อเนื่อง

ก่อนอื่นอยากให้ลองถามตัวเองก่อนว่าเราเป็นนักลงทุนประเภทไหน หลักๆ คงจะพอแบ่งเป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือ

  1. นักลงทุนสายปัจจัยเทคนิคที่เน้นการลงทุนระยะสั้น
  2. นักลงทุนสายปัจจัยพื้นฐานที่เน้นการลงทุนระยะยาว

สำหรับนักลงทุนสายปัจจัยเทคนิคอาจกำหนดการขายตัดขาดทุนจากระดับผลขาดทุนที่ยอมรับได้เป็นค่าตายตัว เช่น -3% , -5% หรือ -10% เป็นต้นโดยหากเกิดผลขาดทุนแตะระดับดังกล่าวแล้วจะตัดสินใจขายตัดขาดทุน

ขณะที่บางท่านอาจจะกำหนดการขายตัดขาดทุน จากการที่ราคาหุ้นหลุดแนวรับสำคัญ หรือเครื่องชี้ทางเทคนิคเกิดสัญญาณขายก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบใดสิ่งที่ต้องตระหนักไว้เสมอ คือ 1. ต้องมีแผนการลงทุนที่ชัดเจนล่วงหน้าเสมอ 2. ไม่มีเทคนิควิธีไหนที่ดีที่สุดหรือได้ผล 100% และ 3. ต้องมีวินัยการลงทุนเพราะจะทำให้อยู่รอดในตลาดได้ในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม หากเป็นนักลงทุนสายปัจจัยพื้นฐาน การขายตัดขาดทุนจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นที่ขึ้นหรือลงในแต่ละวัน แต่จะให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยพื้นฐานที่ไม่ได้เป็นไปอย่างที่มองไว้ เพราะฉะนั้นแม้ราคาหุ้นปรับตัวลงแต่ปัจจัยพื้นฐานไม่เปลี่ยนแปลงหรือเป็นเพียงผลกระทบที่เกิดขึ้นชั่วคราวก็ไม่จำเป็นต้องตัดสินใจขายตัดขาดทุน แต่อาจมองเป็นจังหวะซื้อเพิ่มก็ได้

คำกล่าวที่ว่า “ไม่ขาย = ไม่ขาดทุน” เป็นจริงแค่ไหน ?

ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน เพราะคำว่า “ไม่ขาย = ไม่ขาดทุน” ในความเป็นจริง ก็คือ ต้องยอมรับว่าผลขาดทุนเกิดขึ้นแล้ว เพียงจะรับรู้ผลขาดทุนเมื่อใดเท่านั้นเอง ทั้งนี้ผลขาดทุนดังกล่าวอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ในอนาคต ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนอาจต้องใช้โชคช่วย

Cut Loss แล้วกลับมาซื้อหุ้นเดิม VS ถือหุ้นรอจนกว่าราคาจะปรับตัวขึ้น

โดยปกติการขายตัดขาดทุนไปก่อนแล้วค่อยจับจังหวะเข้ามาซื้อหุ้นตัวเดิมในช่วงที่มีสัญญาณขึ้นมักจะเน้นที่การลงทุนระยะสั้นมากกว่าระยะยาว และต้องเป็นนักลงทุนที่มีเวลามีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญสูง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนการถือหุ้นตัวเดิมรอไปเรื่อยๆ จนกว่าราคาจะปรับตัวขึ้นเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่าแต่ต้องเป็นการลงทุนระยะยาวและต้องอยู่กับหุ้นพื้นฐานที่มีการเติบโตด้วย มีการศึกษาในเชิงประจักษ์แล้วว่าปัจจัยพื้นฐานเป็นตัวขับเคลื่อนราคาหุ้นในระยะยาว

ดังนั้น แม้ราคาหุ้นที่ซื้ออาจสูงไปสักหน่อยจนบางครั้งความผันผวนของตลาดทำให้เกิดผลขาดทุนขึ้นได้ในระยะสั้น แต่ในที่สุดคาดว่าราคาหุ้นจะปรับตัวสูงขึ้นสะท้อนพื้นฐานและการเติบโตของบริษัทในระยะยาว

แนวทางคำตอบเหล่านี้อาจจะไขปัญหาคาใจสำหรับนักลงทุนได้บ้าง แต่สำคัญที่สุดก็คือ นักลงทุนจะต้องทำความเข้าใจกับแนวทางการลงทุนของตัวเอง ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ควบคู่กับการวางแผนไว้ล่วงหน้า และลงทุนอย่างมีวินัย ซึ่งจะเป็นหนทางที่ช่วยสร้างผลตอบแทนไปจนถึงเป้าหมายได้ในที่สุด

ที่มาบทความ : https://www.facebook.com/tiscomastery/