India-Wealth-Me-Up

หากจะเลือกนำเงินของเราไปหาผลตอบแทน จากลงทุนในประเทศใด สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ก็คือการขยายตัวทาง “เศรษฐกิจ” และ โอกาสการเติบโตของ “ธุรกิจ” ในประเทศนั้น

ซึ่งหากดูตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ของนานาประเทศแล้ว ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ ADB คาดว่าปีนี้ “ทวีปเอเชีย” จะโตได้เร็วที่สุดในโลกที่ 6%

และพระเอกที่น่าจับตามองก็คือ “อินเดีย” ประเทศที่คาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวถึง 7.8% ในปีนี้ และ 8% ในปีหน้า

เช่นเดียวกับที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เชื่อว่าในปีนี้ “อินเดีย” จะโตได้เร็วกว่า “จีน”

สำหรับ “จุดเด่น” ของ “อินเดีย” ที่ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสนับสนุนความเนื้อหอม ก็มีทั้ง

  1. ประชากรจำนวนมาก ที่กำลังจะกลายเป็นอันดับ 1 ของโลก
    อินเดีย มีประชากรประมาณ 1.31 พันล้านคน (18% ของประชากรโลก) เป็นรองแค่ประเทศจีนที่มีประชากรประมาณ 1.38 พันล้านคน (19% ของประชากรโลก) เท่านั้น แต่ทางสหประชาชาติ หรือ UN (The United Nations) คาดการณ์ว่าภายในปี 2022 อินเดียจะมีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลกที่ 1.4 พันล้านคน แซงหน้าจีนที่ประชากรจะค่อยๆ ทรงตัวและลดลงในปี 2030 ซึ่งประชากรจำนวนมากเหล่านี้จะกลายเป็นแรงงานสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการผลิต และเศรษฐกิจของอินเดียในระยะต่อไป
  2. แรงงานมากกว่าครึ่งอยู่ในภาคบริการ
    55% ของประชากรอินเดีย ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมบริการ ที่มีศักยภาพ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมหาศาล อีกทั้งรัฐบาลยังตั้งเป้าหมายชัดเจนในการผลักดัน ให้สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้น เป็น 80-85% ของจำนวนประชากร นอกจากนั้นคนอินเดียยัง “มีทักษะด้านภาษาอังกฤษและ IT” อย่างดี ทำให้อินเดียเป็นประเทศผู้ส่งออกบริการซอฟแวร์อันดับต้นๆ ของโลก และเมืองบังกาลอร์ ของอินเดีย ก็ได้กลายเป็น Silicon Valley แห่งเอเชียไปเรียบร้อยแล้ว
  3. อินเดีย “ปฏิรูปเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม”
    หลังจากการเมืองในประเทศมีเสถีบรภาพ อินเดียได้ริเริ่มกระบวนการปฎิรูปเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรม ผ่านแผนสนับสนุนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ และกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เพื่อผลักดันให้อินเดียเป็นฐานการผลิตใหม่ของโลก ภายใต้แนวทาง “Made in India”

ปัจจัยเหล่านี้เองที่เป็นสิ่งตอกย้ำศักยภาพการเติบโตของอินเดียในระดับสูง ที่สำคัญยังส่งผลโดยตรงต่อการขยายตัวทาง “เศรษฐกิจ” และ โอกาสการเติบโตของ “บริษัทจดทะเบียน”

แต่เหรียญมี 2 ด้านเสมอ เมื่อมีโอกาส ก็ย่อมมีความเสี่ยงควบคู่ไปด้วยกัน “ความเสี่ยง” ทางเศรษฐกิจและการลงทุนใน “อินเดีย” ที่ต้องจับตามอง ประกอบไปด้วย

  1. สัดส่วนหนี้ต่อทุนของภาคเอกชนในอินเดียพุ่งกว่า 200%
    โดย Bloomberg ได้รายงานตัวเลขหนี้ต่อทุน (debt to equity ratios) ของบริษัทในอินเดียที่เพิ่มขึ้นจาก 36 ในปี 2005 เป็น 476 ในปีนี้ ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 200% ซึ่งทาง Goldman Sachs ระบุถึงสาเหตุดังกล่าวว่ามาจากการลงทุนอย่างหนักของบรรดาภาคเอกชนซึ่งทำให้เกิดแรงกดดันจากกำลังการผลิตส่วนเกิน
  2. ผลกระทบจากเศรษฐกิจจีน
    แม้เศรษฐกิจของอินเดียจะได้อานิสงค์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ระดับต่ำ แต่ก็ไม่สามารถปฎิเสธผลกระทบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก ที่มีต่อตลาดการเงินทั่วโลกได้
  3. ตัวเลข FPI ที่ลดลง
    Bank of America Merrill Lynch รายงานคาดการณ์การลงทุนจากต่างประเทศ หรือ FPI (Foreign portfolio investment) ในอินเดียว่า เงินทุนไหลเข้า (inflow) มีโอกาสลดลงแตะ $1.5 หมื่นล้าน ในปีนี้ด้วยสาเหตุ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก แต่ก็ตั้งข้อสังเกตว่าธนาคารกลางอินเดีย (RBI) อาจออกมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความน่าสนใจในดินแดนภารตะ ซึ่งมีทั้งโอกาส และความท้าทายรออยู่ข้างหน้า ขึ้นอยู่กับว่าเราให้น้ำหนักกับส่วนไหน และในฐานะนักลงทุนจะเลือก “ลงทุน” ให้ “คุ้มค่ากับความเสี่ยง” อย่างไร?

ในโลกของการลงทุน…อะไรที่ดูง่าย ย่อมให้ผลตอบแทนยาก

Robert Arnott –

บทความจาก www.set.or.th