stoploss-and-trailing-stop

ห่างหายไปพอสมควรสำหรับบทความที่เกี่ยวกับการลงทุนครับ…วันนี้ก็จัดให้ซะหน่อย เป็นเรื่องเกี่ยวกับ การเทรดแบบมีจุดตัดขาดทุน (Stop Loss) และการเลื่อนจุดตัดขาดทุน (Trailing Stop) ครับ วิธีที่ผมจะอธิบายนี่ไม่เกี่ยวกับกราฟเลยน่ะครับ ใช้แค่วินัยเทรดและความเสี่ยงในการเทรดต่อครั้งที่คุณรับได้ ก็เท่านั้นเอง

…พร้อมแล้ว! งั้นไปลุยกัน!!!…

จากประสบการณ์เทรดส่วนตัว ผมได้ข้อสรุปอย่างนึงครับว่า…

นักลงทุนแทบทุกคนไม่มีปัญหา…เวลาซื้อ
แต่มักจะตายน้ำตื้น…เวลาขาย…หรือ…ตัดขาดทุน

จริงอยู่ครับ…ตลาด ณ จุดนี้ (SET อยู่ที่ประมาณ 1550-1570 จุด) เป็นตลาดขาขึ้นในภาพใหญ่ หลายๆคนก็อาจจะพูดว่า…ซื้อหุ้นตัวไหนก็ได้ ถ้ามันลงมาหลุดราคาต้นทุนลงไปซัก 10 – 20%…เราก็ไม่ต้องขาย ขายทำไม ถือไปเถอะ เดี๋ยวมันก็ขึ้นกลับมาใหม่…

ถูกต้องครับ…มันขึ้นอยู่แล้ว..เพราะมันคือตลาดขาขึ้น!!

แต่..!! ขอเตือนเลยครับ…ยามที่ตลาดขาลงมาเยือน…ถ้าคุณไม่ขาย ดื้อถือไปเรื่อยๆ…การันตีได้ว่า…คุณได้ถือหุ้น เฝ้าหุ้น เป็นปีๆแน่นอน…เผลอๆเจ๊งหมดตัว หุ้นไม่ขึ้นมาอีกเลยก็เป็นไปได้

ดังนั้นแล้ว..ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด ที่เราจะควรมีความรู้เรื่องการตัดขาดทุนและการเลื่อนจุดตัดขาดทุน…ต่อให้คุณไม่มีความรู้เรื่องกราฟเทคนิค เทคโน อาชีวะ ก็ตามที…

…คุณก็ตัดขาดทุน…หรือสามารถ Let Profit Run ได้อย่างไม่ต้องกังวลใดๆ…

วิธีนี้…เมื่อคุณเลือกหุ้นที่ชอบแล้ว…คุณเคาะซื้อปุ๊บ…คุณไม่ต้องมานั่งเฝ้าหน้าจอแทบทุกนาทีเลยครับ…เพราะอะไร อ่านจบคุณจะรู้เอง…ถ้าไม่รู้…อ่านใหม่!!

..ขออธิบายโดยใช้เหตุการณ์สมมติน่ะครับ เพื่อความง่ายในการเห็นภาพ..

สมมติว่านักลงทุน P ได้ซื้อหุ้น X ที่ราคา 10 บาท โดยที่นักลงทุน P สามารถรับความเสี่ยงในการขาดทุนในการลงทุนในหุ้น X ได้ที่ 10 เปอร์เซนต์เท่านั้น…ก็คือ 9 บาท…ต่ำกว่านี้..ตัดขาดทุน!!

ต่อมา…ราคาหุ้น X ได้ร่วงมาอยู่ที่ 9.20 บาท…ถามว่านักลงทุน P ต้องทำอย่างไร?

…เครียด?…นอยด์โทรหามาร์?…

ตอบแทนเลยครับว่า…นักลงทุน P จะไม่เครียด เพราะอะไรนั่นหรือครับ…ก็เพราะ

ราคายังไม่ถึงจุด Stop Loss ที่ตั้งไว้นั่นเอง!!

สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนั้น จะมี 2 กรณีทั้งแบบ Best Case และ Worst Case น่ะครับ

Worst Case

ราคาหุ้น X ร่วงไปถึง 9 บาทหรือหลุด 9 บาท…ในกรณีนี้…นักลงทุน P จะยอม Stop Loss ทันที โดยที่ไม่สนใจว่า หุ้นอาจจะรีบาวน์หรือดีดกลับได้ในอนาคต…เพราะวินัยการลงทุนของนักลงทุน P คือ ถ้าถึงจุดตัด ก็ต้องตัด!! ไม่ต้องเสียดายครับ หุหุ

โอเคว่า…ราคาอาจจะดีดกลับทันทีก็ได้…อันนี้แล้วสำหรับเทรดเดอร์ ถือว่าเป็นเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ไม่ต้องซีเรียสครับ

แต่จะซีเรียสและเซ็งที่สุดถ้าไม่ยอมทำตามวินัยตัดขาดทุน…เพราะราคาหุ้นอาจจะร่วงต่อจาก 9 บาท ไปสู่ 5 บาท หรือต่ำกว่านั้นก็ได้…ใครจะไปรู้!!

ไม่มีใครรู้อนาคตหรอกครับ…แต่อย่างน้อย
หากคุณมีวินัยเทรด…คุณก็กุมอนาคตตัวเองไว้

Best Case

ราคาหุ้นหยุดนิ่งสร้างฐานที่ 9.20 บาทมาสักระยะ จากนั้นก็เจอแรงซื้อกลับมหาศาล จนราคาทะลุ10 บาท ไปยืนที่ระดับ 11 บาท…ณ จุดนี้นักลงทุน P ก็มี unrealized profit อยู่ที่ 1 บาทหรือกำไร 10%นั่นเอง…ว้าวว!!

แต่ช้าก่อน!!…ถ้าตามสูตรลงทุนแนวนี้…นักลงทุน P จะไม่ขายครับ…แต่จะเลื่อนจุดตัดขาดทุนขึ้นมาทันที โดยคำนวนจุด Stop Loss ใหม่จาก

ราคาปัจจุบัน – (ราคาปัจจุบัน X Stop Loss ที่นักลงทุนรับได้)

ดังนั้น จุด Stop Loss ใหม่ของนักลงทุน P คือ 11 บาท – (11 บาท X 10%) = 9.9 บาท!!

สังเกตอะไรมั๊ยครับว่า…ถ้าเกิดราคาหุ้นร่วงมาที่ 9.9 บาท อีกครั้ง นักลงทุน P ขาดทุนแค่ 1% เท่านั้นเอง…สิ่งนี้แหล่ะครับคือ Trailing Stop!!

แล้วเจ้า Trailing Stop นี่ มีประโยชน์อย่างไร…สำหรับผมแล้ว ผมมองว่าถ้าหุ้นที่เราถืออยู่เป็นหุ้นดีเด่น คุณก็จะสามารถเกาะขบวนรถด่วนเหาะเวหาได้ยาวนานที่สุดครับ

เช่น…ต่อมาราคาหุ้น X ดีดจาก 11 บาท ไปถึง 15 บาท โดยระหว่างทางก็มีการย่อบ้างอะไรบ้าง แต่นักลงทุน P ก็ยังไม่ขาย เพราะจุด Trailing Stop ของนักลงทุน P อยู่ที่ 10% ของราคาปัจจุบัน

เพื่อให้ง่ายต่อการเห็นภาพ ผมเลยทำตารางง่ายๆมาให้ดูกันครับ

untitled

เห็นแล้วใช่มั๊ยครับว่า ถ้าคุณมีวินัยเทรดที่ดีเยี่ยม คุณมีจุด Stop Loss และ Trailing Stop ที่ดีแล้วนั้น คุณจะมี Limit Loss but unlimited gain หรือคุณจะกำหนดเงินที่คุณมีโอกาสเสียได้ แต่คุณก็จะมีโอกาสทำเงินได้มหาศาลเช่นกันครับ

ที่สำคัญคือ…

…จากจุด Trailing Stop ที่มีไว้เลื่อนจุดตัดขาดทุน…
…ก็จะกลายเป็นจุด Taking Profit ทำกำไรในทันที…

…แหล่มเลย…!!

ส่วนที่ผมกล่าวมาในบทนี้..นักลงทุนหลายๆท่านอาจจะนำไปประยุกต์ได้หลากหลายครับ…จุด Stop Loss และ Trailing Stop นั้น จะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่นักลงทุนแต่ละท่านจะรับได้…

ถ้าคุณรับความเสี่ยงได้มาก…คุณก็เพิ่มเปอร์เซ็นต์ Stop Loss เพื่อที่ในกรณีที่คุณซื้อหุ้นถูกตัว…จุดTrailing Stop ของคุณก็จะมากขึ้นด้วย โอกาสที่คุณจะทำกำไรมหาศาลก็มีมากเช่นกัน…ถ้าหุ้นตัวนั้นวิ่งแรง วิ่งฉิว…เผลอๆได้กำไรมากกว่า 100% ก็เป็นได้…สาธุๆๆๆ อิอิ

ถ้าคุณรับความเสี่ยงได้น้อย…ก็ตั้งจุด Stop Loss น้อยๆ โอกาสขาดทุนหนักๆ ก็จะไม่มีครับ ส่วนโอกาสทำกำไร ก็คงต้องแล้วแต่สไตล์การวิ่งของหุ้นตัวนั้นๆครับ

…เห็นมั๊ยครับ…วิธีนี้ผมว่าเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ไม่ถนัดกราฟน่ะครับ…ใช้ได้ง่าย ทำได้จริง แต่สุดท้ายแล้ว…อยู่ที่ว่า…คุณจะคุมอารมณ์ตัวเองได้หรือไม่ ในยามที่ราคาหุ้นวิ่งผันผวน แต่ยังไม่แตะจุดที่คุณต้อง Stop Loss หรือ Trailing Stop ไว้ครับ

Wizard Kid