กองทุนแบบ Double Shark Fin เงินต้นไม่หาย...หุ้นบวกกำไร หุ้นร่วงได้เงิน
เงินต้นก็กลัวหาย กำไรก็อยากได้ …ทำไงดี?” กองทุนแบบ Double Shark Fin คือคำตอบที่ธนาคารทิสโก้แนะนำ เพราะกองทุนรูปแบบนี้สามารถลดความเสี่ยงเรื่องเงินต้นหาย แถมยังมีโอกาสทำกำไร ไม่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง อีกด้วย … กองทุนแบบนี้มีด้วยเหรอ?

ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นมีความผันผวน คาดการณ์ทิศทางได้ยาก หลายคนอาจพยายามแก้ปัญหาโดยการใช้ “วิธีแบบดั้งเดิ” ด้วยการลดสัดส่วนการลงทุนหุ้นลง และหันมาซื้อตราสารหนี้ หรื หุ้นกู้ให้มากขึ้น แต่ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ก็ต้องยอมรับว่า แม้จะเป็นการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ ก็สามารถทำให้ขาดทุนได้ 

ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นในปี 2565 ก็ได้ส่งผลให้ราคาตราสารหนี้ปรับตัวลดลง จนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการขาดทุนนั่นเอง

ขณะเดียวกันหากลงทุนในตราสารหนี้ โดยคาดหวังที่อัตราผลตอบแทน ก็ต้องยอมรับว่าตอนนี้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อไปแล้ว ดังนั้นจึงถือว่าการลงทุนโดยเน้นตราสารหนี้ หรือ หุ้นกู้เพียงอย่างเดียว ยังคงไม่ตอบโจทย์แผนการเงินหลังเกษียณที่ต้องเน้น “รักษาเงินต้น” รวมถึงการ “สร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม

ด้วยเหตุนี้เอง การลงทุนด้วย “วิธีแบบใหม่” ผ่านกองทุนแบบ Double Shark Fin จึงเหมาะกับการแก้ปัญหา ของผู้ที่ต้องการรักษาเงินต้น ควบคู่ไปกับการเพิ่มศักยภาพในการสร้างกำไร ทั้งในช่วงที่ตลาดหุ้นขาขึ้น และ ตลาดขาลง ได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับการลงทุนแบบดั้งเดิม

กองทุน Double Shark Fin คืออะไร?

กองทุน Double Shark – Fin เป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนผสมผสาน 2 สินทรัพย์ ระหว่างตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ และ Options หรือตราสารสิทธิซึ่งเป็นอนุพันธ์รูปแบบหนึ่ง โดยทั้งสองผลิตภัณฑ์สามารถออกแบบการลงทุนเพื่อให้การลงทุนใน Double Shark – Fin เปรียบเสมือนกับการลงทุนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับการคุ้มครองเงินต้น (Capital Protection) ได้ ขณะเดียวกันสามารถสร้างผลตอบแทนด้วย Options ที่ราคาของตราสารจะมีการเคลื่อนไหวขึ้นหรือลงตามราคาของสินทรัพย์อ้างอิงได้

วิธีการสร้างคุณสมบัติ Capital Protection ของ Double Shark – Fin ด้วยตัวอย่างสำหรับกองทุนที่มีอายุ 1 ปี จะนำเงินลงทุนประมาณร้อยละ 98 – 99 ไปลงทุนในตราสารหนี้อย่างพันธบัตรหรือหุ้นกู้เอกชนคุณภาพดีที่อยู่ในกลุ่ม Investment Grade (IG) และอายุคงเหลือของตราสารเทียบเท่า 1 ปี โดยในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ในกลุ่ม IG ของไทยอยู่ที่ 1.8 – 2.2% โดยเฉลี่ย ดังนั้นเมื่อลงทุนครบ 1 ปี การลงทุนในตราสารด้วยมูลค่าของเงินลงทุนร้อยละ 98 – 99 จะเพิ่มขึ้นไปที่ร้อยละ 100 หรือเท่ากับมูลค่าเงินต้น ณ วันลงทุน ซึ่งการลงทุนในหุ้นกู้ IG ที่มีความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ต่ำ ก็เปรียบเสมือนการสร้างรูปแบบการปกป้องเงินต้นนั่นเอง

ส่วนคุณสมบัติที่สอง คือ การสร้างผลตอบแทนด้วยสินทรัพย์อ้างอิงด้วย Options ด้วยตัวอย่างกองทุนอายุ 1 ปีเช่นเดิม จะนำเงิน 1 – 2% ที่คงเหลือจากการลงทุนในตราสารหนี้ ไปลงทุน Options เพิ่มเติม ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนได้เมื่อราคาสินทรัพย์อ้างอิงเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ขึ้นอยู่กับรูปแบบของ Options ที่เข้าลงทุนเพราะตราสารประเภทนี้สามารถบริหารให้ได้กำไรได้ทั้งแนวโน้มราคาสินทรัพย์อ้างอิงขาขึ้นและขาลง หรือทำกำไรได้ทั้ง 2 ทาง แต่อาจมีเงื่อนไขเพิ่มเติม เช่น การกำหนดอัตราการมีส่วนร่วม (Participation Rate: PR) โดยจะนำมาคำนวณหาผลตอบแทนสุทธิให้ผู้ลงทุนจากส่วนต่างราคาสินค้าอ้างอิงตั้งแต่เริ่มต้นตั้งกองทุนจนถึงวันสิ้นสุดกองทุน หรือหากระดับราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงเกินกว่ากรอบที่กำหนดไว้ (Knock-out Barrier) ผู้ลงทุนอาจได้รับเพียงผลตอบแทนชดเชย (Rebate) ที่ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์แต่ไม่ขาดทุน

ยกตัวอย่างกองทุน Double Shark – Fin อายุ 1 ปี สินทรัพย์อ้างอิง คือ ดัชนี S&P500 โดยกำหนด Knock – out Barrier) ช่วงส่วนต่างราคา -20% ถึง +20% ด้วย PR = 50% และมี Rebate = 0.25% จะมีโอกาสออกผลลัพธ์ได้ 2 กรณีหลัก ๆ คือ กรณีที่ 1: กรณีที่ราคาเคลื่อนไหวไม่เกิน Knock-out Barrier เช่น หากดัชนี S&P500 ปรับเพิ่มขึ้น +15% คูณด้วย PR 50% ผู้ลงทุนได้ผลตอบแทนสุทธิ 7.5% แม้ว่าจะรับผลตอบแทนน้อยกว่าการลงทุนในดัชนี S&P500 แบบปกติที่ควรจะได้ +15% แต่หากดัชนี S&P500 ครบ 1 ปีลดลง -20% ผู้ลงทุน Double Shark – Fin จะได้รับผลตอบแทนเท่ากับ 20% คูณด้วย PR 50% เท่ากับผลตอบแทนสุทธิของกองทุนเท่ากับ 10% ขณะที่กรณีทั่วไปเมื่อลงทุนในดัชนี S&P500 ตามปกติผู้ลงทุนต้องขาดทุนถึง –20% ซึ่งเป็นข้อดีของกองทุนที่สามารถปิดโอกาสขาดทุนจากการลงทุนได้

กรณีที่ 2: กรณีที่เกิน Knock-out Barrier ภายใน 1 ปี หากดัชนี S&P500 ลดลงหรือเพิ่มขึ้นสูงกว่า 20% ภายใน 1 ปี ผู้ลงทุนจะได้ Rebate เพียง 0.25% ของเงินลงทุน ซึ่งหากวาดแผนภาพจำลองผลตอบแทนในแต่ละกรณีจะมีรูปแบบคล้ายกับครีบฉลาม 2 อันตามชื่อ Double Shark – Fin นั่นเอง ทั้งนี้ในความเป็นจริงรายละเอียดของเงื่อนไขผลตอบแทนขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนแต่ละแห่งเป็นผู้กำหนดซึ่งมีความแตกต่างออกไปได้จากตัวอย่างนี้

จะเห็นได้ว่าความน่าสนใจของกองทุน Double Shark – Fin นั่นคือเสมือนคุ้มครองเงินต้นพร้อมเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ ณ ระยะเวลาการลงทุนและความเสี่ยงของตราสารเท่ากัน อีกทั้งไม่ต้องจับจังหวะการลงทุนเพราะสามารถทำกำไรทั้งราคาขาขึ้นและขาลงได้ 

ตัวอย่างการกำหนดผผลตอบแทนให้ผู้ลงทุนสำหรับกองทุน Double Shark – Fin 

Double Shark Fin เหมาะกับใคร? 

ธนาคารทิสโก้แนะนำ กองทุนแบบ Double Shark Fin นี้ ให้กับ กลุ่มลูกค้าดังนี้

  1. ลูกค้าที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ
  2. กลุ่มลูกค้าใกล้จะเกษียณ และลูกค้าที่เกษียณอายุ

เนื่องจาก นักลงทุนกลุ่มนี้ ยังคงต้องการลงทุนในกองทุนที่มีศักยภาพด้านการสร้างกำไร ในขณะเดียวกันก็มีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้ต่ำ ไม่ต้องการสูญเสียเงินต้น เพราะจะต้องนำเงินที่เก็บออมมาตลอดการทำงานมาใช้ในการดำรงชีวิตหลังจากนี้ หากเงินต้นดังกล่าวลดลงอาจทำให้เงินสำหรับใช้หลังเกษียณหมดเร็วกว่าแผนที่วางไว้  

 กองทุนแบบ Double Shark Fin เงินต้นไม่หาย หุ้นบวกกำไร หุ้นร่วงได้เงินใช่คำตอบของคุณหรือเปล่า ?

=============================

TISCO Advisory

ที่มาบทความ: https://www.tiscowealth.com/article/investment-advisory.html