สืบนื่องจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา มีสาระสำคัญ คือ การเพิ่มค่าชดเชยของลูกจ้าง ซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปี ให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน หรือ 13.3 เดือน (จากกฎหมายฉบับเดิมที่ได้รับค่าชดเชย 300 วัน หรือ 10 เดือน) โดยผลการพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชี เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 มีมติเห็นว่า

  1. กรณีเป็นกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ หรือ กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะที่ถือปฎิบัติตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 19 เรื่อง ผลประโยชน์ของพนักงาน (“กิจการ”) ย่อหน้าที่ 103.1 ระบุว่า กิจการต้องรับรู้ต้นทุนบริการในอดีตเป็นค่าใช้จ่ายเมื่อมีการแก้ไขโครงการ ดังนั้นกิจการจะรับรู้ต้นทุนบริการในอดีตเป็นค่าใช้จ่ายทั้งจำนวนในกำไรหรือขาดทุนในปี 2561 หรือปี 2562 ขึ้นอยู่กับการใช้ดุลยพินิจของกิจการในการพิจารณาว่าการแก้ไขโครงการเกิดขึ้นในปีใด
  2. กรณีเป็นกิจการไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (NPAEs) ให้กิจการตั้งประมาณการหนี้สินตามดุลยพินิจของฝ่ายบริหารในงวดที่เกิดภาระผูกพันขึ้น (ตามหลักการรับรู้รายการในย่อหน้าที่ 304 ของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน สำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ) โดยบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายทั้งจำนวนในกำไรหรือขาดทุน

ตามข้อความข้างต้น จะสังเกตเห็นว่า การจะรับรู้ร่างกฎหมายใหม่นี้ ลงบัญชีในปีใด ก็ขึ้นกับดุลยพินิจของบริษัทว่าการแก้ไขโครงการเกิดขึ้นในปีใดสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ หรือ กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ หรือขึ้นกับดุลยพินิจของฝ่ายบริหารในงวดที่เกิดภาระผูกพันขึ้นสำหรับกิจการไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม ถ้าบริษัทต้องการไปรับรู้ในปี 2562 แล้ว นั่นก็หมายความว่าในปี 2561 จะยังไม่มีการรับรู้แต่ควรให้เปิดเผยตัวเลขผลกระทบในหมายเหตุประกอบงบว่าจะเป็นเท่าไรแทน และเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้จริงในปี 2562 จึงค่อยเปลี่ยนคำนวณรับรู้ตัวเลขการคำนวณแบบ 400 วันแทน

ปัญหาอยู่ที่ว่า ถ้าต้องคำนวณ 400 วัน พร้อมกันใหม่ทั้งหมดในวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ก็คงจะทำไม่ทันกันพอดี ดังนั้น บทความนี้จึงเสนอวิธีการเตรียมพร้อมการลงบัญชีตามกฎหมายใหม่ 400 วัน ที่มีความแม่นยำถูกต้อง และยังสามารถคำนวณเผื่อไว้ล่วงหน้าได้

โดยหากจะต้องมีการปรับปรุงงบการเงินสำหรับ “การบันทึกบัญชี จาก 300 วันเป็น 400 วัน” นั้น ทางผมขออธิบายง่ายๆ ให้ทุกคนเข้าใจว่า ถ้าในอดีตบริษัทมีการคำนวณผลประโยชน์พนักงานแบบ 300 วันมาก่อนแล้ว หากเมื่อมีการประกาศบังคับใช้กฎหมายในไตรมาสใด บริษัทจะต้องปรับการบันทึกบัญชีจากตัวเลขเดิมของ 300 วัน ไปเป็นตัวเลขที่ได้จากการคำนวณใหม่แบบ 400 วันทันทีในไตรมาสนั้นที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งจากการคาดการว่า คงเป็นไตรมาส 1 หรือไม่ก็ไตรมาส 2 ของปี 2562 นี้

ในทางปฏิบัติ เราก็จะคำนวณภาระผูกพันผลประโยชน์พนักงานแบบ 400 วันไว้ล่วงหน้า โดยจะเลือกวันประเมินเดียวกันกับที่เคยประเมินแบบ 300 วัน เนื่องจากเวลาประเมินไปข้างหน้า จะได้นำตัวเลขในหมายเหตุประกอบงบ ณ วันที่ปิดงบในแต่ละปีข้างหน้ามาใช้ได้ด้วย และในวันที่ประกาศกฎหมาย 400 วันมีผลบังคับใช้ บริษัทก็สามารถผูกการคำนวณจากเล่มรายงานแบบ 300 วัน ให้กลายเป็นแบบ 400 วันได้ไม่ยาก เปรียบเหมือนถนน 2 เส้น และเปลี่ยนเลนส์กลางทาง (เช่น ที่ไตรมาส 1 หรือ ไตรมาส 2 เป็นต้น)

แต่หากไม่ทราบว่าจะต้องบันทึกบัญชีในเวลานั้นอย่างไร ก็สามารถดาวน์โหลดไฟล์พร้อมคำอธิบายได้ที่ https://actuarialbiz.com/th/knowledgedetails/120 ได้เลยครับผม