ใครว่าผู้ใหญ่ไม่เล่นเกม จริงๆ ความเป็น ‘เกม’ ผสมผสานรวมตัวอยู่ในเรื่องต่างๆ ในชีวิตเราโดยที่เราไม่รู้ตัว ยกตัวอย่าง เช่น เช้าวันหนึ่งเราอยากกินกาแฟ เราเดินไปซื้อกาแฟ 1 แก้ว พอซื้อเสร็จคนขายก็ยื่นบัตรสะสมแต้มให้แล้วพูดว่า “สะสมครบ 10 ดวง รับเครื่องดื่มฟรีที่ร้านได้ 1 แก้วนะคะ” หลังจากนั้นเราก็เหมือนโดนมนต์สะกดบางอย่าง ที่ทำให้เช้าวันพรุ่งนี้เราก็จะกลับมาซื้อร้านเดิมอีก แต่คราวนี้ไม่ใช่เพราะเราอยากจะกินกาแฟเพียงอย่างเดียวแล้ว…เราอยากจะเติมเต็มบัตรสะสมแต้มใบนั้นด้วย

บางคนอาจจะปฏิเสธว่า นั่นไม่ใช่เกม มันคือการสะสมแต้ม มันเป็นการตลาดรูปแบบหนึ่ง แต่ผมมองว่านั่นคือ ‘เกม’ อย่างหนึ่งครับ ถ้าจะแปลความหมายของคำว่าเกมตามความเข้าใจของผมเองโดยที่ไม่เปิดพจนานุกรม ก็คงจะแปลได้ว่า เกมคือการกระทำตามกฎกติกาเพื่อบรรลุเป้าหมายหรือรางวัลบางอย่าง จากตัวอย่างบัตรสะสมแต้มที่ผมบอกว่ามันเป็นเกม เพราะผมมองว่าการกลับมาซื้อเครื่องดื่มจนครบ 10 ดวง คือการทำตามกติกา และรางวัลที่ได้จากการทำสำเร็จก็คือ เครื่องดื่มฟรีนั่นเอง

แล้วทำไมธุรกิจต่างๆ หรือวงการการศึกษา จึงเริ่มมีการทำ Gamification หรือการปรับเปลี่ยนเรื่องต่างๆให้เป็นเกมมากขึ้น? สาเหตุก็เป็นเพราะว่า ความเป็นเกมสามารถกำหนดพฤติกรรมของคนได้ครับ

ทำไมเกมถึงควบคุมเราได้

ก่อนที่จะไปดูกันว่าเกมจะช่วยแก้นิสัยที่เปลี่ยนยากได้ยังไง ขอเล่าให้ฟังก่อนว่าทำไมเกมถึงมีอิทธิพลในการชักจูงพฤติกรรมของเราได้

สำหรับคำตอบง่ายๆ ว่าทำไมคนชอบเล่นเกม ก็คงตอบว่า ‘มันสนุก’ ‘มันให้ความรู้สึกดี’ สำหรับคำตอบแบบวิทยาศาสตร์ว่าทำไมมันถึงทำให้เรารู้สึกดี เป็นเพราะว่าการเล่นเกมทำให้สมองหลั่งสารโดพามีนออกมา เป็น ‘สารแห่งความสุข’ ที่มีอิทธิพลสูงมากในระบบการให้รางวัล (reward system) ในสมอง

ผมเคยพูดถึง reward system ในสมองไว้ในบทความ อยากเก็บเงินให้ได้เยอะๆ อย่าเชื่อสมองของตัวเอง แต่อยากจะพูดถึงอีกรอบเพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ระบบ reward system มีไว้เพื่อให้สิ่งมีชีวิตไล่ตามหาสิ่งที่จำเป็นในการอยู่รอดและสืบพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร, Sex, การเข้าสังคม หรือสำหรับกรณีของเกม คือ การตามหา ‘ความสำเร็จ (Achievement)’

ภาพด้านบนเป็นกราฟแสดงปริมาณของสารโดพามีนที่ถูกปล่อยออกมาเมื่อเราทำกิจกรรมต่างๆ โดยถ้าเราอยู่เฉยๆ ระดับโดพามีนจะอยู่ในระดับปกติที่ 100% ส่วนถ้าเราทำกิจกรรมที่ไปกระตุ้น reward system ในหัวเรา สารโดพามีนก็จะถูกปล่อยออกมาเยอะขึ้น จะสังเกตว่าการเล่นเกมปล่อยสารโดพามีนออกมาได้พอๆกับการได้กินอาหารอร่อยๆเลย ซึ่งสารโดพามีนตัวนี้จะทำให้เรารู้สึกดี มีความสุข และอยากจะทำกิจกรรมนั้นไปเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราเสพติดอะไรบางอย่างแบบเกินพอดี ก็อาจทำให้ตัวรับโดพามีน (dopamine receptor) ลดน้อยลง จนทำให้เราต้องทำกิจกรรมนั้นมากขึ้นเพื่อที่จะได้รับความสุขปริมาณเท่าเดิม แล้วมันก็จะกลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ทำให้เราไล่ตามความสุขที่มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการขาดตัวรับโดพามีนนี่เองที่ทำให้คนที่ติดยามีความสุขแค่ตอนเสพยาเท่านั้น และไม่สามารถมีความสุขได้ในภาวะปกติ เพราะระดับ baseline ของโดพามีนได้ลดลงไปแล้ว

เช่นเดียวกับการติดเกม ถ้าติดเกมมากเกินไป เสพติดโดพามีนที่ได้จากการเล่นเกมมากเกินไป ก็อาจจะทำให้ความสุขที่เราได้รับจากการทำกิจกรรมอื่นลดลง สุดท้ายก็ต้องเล่นเกมตลอดเวลาเพราะไปทำอย่างอื่นก็ไม่สนุกเท่าเล่นเกม แต่นั่นเป็นกรณีที่เราเสพติดบางอย่างจนเกินพอดี ถ้าหากเราประยุกต์ใช้มันอย่างเหมาะสม ธรรมชาติของความเป็นเกมก็ช่วยเราให้สามารถทำอะไรยากๆ ได้ อย่างเช่นการแก้นิสัยที่เราติดมานาน

สร้างนิสัยใหม่ โดยการทำให้มันเป็นเกม

จากงานวิจัยของ Duke University บอกว่า การกระทำในชีวิตประจำวันของเรามากกว่า 40% เราไม่ได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง แต่เราทำไปตามนิสัยของเราโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นถ้าเราแก้นิสัยของเราได้ เราจะเปลี่ยนชีวิตได้มากกว่า 40% เลยทีเดียว

หนังสือชื่อดังเรื่อง The Power of Habit ของ Charles Duhigg เขียนไว้ว่า นิสัยของคนเราจะวนกันเป็นลูป เริ่มจากได้รับสิ่งกระตุ้น (Cue) ที่ทำให้เราอยากทำกิจกรรมเดิมๆ (Routine) และได้รับรางวัลที่เคยได้ (Reward) แล้วพอในอนาคตเกิดไปเจอสิ่งกระตุ้นอีกรอบ วัฏจักรนี้ก็จะเริ่มขึ้นใหม่ ตัวอย่างของลูป Cue / Routine / Reward เช่น เรานั่งอยู่บ้านช่วงโควิดแล้วรู้สึกเบื่อ (Cue) เลยเปิด Netflix ดู (Routine) ดูแล้วก็สนุก หายเบื่อ (Reward) เป็นต้น ยิ่งเราเคยวนครบลูปบ่อยแค่ไหน นิสัยนั้นก็ยิ่งติดแน่นทนนาน แก้ไขได้ยาก

ทีนี้ ถ้าดูจากโมเดลนี้สิ่งที่เราต้องการเปลี่ยนคือ ‘Routine’ วิธีเปลี่ยนคือเราต้องแฮ็คออกจากลูปอันเดิม แล้วสร้างลูปนิสัยอันใหม่ขึ้นมา โดยวิธีแฮ็คมีอยู่ 2 วิธีคือ ไม่เปลี่ยน Cue ซึ่งเป็นสิ่งกระตุ้นรอบตัว ก็ต้องเปลี่ยนตัว Reward สำหรับการนำ Gamification มาช่วยในการเปลี่ยนนิสัยจะเป็นกรณีหลัง คือการเปลี่ยนตัว Reward จาก Reward ที่เราเคยได้จากนิสัยเดิมๆ ให้กลายเป็น Reward ใหม่ที่ได้จากการทำตามกติกาในเกมแทน สำหรับตัวอย่างการเบี่ยงเบนความสนใจไปที่ Reward ใหม่เพื่อสร้างนิสัยใหม่ เชิญชมคลิปด้านล่างครับ

แค่โฟกัสไปที่ Reward ใหม่ๆ ก็สามารถเปลี่ยน Routine ได้

ตรงนี้มีจุดที่ต้องระวังก็คือ สมองเราจะเลือก Reward ที่คุ้มค่ากว่าเสมอ ถ้าเกิด Reward จากการทำนิสัยเดิมๆ มันให้ความสุขมากกว่าสิ่งที่จะได้จากนิสัยใหม่ สมองมันก็จะไม่ยอมเปลี่ยนนิสัย ในสถานการณ์แบบนี้ ‘เกม’ จะเป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยเราครับ เพราะอย่างที่บอกว่าความสุขจากการได้เล่นเกมนั้นสามารถกระตุ้นให้สมองหลั่งโดพามีนออกมามากถึง 175% จากการทำ Achievement ได้สำเร็จ ซึ่งตรงนี้แหละที่จะเป็น ‘ตัวล่อ’ ให้สมองของเราทำสิ่งที่ไม่ค่อยอยากทำได้

ตัวอย่าง Gamification สนุกๆ

พูดเรื่องทฤษฎีมาเยอะแล้ว มาดูตัวอย่างจริงๆกันบ้างครับว่า Gamification หรือการทำทุกอย่างให้มันเป็นเกม จะช่วยเราสร้างนิสัยใหม่ยังไงได้บ้าง

1. TMRW

ที่มารูปภาพ: beartai.com

เนื่องจาก FINNOMENA เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายกองทุนรวม เริ่มด้วยแอปพลิเคชั่นเกี่ยวกับเรื่องเงินเลยละกัน คือ แอป TMRW ของธนาคาร UOB ที่เพิ่งเปิดตัวไปตอนต้นปี 2019 ซึ่งเค้าวางตัวเป็นธนาคารดิจิตอลบนมือถือเต็มรูปแบบ จากปีที่ผ่านมาก็ถือว่าเติบโตได้ไวมาก ส่วนหนึ่งก็มาจากแอปพลิเคชั่นตัวนี้แหละที่ทำให้คนอยากจะมาสมัครใช้บริการ

ในแอป TMRW นอกจากจะทำธุรกรรม Internet Banking ได้ตามปกติแล้ว จะมี Feature อยู่อันหนึ่งที่นำ Gamification มาทำให้การเก็บออมเงินเป็นเรื่องสนุก นั่นก็คือฟังก์ชั่น ‘City of TMRW’ หรือผมเรียกว่าออมเงินสร้างเมือง โดยถ้าเราย้ายเงินไปเก็บในบัญชี Saving เมืองเราก็จะใหญ่ขึ้นตามจำนวนเงินออมที่มากขึ้น ยิ่งออมเมืองยิ่งใหญ่ ยิ่งออมเมืองยิ่งสวย ถึงจุดนี้ใครไม่ชอบเก็บออมแต่อยากเห็นเมืองตัวเองใหญ่ขึ้น ก็ต้องเผลอกดออมกันไปบ้างล่ะครับ

2. Habitica

ที่มารูปภาพ: Google Play

มาต่อที่แอปถัดไป Habitica แอปที่เปิดโอกาสให้คุณสร้างและอัปเกรดตัวละครของตัวเอง โดยวิธีที่จะทำให้ตัวละคร Level Up ได้ เราจะต้องทำตาม Daily goals หรือ To-Do list ที่เราตั้งไว้ให้เสร็จ แอปนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับใครที่เคยตั้งเป้าไว้ว่าวันนี้จะทำนู่นนี่แล้วก็ทำไม่เคยเสร็จซักที การมีตัวละครที่รอการอัปเกรดอยู่จะช่วยกระตุ้นให้คุณออกไปทำตามสิ่งที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกได้สำเร็จ

3. Forest


ที่มารูปภาพ: App Store

เกริ่นก่อนว่าแอปนี้ไม่ใช่แอปฟรี ขายอยู่ที่ราคา 59 บาท Forest เป็นแอปที่จะช่วยให้เราโฟกัสกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรืออ่านหนังสือ โดยหลักการก็คือ เรากดตั้งเวลาที่จะใช้ในการปลูกต้นไม้ ถ้าในระหว่างนั้นเราเผลอหยิบโทรศัพท์มาเล่น ต้นไม้ก็จะตาย

ใช่ครับ หลักการมีแค่นั้นเลย บางคนอาจจะบอกว่าตลก แต่ผมลองใช้แล้วปรากฏว่ามันเวิร์คใช้ได้เลยครับ การที่แค่เราไม่อยากให้ต้นไม้มันตาย สามารถทำให้เราโฟกัสกับเรื่องที่ตั้งใจว่าจะทำได้จริงๆโดยที่ไม่ต้องไปยุ่งกับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งถือว่าเป็นตัวที่ distract เราได้ง่ายที่สุด หลักการเรื่องการตั้งเวลาโฟกัสนี้จะเหมือนกับหลักการของ Pomodoro ถ้าใครสนใจลองไปหาอ่านต่อได้ครับ สำหรับแอป Forest มีอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ ถ้าเราปลูกต้นไม้ในแอปจนแต้มถึงเป้า เราสามารถกดแลกแต้มให้ทีมงานของ Forest ไปปลูกเป็นต้นไม้จริงๆได้ด้วย

4. Nike Run Club


ที่มารูปภาพ: Google Play

คนที่ออกกำลังกายน่าจะรู้จักแอปนี้ดีอยู่แล้ว สำหรับแอปที่ช่วย Tracking การวิ่งของเราอย่าง Nike Run Club ถามว่าแอปนี้มันเป็น Gamification ยังไง มันไม่ได้แค่บอกว่าเราวิ่งได้ระยะทางเท่าไรด้วยความเร็วเท่าไรเหรอ? มันมีฟังก์ชั่นมากกว่านั้นครับ

แอปนี้จะเก็บสถิติของเราหมดเลยว่าตลอดช่วงเวลาที่ใช้แอปนี้มาเราวิ่งได้ระยะทางทั้งหมดเท่าไร วิ่งต่อเนื่องบ่อยแค่ไหน มี Badge และ Milestone ต่างๆให้สะสม มีตาราง Ranking บอกเลยว่าเพื่อนของเราเดือนนี้วิ่งไปเท่าไรแล้ว ถ้าอยากชนะก็ต้องออกไปวิ่งให้มากกว่า ฟังก์ชั่นต่างๆเหล่านี้จะช่วยเปลี่ยนการออกไปวิ่งน่าเบื่อ ให้กลายเป็นการเก็บสถิติแข่งขันกับตัวเองหรือเป็นการวิ่งแข่งกับเพื่อน พอรู้ตัวอีกทีการวิ่งก็กลายเป็นนิสัยของเราแล้ว

สรุปส่งท้าย

ถ้าเราเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าตนเองมีนิสัยแย่ๆที่อยากแก้ไขหรืออยากจะสร้างนิสัยที่ดีขึ้นมา ลองพยายามเปลี่ยนแล้วแต่ก็ทำไม่ได้ซักที อยากให้ลองทำให้มันเป็นเกมดูครับ เมื่อเปลี่ยนทุกอย่างให้มันเป็นเกม สมองจะไล่ตาม Achievement แทนที่จะไปจมกับความรู้สึกไม่อยากทำ เพราะสมองรู้ว่าถ้าหากทำ Achievement ได้สำเร็จ มันจะได้รับความรู้สึกดีจากสารโดพามีนนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม นิสัยไม่ได้สร้างขึ้นในวันเดียว มันจึงไม่สามารถเปลี่ยนได้ในวันเดียวเช่นกัน การสร้างนิสัยต้องอาศัยเวลาในการทำพฤติกรรมเดิมซ้ำๆกว่าจะกลายเป็นนิสัยติดตัว แต่ไม่ต้องห่วง เพราะความเป็น ‘เกม’ นี่แหละที่จะช่วยทำให้เรากลับมาทำมันซ้ำๆได้ครับ

เขียนโดย TUM SUPHAKORN