FINNOMENA 3D Diagram คืออะไร? มีไว้ทำอะไร? คำนวณมาจากไหน? บทความนี้จะมาเจาะลึกให้ฟัง เพื่อให้นักลงทุนหรือผู้ที่กำลังศึกษาเรื่องการลงทุนอยู่ สามารถนำเครื่องมือตัวนี้ไปใช้ประกอบการตัดสินใจ ในการเลือกกองทุนที่ดีที่สุดให้กับพอร์ตของคุณได้

ผู้เขียนหวังว่า นอกจากจะรู้ที่มาว่า 3D Diagram มาจากไหนแล้ว ผู้อ่านจะได้รับความรู้เกี่ยวกับตัวเลขสำคัญๆ ที่ใช้เป็นมาตรฐานในการวัดประสิทธิภาพของกองทุนรวมไม่มากก็น้อยครับ

FINNOMENA 3D Diagram คืออะไร? มีไว้ทำอะไร?

3D Diagram เป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่ FINNOMENA พัฒนาขึ้น เพื่อใช้เป็น ‘ตัวช่วย’ ให้กับนักลงทุนในการคัดเลือกกองทุนที่ดีที่สุดในกลุ่มที่คุณสนใจ โดยโมเดลจะใช้การวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative) ซึ่งหมายถึงการใช้ข้อมูลที่เป็นตัวเลขต่างๆ มาวัดประสิทธิภาพการดำเนินงานของกองทุนนั้นๆ จากนั้นนำมาเปรียบเทียบกับตัวเลขของกองทุนในหมวดเดียวกันแล้วเปลี่ยนให้กลายเป็น Diagram 

ตัวเลขที่ FINNOMENA คัดเลือกมาใช้คำนวณเป็น 3D Diagram คือตัวแปรสำคัญที่ใช้วัดการดำเนินของกองทุนกันเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว โดยตัวแปรที่ FINNOMENA เลือกนำมาวิเคราะห์มีอยู่ 3 ตัวแปรด้วยกัน ได้แก่ Past Performance, Risk Adjusted Return และ Maximum Drawdown ซึ่งเดี๋ยวเราจะไปลงรายละเอียดกันทีละตัวครับ

สาเหตุที่ FINNOMENA แปลงตัวเลขเหล่านี้ให้กลายเป็น Diagram เพื่อให้นักลงทุนนำไปใช้งานได้ง่าย กองทุนรวมทั้งประเทศมีเป็นพันกอง ถ้าวิเคราะห์เฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมก็ต้องเปรียบเทียบกันเป็นหลักสิบกอง การนำตัวเลขยิบย่อยมาเปรียบเทียบกันทีละค่าค่อนข้างยุ่งยาก เราจึงแปลงตัวเลขให้กลายเป็นภาพให้สามารถเปรียบเทียบกันได้ง่าย โดยยิ่งกองทุนไหนมีพื้นที่สีฟ้าบน Diagram มาก กองทุนนั้นยิ่งดี ถ้านึกภาพไม่ออก อาจจะลองนึกภาพเป็นค่าสถานะของนักเตะในเกมก็ได้ครับ

ถ้านักเตะคนไหนมีค่าสถานะสูง ก็สามารถบอกได้ระดับนึงว่านักเตะคนนั้นเก่ง ถ้าเลือกมาเข้าทีมน่าจะดี FINNOMENA 3D Diagram ก็ตั้งใจให้เป็นแบบนั้นครับ ถ้าค่าสถานะของกองทุนไหนสูง ก็แสดงว่ากองทุนนั้นดี ซึ่งดีในที่นี้ไม่ได้ถูกตัดสินโดย FINNOMENA แต่ตัดสินโดยตัวเลขต่างๆ ซึ่งวัดจากผลการดำเนินงานของกองทุนนั้นๆ เอง เพราะฉะนั้นจะไม่ได้มีการ bias จาก FINNOMENA แน่นอน

อย่างไรก็ตาม การเข้าใจที่มาที่ไปของตัวเลขใน Diagram ก่อน จะทำให้เราสามารถนำ 3D Diagram ไปใช้คัดเลือกกองทุนเข้าพอร์ตได้อย่างถูกต้องครับ

เจาะลึกแต่ละด้านของ 3D Diagram

FINNOMENA 3D Diagram แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ส่วนที่แสดง Performance ของกองทุนนั้นๆ ซึ่งเป็นแสดงเป็นพื้นที่สีฟ้า อีกส่วนนึงคือ ส่วนที่เป็นค่าเฉลี่ย Performance ของกองทุนในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งแสดงเป็นเส้นประ ยิ่งพื้นที่สีฟ้าห่างจากเส้นประมากเท่าไรยิ่งดี และยิ่งพื้นที่สีฟ้าขยายเต็มสามเหลี่ยมมากเท่าไรยิ่งดี

ส่วนตัวแปรทั้ง 3 ตัวที่อยู่ตรงมุมของ 3D Diagram แต่ละตัวมีความสำคัญอย่างไร ทำไมถึงเอามาวัดประสิทธิภาพของกองทุนได้ มีอธิบายในพาร์ทถัดไปครับ

Past Performance

ตัวแปรแรก Past Performance แปลไทยคือ ‘ผลการดำเนินงานย้อนหลัง’ ตัวแปรนี้มีความสำคัญในตัวอยู่แล้ว เพราะคนเข้ามาลงทุนก็ต้องการผลตอบแทนกันทั้งนั้น กองทุนไหนทำผลตอบแทนได้ดีก็หมายความว่า กองทุนนั้นทำหน้าที่ได้ดีแล้วในฐานะที่เกิดมาเป็นกองทุน และการดูผลการดำเนินงานย้อนหลังเราควรดูหลายๆ ช่วงเวลา เช่น 1 ปี, 3 ปี, 5 ปี เพื่อที่จะพิสูจน์ว่ากองทุนนั้นทำผลตอบแทนได้ดีเพราะฝีมือจริงๆ ไม่ใช่เพราะโชคช่วย

ข้อดีข้อหนึ่งที่ผมเห็นจากการดู Past Performance บน 3D Diagram คือ บางช่วงเวลาที่ตลาดเป็นขาลง หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่กองทุนทั้งกลุ่มจะขาดทุน เราสามารถรู้ได้ว่ากองทุนไหนที่ทำผลงานได้ดีกว่าค่าเฉลี่ย โดยดูจากพื้นที่สีฟ้าที่เกินเส้นประออกมา ทำให้เราวางใจได้ว่าถึงแม้จะขาดทุน แต่กองทุนที่เราเลือกก็ขาดทุนน้อยกว่ากองทุนส่วนใหญ่ในกลุ่มเดียวกัน

Risk Adjusted Return

การลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ เพราะฉะนั้นเราจะดูแค่ผลตอบแทนไม่ได้ เราจำเป็นต้องเข้าใจความเสี่ยงที่มาพร้อมกันด้วย เป็นที่มาของอีกตัวเลขนึงที่เอามาคำนวณ คือ ค่า Risk Adjusted Return หรือ ‘ผลตอบแทนปรับด้วยความเสี่ยง’ ซึ่งค่า Risk Adjusted Return นี้สามารถวัดได้หลายวิธี แต่วิธีที่นิยมคือการวัดด้วย Sharpe Ratio ซึ่งคิดค้นโดย William Forsyth Sharpe จาก Stanford University และนี่คือสูตรที่ใช้คำนวณ

R (Return) คือ ผลตอบแทนที่กองทุนทำได้

Rf (Risk-free Return) คือ ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ไม่เสี่ยง ปกติจะใช้ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลมาเป็นตัวแทนของค่า Rf นี้

σ (Standard Deviation) คือ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของสินทรัพย์ที่กองทุนไปลงทุน ใช้เป็นตัวแทนของความเสี่ยง ยิ่งราคาผันผวนมาก แปลว่ายิ่งเสี่ยงมาก

ค่า Sharpe Ratio เป็นตัวเลขไม่มีหน่วย และใช้เปรียบเทียบได้เฉพาะกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ใกล้เคียงกันเท่านั้น ตัวอย่างเช่น กองทุน A และกองทุน B ลงทุนในหุ้นไทยทั้งคู่ ถ้ากองทุน A มีค่า Sharpe Ratio เท่ากับ 0.77 และกองทุนมีค่า Sharpe Ratio เท่ากับ 0.48 ข้อมูลตรงนี้จะตีความได้ 2 แบบคือ กองทุน A สามารถทำผลงานได้ดีกว่ากองทุน B โดยมีความเสี่ยงเท่ากัน หรือไม่ก็กองทุน A ทำผลงานได้พอๆกับกองทุน B แต่ใช้ความเสี่ยงน้อยกว่า ซึ่งทำให้มีค่า Sharpe Ratio สูงกว่าเป็นต้น

สรุปคือ ถ้า Past Performance ใช้ดูว่ากองทุนทำผลงานได้ดีมั้ย Risk Adjusted Return ก็ใช้ดูว่ากองทุนที่ทำผลงานได้ดีนั้นจะต้องไม่ลงทุนแบบเสี่ยงเกินไปนั่นเอง

Maximum Drawdown

ตัวแปรสุดท้ายคือค่า Maximum Drawdown หรือ ‘ผลขาดทุนสูงสุดในอดีตของกองทุน’ เช่นเดียวกับ Past Permance และ Risk Adjusted Return ค่า Maximum Drawdown ก็เป็นตัวแปรสำคัญใช้วัดประสิทธิภาพการดำเนินงานของกองทุน โดยค่านี้ยิ่งน้อยยิ่งดี ยิ่งมากยิ่งแย่ (ใน 3D Diagram ถ้าพื้นที่มากแสดงว่าค่า Maximum Drawdown น้อย) ถามว่าทำไมค่านี้ถึงสำคัญ ลองดูตารางข้างล่างจะช่วยให้เห็นภาพมากขึ้นครับ

ภาพจากบทความ ทำไมเราต้องหลีกเลี่ยง “ขาดทุนหนัก” ให้ได้

ตารางนี้บอกเราว่า หลังจากเราขาดทุน เราต้องทำกำไรเท่าไรเงินถึงจะกลับมาที่เดิม สังเกตว่าถ้าหากเราควบคุมการขาดทุนหนักได้ การทำกำไรกลับมา 10% หรือ 20% ก็ดูเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่ถ้าหากเราขาดทุนหนัก เช่นขาดทุนไป 50% ของพอร์ต เราต้องทำกำไรถึง 100% พอร์ตถึงจะกลับมาที่เดิม ซึ่งดูเป็นเรื่องที่ยากมากๆ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องควบคุมการขาดทุน หรือ Drawdown ในพอร์ตของเราให้ดี

กองทุนไหนที่มี Maximum Drawdown สูง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกองทุนคือ อัตราผลตอบแทนของกองนั้นจะล่าช้ากว่ากองอื่น เพราะต้องใช้เวลากว่าพอร์ตจะฟื้นกลับมาที่เดิม อีกมุมหนึ่งค่า Maximum Drawdown ก็สามารถบอกได้ด้วยว่าผู้จัดการกองทุนนั้นบริหารความเสี่ยงได้ดีหรือไม่ สามารถแก้เกมในช่วงนี้ตลาดเป็นขาลงได้รึเปล่า ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้าหากคิดจะลงทุนระยะยาว ตลาดขาลงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เลือกกองทุนด้วยตัวเองโดยใช้ 3D Diagram

FINNOMENA มีฐานข้อมูลกองทุนเกือบทุกกองในประเทศไทย ซึ่งเปิดให้นักลงทุนมาใช้กันฟรีๆ ที่ลิงก์ finnomena.com/fund/ วิธีใช้งานอย่างละเอียดสามารถอ่านได้ที่บทความ How to วิเคราะห์กองทุนด้วยตัวเอง ผ่าน FINNOMENA.COM/FUND ส่วนสำหรับบทความนี้จะรีวิวเฉพาะฟังก์ชั่งที่เกี่ยวกับ 3D Diagram นั่นก็คือฟังก์ชั่นการเปรียบเทียบกองทุนครับ

FINNOMENA FUND สามารถเปรียบเทียบกองทุนพร้อมกันได้สูงสุด 10 กองทุน เมื่อเรามีกองทุนที่สนใจแล้วเราอยากจะเปรียบเทียบกับกองอื่นในหมวดเดียวกันเพื่อที่จะได้เลือกกองทุนที่ดีที่สุด สามารถกดปุ่ม ‘เปรียบเทียบกองทุน’ ได้เลย

เมื่อเลือกกองทุนที่ต้องการเปรียบเทียบแล้ว ระบบจะแสดงข้อมูลทุกอย่างไว้ในรูปแบบที่สามารถเปรียบเทียบกันได้ง่าย ทั้งกราฟราคา ผลตอบแทน ค่าธรรมเนียม รวมถึง 3D Diagram ด้วย ฟังก์ชั่นการเปรียบเทียบกองทุนควรใช้เปรียบเทียบกองทุนในกลุ่มเดียวกันเท่านั้น เพราะสินทรัพย์แต่ละอย่างก็มีลักษณะผลตอบแทนและความเสี่ยงไม่เหมือนกัน การนำมาสู้กันก็เหมือนมวยคนละรุ่น ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ครับ

ส่งท้าย

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคนที่กำลังศึกษาเรื่องการเลือกกองทุนไม่มากก็น้อยครับ ถึง FINNOMENA 3D Diagram จะช่วยให้เห็นภาพ Performance ของแต่ละกองทุนได้ชัดขึ้น แต่มันก็เป็นเครื่องมือตัวหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่สำคัญจริงๆ คือเราเข้าใจตัวแปรต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังมันต่างหาก เพื่อที่เราจะนำหลักการตรงนี้ไปใช้คัดเลือกกองทุนได้ด้วยตัวเอง เพราะผลลัพธ์จากการลงทุนไม่มีคนอื่นรับแทนเรา กำไรเราก็รับเอง ขาดทุนเราก็ต้องรับเองเช่นกัน ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนครับ

เขียนโดย TUM SUPHAKORN

เรียนหัวข้อต่อไป “กรองกองทุนขั้นเทพ! ด้วย Fund Filter จากแอปฯ FINNOMENA”


มือใหม่ห้ามพลาด! คอร์สเรียนพิเศษจาก FINNOMENA U "กองทุนรวม 101 สำหรับมือใหม่"