กลับมาพบกันอีกครั้งทุกวันจันทร์กับรายการ FINNOMENA LIVE Special นะครับ ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนชื่อรายการเป็น THE OPPORTUNITY เรียบร้อย คอนเซ็ปต์ของรายการ นอกจากจะมาอัปเดตสถานการณ์ล่าสุดของตลาดในอาทิตย์ที่ผ่านมาแล้ว ก็จะมาแนะนำกันด้วยว่าช่วงนี้โอกาสในการลงทุนอยู่ที่ตรงไหน เรียกได้ว่าชี้ให้ดูกันไปเลยว่าตัวไหนน่าลง น่าลงเพราะอะไร และมีความเสี่ยงอะไรบ้างที่ควรระวัง เราจะแจกของเปรียบเสมือนเป็นวัน Opp Day ของ FINNOMENA เลย (แต่ถ้าสัปดาห์นั้นไม่มีกองไหนที่น่าสนใจ เราก็จะบอกว่าไม่มีครับ)

จากตอนนี้ที่สถานการณ์ทุกอย่างเริ่มผ่อนคลายขึ้น ถึงแม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ จะยังคงสูงอยู่ แต่คนเริ่มกลัวน้อยลง มีข่าววัคซีนออกมาบ่อยขึ้น ดังนั้นสิ่งที่นักลงทุนต้องการในตอนนี้ อาจเป็นการเริ่มกลับเข้ามาลงทุน ถึงแม้ว่าความเสี่ยงยังคงมีอยู่ แต่ถ้าหากเรามัวแต่รอให้ทุกอยากกลับมาเป็นปกติ (ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไร และไม่รู้ว่าจะกลับมาเป็น Old Normal รึเปล่า) ก็จะทำให้เราพลาดโอกาสในการลงทุนช่วงนี้ไป จึงเป็นที่มาของ THE OPPORTUNITY ตอน “ลงทุนอย่างไรในยุค New Normal” ก่อนจะไปดูกันว่าช่วงนี้มีกองทุนไหนน่าสนใจ ไปดูอัปเดตตลาดล่าสุดกันก่อนครับ

Market Wrap Up

1. ธนาคารกลางเข้ามาชดเชยงบประมาณขาดดุล

ยุโรปกับอังกฤษใช้เงินกู้จากธนาคารกลางเน้นๆ 100% ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินที่รัฐบาลแต่ละประเทศใช้พยุงเศรษฐกิจอยู่ในตอนนี้ รัฐบาลใช้เงินที่กู้มาจากธนาคารกลางเป็นส่วนใหญ่ ถ้าหากเป็นเหตุการณ์ปกตินโยบายการคลังจะสามารถเปิดขายพันธบัตรรัฐบาลเพื่อเรี่ยไรเงินได้ แต่กรณีนี้ภาคเอกชนมีปัญหาด้วย จึงจำเป็นต้องใช้เงินจากธนาคารกลาง จากกราฟที่เห็นเป็นเพียงสัดส่วนเฉยๆ แต่ถ้าเทียบ “ปริมาณเงิน” ที่ใช้มาอุ้มเศรษฐกิจจริงๆ สหรัฐฯ ยังคงเยอะที่สุด

2. เงินเฟ้อญี่ปุ่นติดลบครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2016

เงินเฟ้อของญี่ปุ่นติดลบอีกครั้ง ครั้งจากการติดลบครั้งล่าสุดเมื่อปี 2016 ญี่ปุ่นพยายามไม่ให้เงินเฟ้อติดลบมาโดยตลอดเพราะมันสะท้อนภาวะเงินฝืด ไม่ใช่เฉพาะญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ตอนนี้ประเทศอื่น เช่น ไทยและสหรัฐฯ ก็เจอภาวะเงินเฟ้อติดลบเช่นกัน ซึ่งการที่เงินเฟ้อติดลบยิ่งเป็นการกดดันให้ธนาคารกลางทำดอกเบี้ยเป็นศูนย์หรือติดลบมากขึ้น

3. ผู้เช่าในห้างที่สหรัฐฯ เบี้ยวค่าเช่าจำนวนมาก

ที่สหรัฐฯ เกิดการเบี้ยวค่าเช่าเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระแสของ e-commerce ซึ่งทำให้ราคา REITs ร่วงลงมาดังกราฟที่เห็น ส่วนที่ไทยอาจจะเกิดการเบี้ยวค่าเช่าบ้าง แต่คงไม่กระทบรุนแรง เพราะอย่างไรก็ตามคนไทยก็ชอบเดินห้างกันอยู่แล้ว

4. Dow Jones กำลังทดสอบแนวต้านสำคัญ

ดัชนี Dow Jones กำลังเดินทางมาถึงระดับแนวต้านสำคัญ แต่ยังไม่ทะลุผ่าน และเมื่อเช็กดูกับ S&P500 จะเห็นว่าอินดิเคเตอร์ MACD ให้สัญญาณซื้อเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นที่มาของ Tactical Call จาก FINNOMENA เมื่อสัปดาห์ที่แล้วด้วย (บทความ Tactical Call) ในภาวะ New Normal นี้ต้องระมัดระวังว่าสภาพเศรษฐกิจกับตลาดทุนอาจจะไปกันคนละทางก็ได้

5. ตลาดหุ้นฮ่องกงลงแรงสุดในวันเดียวจาก National Security Law

จากการที่จีนจะออกกฎหมาย National Security Law ที่จะห้ามไม่ให้มีการแบ่งแยกดินแดน ไม่ให้มีการก่อความไม่สงบ ไม่ให้ต่างชาติแทรกแซง ทำให้ตลาดหุ้นฮ่องกงร่วงแรงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 รอบนี้จีนจะเอาจริงหรือไม่เอาจริงต้องติดตามกันต่อไป

6. Emerging Market เทรดถูกมากเมื่อเทียบกับ Developed Markets

สัดส่วนระหว่างดัชนี MSCI Emerging Market กับดัชนี MSCI World ต่ำสุดในรอบ 6 ปี แสดงให้เห็นว่าตลาดประเทศกำลังพัฒนาช่วงนี้สู้ประเทศใหญ่ๆ ไม่ได้เลย การเทียบเคียงนี้ก็ทำให้เราต้องกลับมาคิดว่าหลังจากนี้เราควรจะลงทุนในของที่ราคาถูก หรือลงทุนในผู้ชนะดี

7. ตลาดหุ้นไต้หวันพยายามผ่านเส้น 200 วันเป็นครั้งที่ 3

ดัชนีหุ้นไต้หวันที่ฟื้นตัวกลับขึ้นมาตอนนี้มาอยู่ที่เส้น 200 วันแล้ว แต่พยายามทะลุก็ยังทะลุไม่ได้ จุดนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าตลาดหุ้นไต้หวันจะกลับไปสู่ขาลงอีกครั้งหรือไม่ เพราะไต้หวันก็มีบริษัทผลิต semiconductor ยักษ์ใหญ่อย่าง TSMC อยู่ ซึ่งมีความเป็นหุ้นเติบโตพอสมควร

8. หุ้น Facebook ทำ new high หลังประกาศ Facebook Shop

หลัง Facebook เปิดตัวฟังก์ชั่นใหม่อย่าง Facebook Shop (เปิดตัวในต่างประเทศ ไทยยังไม่มีใช้) ก็ทำให้ราคาหุ้นของ Facebook ทำ New High ไปเลย ฟังก์ชั่นนี้จะต่างจาก Marketplace ที่ให้คนมาขายกันเอง แต่ Facebook Shop จะเปิดให้ร้านค้าต่างๆ มาตั้งอยู่บนแพลตฟอร์มของเค้าเลย คล้ายๆ กับ Shopee หรือ Lazada ซึ่งตลาดก็ตอบรับกับ Monetize Model อันใหม่นี้ของ Facebook เป็นอย่างดี

กองทุนน่าสนใจในภาวะ New Normal

ในสภาวะใหม่ที่กำลังค่อยๆ เกิดขึ้น FINNOMENA มีมุมมองกองทุนที่น่าสนใจทั้งหมด 2 กองมาแนะนำครับ ซึ่งวิเคราะห์มาจากภาวะ New Normal ที่อาจส่งผลดีต่อทั้งสองกองทุนนี้ ตามไปดูกันเลยครับ

New Normal อันที่ 1: “ดอกเบี้ย 0% หรือติดลบ”

หลายประเทศตอนนี้เกิดภาวะดอกเบี้ยติดลบ ของไทยเองก็เกือบจะติดลบแล้วเช่นกัน ทำให้การไปฝากเงินในธนาคารไม่น่าสนใจอีกต่อไป แล้วโอกาสในการลงทุนก็ตกไปอยู่ที่ “ตราสารหนี้” ด้วยหลักฐาน 3 ข้อด้วยกัน

1. FED อัดฉีดเงินเข้าพยุงตลาดตราสารหนี้จนตอนนี้กลายเป็นเจ้าหนี้ทั้งภาครัฐและเอกชน สังเกตจาก Balance Sheet ที่สูงขึ้นมาก

2. ถึงจะอัดฉีดเงินเข้าไป FED ยังสามารถพยุง Spread ตราสารหนี้เอกชนได้แม้พื้นฐานแย่ จากภาพด้านล่างระดับ Spread ถูกยกขึ้นมาเหมือนจะสร้างฐานใหม่ได้ ทำให้ตอนนี้ตราสารหนี้เอกชนสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล

3. ดัชนีราคาตราสารหนี้มีโอกาสทำ new high ดัชนีรูปด้านล่างเป็นดัชนีที่รวมเอาตราสารหนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าด้วยกัน ซึ่งจะเห็นว่าอยู่ในแนวโน้มดีและมีโอกาสทำ new high ใหม่ได้

จากเดิมในช่วงที่ผันผวนแล้วทาง FINNOMENA แนะนำให้พักเงินใน money market ก่อน แต่จากข้อมูลทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมา ตอนนี้สำหรับท่านใดที่ยังมีสัดส่วนการลงทุนที่ไม่ได้ต้องการสภาพคล่องมาก สามารถแบ่งสัดส่วนมาลงทุนในกองทุนตราสารหนี้เพิ่มได้ โดยกองทุนที่เราแนะนำในจังหวะนี้ก็คือ

กองทุนที่แนะนำ: PHATRA G-UBOND-H

กองทุน PHATRA G-UBOND-H เป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลก ลงตามกองแม่คือ Jupiter Dynamic Bond

กองนี้เป็นกองที่ลงทุนใน High Yield Bond ค่อนข้างเยอะ ประมาณ 1 ใน 3 ของพอร์ต และมีการลงทุนใน Corporate Bond หรือตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งให้ผลตอบแทนดีกว่ากลุ่มพันธบัตรรัฐบาลแน่นอนในตอนนี้

อย่างไรก็ตามผู้ลงทุนต้องเข้าใจว่ากองนี้เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ ไม่ใช่ money market ดังนั้นราคาจะมีการขึ้นลงบ้าง อาจจะไม่ได้กำไรตลอด สำหรับผู้ลงทุนที่พักเงินใน money market อยู่และสามารถรับความเสี่ยงได้สูงขึ้น ก็สามารถโยกมาลงในกอง PHATRA G-UBOND-H เพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้นได้

New Normal อันที่ 2: “โลกแห่ง Cloud Computing”

จากช่วงพีคของวิกฤตที่ผ่านมาก็น่าจะพิสูจน์กันไปพอสมควรแล้วว่า ในตอนนี้หุ้นเทคโนโลยีถือว่าเป็นหุ้นผู้ชนะจริงๆ โดยเฉพาะบริษัทเทคฯ ที่ใช้ทำงานอยู่บน Cloud และเป็นหุ้นเทคฯ นี่เองที่ช่วยนำตลาดในการฟื้นคืนกลับมาด้วย เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีได้รับผลกระทบน้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่น อีกเหตุผลเป็นเพราะเทรนด์เดิมของเทคโนโลยีที่กำลังจะกลายเป็น New Normal อยู่แล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่เกิดวิกฤตไวรัสในครั้งนี้ก็ตาม

กองทุนที่แนะนำ: KF-GTECH

 

 

กอง KF-GTECH เป็นกองทุนรวม Sector Fund หรือกองทุนที่โฟกัสในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งโดยเฉพาะ สำหรับกองทุนนี้โฟกัสในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีทั่วโลก โดยลงตามกองแม่คือ T. Rowe Price Global Technology ซึ่งก็มีความพิเศษ คือ กองนี้เคยพักตัวไปตอน 2017 ไม่ใช่เพราะกองนี้ไม่ดีหรือว่าอะไร แต่เพราะเงินไหลเข้ามาเยอะเกินไป เมื่อไปดูไส้ในของกองทุนนี้ จะพบว่าเป็นหุ้นเทคฯ กลุ่มผู้ชนะที่นำตลาดอยู่ในปัจจุบันทั้งนั้น

ขอยกตัวอย่างมา 2 ตัว เช่น Netflix ที่มียอด subscriber โตขึ้นทุกไตรมาส โตเป็นกราฟ exponential สวยงามตามรูปด้านล่าง หรือบริษัท Salesforce บริษัทที่ทำเกี่ยวกับระบบ CRM ถึงแม้ในตลาดจะมีคู่แข่งอยู่ แต่ Salesforce สามารถเติบโตจนทิ้งคู่แข็งไม่เห็นฝุ่น จะเห็นว่ามีขนาดใหญ่กว่า SAP เกือบ 10 เท่า ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเทคโนโลยี Cloud ที่ทำให้สเกลธุรกิจไปได้ทั่วโลก และเป็นเพราะเทคโนโลยี Cloud เหมือนกันที่ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบน้อยจากวิกฤตไวรัส ต่างจากบริษัท CRM อื่นที่ต้องใช้แรงงานในการติดตั้งระบบนั่นเอง

จบแล้วครับสำหรับสรุป LIVE รายการ THE OPPORTUNITY เทปแรก ท่านใดอ่านสรุปแล้วอยากได้ข้อมูลแบบละเอียด สามารถฟังเพิ่มเติมได้ใน LIVE ฉบับเต็ม และสามารถติดตามรายการ THE OPPORTUNITY ได้ใหม่ทุกวันจันทร์ เวลา 14.00 น. เวลาเดิมครับ

ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนครับ

เขียนโดย TUM SUPHAKORN