วันก่อนนี้ผมได้ฟังรายการวิทยุรายการหนึ่ง มีผู้ฟังท่านหนึ่งฝากคำถามให้วิทยากรไว้ว่าอีก 1 ปีข้างหน้าจะเกษียณอายุแล้ว ปัจจุบันมีเงินเก็บ 20 ล้านบาท อยากถามว่าจะใช้เงินได้มากเท่าไหร่ และนานแค่ไหน เชื่อว่าหลายๆท่านที่จะเกษียณอายุอาจจะมีข้อกังวลแบบนี้เช่นกัน เราจึงต้องมีการบริหารเงินช่วงหลังเกษียณอายุ หรือที่เรียกว่า Post Retirement Financial Planning เพื่อให้เราสบายใจได้ว่าเราจะมีเงินใช้ไปตลอดชีวิต
หลายๆท่านอาจคิดว่า โหย.. มีเงินตั้ง 20 ล้านบาท ไม่เห็นต้องกังวลอะไรแล้วเลย ใช้จ่ายได้สบายๆ ตลอดชีวิตแน่ๆ แต่อย่างไรก็ตามถ้าเราไม่ระมัดระวังการใช้จ่ายเราอาจใช้เงินก้อนนี้หมดก่อนที่เราจะเสียชีวิต หรือ อาจต้องมาลดระดับมาตรฐานการใช้ชีวิตตอนอายุมากๆก็เป็นได้ แต่ถ้าเรากระเหม็ดกระแหม่มากเกินไป เราก็อาจไม่ได้ใช้เงินสมตามฐานะที่ควรจะเป็น ด้วยการมีเงินเก็บได้มากขนาดนี้ ผมก็เชื่อได้ว่ามาตรฐานการครองชีพของผู้ฟังท่านนี้คงไม่ได้แย่มากนัก หากไปจำกัดจำเขี่ยการใช้จ่ายมากเกินไป ชีวิตหลังเกษียณก็จะไม่มีความสุขเช่นกัน
เราลองมาดูกันนะครับว่าท่านผู้ฟังท่านนี้จะใช้เงินก้อนนี้ได้มากแค่ไหน และนานแค่ไหน เนื่องจากไม่มีข้อมูลมากนัก ดังนั้นผมจะใช้สมมติฐานอย่างระมัดระวัง เช่น ผู้ฟังท่านนี้ไม่มีความชำนาญด้านการลงทุนด้วยตัวเอง และไม่ชอบความเสี่ยง ดังนั้นพอร์ตการลงทุนจะเป็นแบบความเสี่ยงต่ำ
หากผู้ฟังท่านนี้ใช้จ่ายเงิน เดือนละ 50,000 บาท หรือ ปีละ 600,000 บาท จะสามารถใช้เงินได้นานถึง 40 ปี
หากใช้จ่าย เดือนละ 100,000 บาท หรือ ปีละ 1,200,000 บาท จะสามารถใช้เงินได้นานถึง 18 ปี
ปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องอีกปัจจัยคือ อายุขัยที่คาดไว้ หากผู้ฟังท่านนี้ปัจจุบันอายุ 59 ปี (อีก 1 ปีข้างหน้าจะเกษียณ) และคาดว่าจะมีอายุขัยถึง 85 ปี (อย่าลืมว่าอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยจะมากขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจุบัน อายุขัยเฉลี่ยผู้หญิง 78 ปี) หากเป็นเช่นนั้น ผู้ฟังท่านนี้อาจใช้จ่ายได้ระหว่าง 50,000 – 100,000 บาทต่อเดือน
Asset Allocation | Yield | % | Port Yield (%) |
หุ้น | 7 | 20 | 1.4 |
ตราสารหนี้ | 2.5 | 30 | 0.75 |
กองทุนอสังหาฯ | 6 | 30 | 1.8 |
เงินสด/money market | 1 | 20 | 0.2 |
Total | 100 | 4.15 |
* ประมาณการผลตอบแทน รวมเงินปันผลและกำไรจากส่วนต่างราคา และเป็นผลตอบแทนหลังหักภาษีแล้ว
จะเห็นได้ว่าการใช้จ่ายเงินหลังเกษียณ 50,000-100,000 บาทต่อเดือน สำหรับชีวิตในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ ก็ไม่ได้หรูหราอะไรมากมาย แบบนึกอยากจะใช้อะไรก็ใช้ได้ตามใจชอบ อยากเที่ยวต่างประเทศ อยากช้อปปิ้งของแบรนด์เนม ก็อาจสามารถทำได้ในระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ทำได้แบบเต็มที่ แต่ก็มีชีวิตที่สุขสบายได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามการวางแผนนี้ยังไม่ได้คำนึงถึง ค่ารักษาพยาบาลในช่วงสุดท้ายของชีวิต ซึ่งจะมีมากถึง 90-95% ของค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลตลอดชีวิต ดังนั้นคำแนะนำเพิ่มเติม ท่านผู้ฟังท่านนี้จึงควรมีสวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาลให้เพียงพอ ด้วยการซื้อประกันสุขภาพ หรือกันเงินก้อนส่วนหนึ่งไว้เป็นค่ารักษาพยาบาลไว้จะได้ไม่ต้องกังวลเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย
คำพูดที่ว่า “น่าเสียดายที่ตายแล้วใช้เงินไม่หมด แต่น่าสลดที่เงินหมดแต่ยังไม่ตาย” เราทุกคนคงอยากเป็นแบบแรกกัน ดังนั้นเราจึงควรต้องวางแผนการเงินกันนะครับ