ผมเขียนบทความนี้ในวันที่ 1 ก.ย. 2562 ซึ่งชั่วโมงนี้ คำว่า “เกษียณ” เป็นเหมือนเทรนด์สินค้าการเงินที่สื่อการเงินหลายสำนักพร้อมใจกันโปรโมทอย่างคึกคัก โดยเสนอทั้งวิธีวางแผนและการลงทุนเพื่อการเกษียณ ไม่ว่าจะเปิดเฟซบุ๊กหรือกำลังดูซีรีส์ จะเห็นโฆษณาเรื่องการลงทุนเพื่อการเกษียณคั่นเป็นระยะแทบทุกวัน

คนอายุยังไม่ถึง 50 อาจมองบน แล้วคิดว่าไกลตัวและน่าเบื่อ แต่ใครจะรู้ว่าเมื่อวันนั้นมาถึง มันจะเร็วแบบไม่ทันตั้งตัว จากประสบการณ์ในแวดวงการเงินกว่า 10 ปีของผม ผมพบว่าสิ่งที่คนละเลยมากที่สุดคือเรื่องการวางแผนเกษียณ

ขณะที่ฝั่งยุโรปมีการประท้วงเนื่องจากรัฐบาลประกาศให้คนเกษียณอายุช้าไปอีก 5 ปี คือแทนที่จะเกษียณที่อายุ 60 ก็ขยายเป็น 65 ปี ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีแนวโน้มว่าจะขยับอายุการเกษียณออกไปอีก เนื่องจากรัฐไม่สามารถจ่ายสวัสดิการได้ทัน ขณะเดียวกัน เมื่อมองกลับมาที่ตัวคนใกล้เกษียณเอง ก็มีเงินเก็บเพื่อการเกษียณของตัวเองไม่มากพอ

ปัญหาเกือบ 100% ที่พบเจอในเคสเหล่านี้ มักเกิดขึ้นในช่วงที่เรียกว่า Transferring และ Landing Stage ซึ่งหมายถึงช่วงของการ “ถ่ายโอน” เงินจากฝั่งทำงานหรือธุรกิจที่ใช้ความสามารถของตัวเอง ไปสู่ฝั่งค่าใช้จ่ายส่วนตัวและครอบครัว แล้วส่งผลกระทบแบบโดมิโน่ (Domino) ในระยะยาวไปถึงช่วงหยุดทำงานเมื่อเกษียณอายุ

พูดง่ายๆ คือจุดตัด หรือ Turning Point ของชีวิตบั้นปลาย คือจุด Transferring Stage การล้มแบบโดมิโน่ในบัญชีเงินเก็บ ซึ่งส่งผลไปถึงการมีเงินไม่พอใช้เมื่อขาดรายได้ในวัยเกษียณของคนส่วนใหญ่ มักเกิดขึ้นจากการ “ถอน” โดยตรงจากบัญชีเงินเดือนหรือบัญชีธุรกิจส่วนตัว แล้วนำไปใช้จ่าย พูดง่ายๆ คือไม่มีกระเป๋าที่สองไว้เก็บ เงินเข้าหมื่น ถอนหมื่น ถ้าเหลือ ก็ค้างไว้ในกระเป๋าใบเดิม ไม่ได้จัดเก็บให้เป็นระบบ ไม่ได้บริหารต่อให้งอกเงย

การวางแผนเกษียณเริ่มต้นง่ายๆ ครับด้วยการทำ “สองบัญชี”

บัญชีแรกคือบัญชีรายได้เข้า ทั้งจากเงินเดือนสำหรับพนักงานประจำ หรือเงินจากธุรกิจส่วนตัวสำหรับผู้ประกอบการ

บัญชีที่สองคือบัญชีเพื่อการวางแผน เปิดไว้เพื่อออมเงินและลงทุนทางการเงิน

ดังนั้นแทนที่จะถอนออกมาใช้จ่ายโดยตรงเมื่อมีเงินเข้า ก็เปลี่ยนเป็นการโอนตามสัดส่วนที่วางเป้าหมายทางการเงินไว้ เพื่อให้เงินที่ย้ายไปยังกระเป๋าที่สองหรือบัญชีที่สองทำงาน และเติบโตงอกเงยเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งไม่ว่าใครก็ทำได้ครับ และทุกคนที่มีรายได้ควรบริหารการเงินง่ายๆ ของตัวเองในลักษณะนี้

ถ้าเป็นพนักงานประจำ ยิ่งทำงาน มีอายุงานมาก มีความรับผิดชอบมาก ยิ่งต้องวางแผนโอนเงินออกมาทำเงินให้โตเท่าๆ กับรายได้ที่ได้รับตอนยังไม่เกษียณ เพื่อคงไว้ซึ่งมาตรฐานชีวิตพื้นฐานไม่ให้ต่ำกว่าเดิม พร้อมทั้งปกป้อง รักษา และทำให้เติบโตไปเรื่อยๆ จนวันสุดท้ายของชีวิต

ถ้าเป็นเจ้าของธุรกิจ การส่งต่อธุรกิจให้ทายาทในยุคปัจจุบันอาจไม่ราบรื่นเหมือนเคย เพราะคนใน Gen X Y Z มีข้อมูลใหม่ๆ ด้านธุรกิจมากมาย จำนวนไม่น้อยมีแพสชั่นในการสร้างธุรกิจของตัวเอง ทำให้คนรุ่นพ่อซึ่งบุกเบิกและทุ่มเทก่อร่างสร้างธุรกิจ จนขยายและต่อยอดออกไปกว้างไกลเพื่อจะส่งต่อให้ลูกนั้น อาจเกิดการสะดุดในช่วง Transferring Stage  คนกลุ่มนี้ต้องจัดสัดส่วนเงินที่เป็นกำไรอันเกิดจากการทำธุรกิจ ถ่ายโอนออกมาบริหารเงินให้เติบโตในตลาดการเงิน แทนที่จะนำกำไรทั้งหมดไปต่อยอดธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น ไม่ให้กลายเป็นยิ่งขยายยิ่งรวย แต่ยิ่งขยายก็ยิ่งยุ่ง จนเข้าสำนวนที่ว่า “ขึ้นหลังเสือแล้วลงไม่ได้”

กรณี Landing ของเจ้าของธุรกิจที่มีทายาทสานต่อธุรกิจ ควรแบ่งสรรปันส่วนสินทรัพย์ทั้งในธุรกิจและมรดกสินทรัพย์อื่นๆ ให้เรียบร้อยลงตัว ยุติธรรม และมีเหตุผล ไม่ควรแบ่งด้วยอารมณ์ห่วงคนนั้นหรือรักคนนี้มากกว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งและฟ้องร้องกันจนกลายเป็นศึกสายเลือด การ landing ของต้นตระกูลแล้วส่งต่อให้กัปตันคนใหม่นำเครื่องทะยานต่อไปให้ไกลกว่าเดิม อาจกลายเป็นล้อไม่กาง ยางแตก ไฟลุกท่วม จนเป็นมรดกเลือดทิ้งไว้แทนก็เป็นได้

เมื่อมองในมุมนี้ ธุรกิจที่ไม่มีทายาทสานต่ออาจแลนดิ้งได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตาม การบริหารธุรกิจให้ปิดลงด้วยมูลค่าที่เหมาะสมกับความทุ่มเท เป็นเรื่องที่ต้องใช้การวางแผนที่ค่อนข้างซับซ้อน ทั้งความคิดของเจ้าของที่มีต่อมูลค่าในใจ กับมูลค่าที่เหมาะสมในความเป็นไปได้ ซึ่งมักไม่ค่อยสอดคล้องกัน แต่หากเราได้กระจายเงินกำไรมาสร้างกระแสเงินสดที่สามารถเติบโต และสร้างเป็นรายได้ให้เราโดยไม่ต้องออกแรงตั้งแต่ต้นแล้ว การลงจากหลังเสือย่อมราบรื่นไร้รอยขีดข่วนอย่างแน่นอน

การวางแผนเกษียณเพื่อแลนดิ้งอย่างนุ่มนวลควรเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ เพราะการหาเงินได้มากไม่สำคัญเท่าความสามารถที่จะ “ปกป้องและรักษา” เงินให้หล่อเลี้ยงเราได้ตลอดชีวิตที่เหลือ และมีพอที่จะส่งต่อให้ลูกหลานได้อย่างราบรื่นหรือเปล่า…เท่านั้นเอง