สรุป 6 ข้อคิด จากหนังสือ Thinking, Fast and Slow ที่นำไปปรับใช้กับการลงทุนได้

หลายคนน่าจะรู้จักหนังสือชื่อดังอย่าง Thinking, Fast and Slow ซึ่งเขียนโดยคุณ Daniel Kahneman นักจิตวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเจ้าของรางวัลโนเบลในปี 2002 โดยหนังสือเล่มนี้จะเจาะลึกถึงระบบความคิดที่จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของมนุษย์ ซึ่งหลาย ๆ อย่างนั้นถือว่าใกล้ตัวมากทีเดียว

เล่าก่อนว่าตัวละครหลักในหนังสือเล่มนี้คือระบบ 1 และระบบ 2 ในสมอง (เป็นชื่อที่ผู้เขียนหนังสือตั้งขึ้นเอง ไม่ใช่ชื่อทางวิชาการ)

ระบบทั้งคู่นั้นเกี่ยวข้องกับความคิดของเรา โดยระบบแรกนั้นจะเป็นการคิดแบบไว ๆ ทำตามสัญชาตญาณ ไม่ต้องใช้สมาธิมาก เรียกได้ว่าทำไปตามธรรมชาติ ส่วนระบบที่สองนั้น จะเป็นการคิดช้า ๆ แบบเพ่งพินิจ ใช้สมาธิ ใช้ต่อเมื่อต้องการโฟกัสในการทำอะไรสักอย่างที่ซับซ้อนหรือยาก

ยกตัวอย่าง หากเราเจอคนหน้าบึ้ง ระบบแรกก็จะประมวลผลทันทีเลยว่าคนนี้อารมณ์บูด หรือเวลาเราได้ยินเสียงอะไรดัง ๆ สมองก็จะสั่งให้เราหันไปหาต้นเสียงโดยอัตโนมัติ นี่คือการทำงานของระบบแรก

กลับกัน หากเราเจอโจทย์เลขแบบ 394 x 39 ถ้าไม่มีเครื่องคิดเลขแล้วต้องคิดเอง เราก็คงใช้เวลากันพักหนึ่งในการเพ่งหาคำตอบ หรือ เวลาเดินเขาที่มีเส้นทางน่าหวาดเสียวเสี่ยงตาย สมองเราก็จะโฟกัสโดยอัตโนมัติ นี่คือการทำงานของระบบสอง

สองระบบนี้ทำงานควบคู่กันไป เราไม่สามารถพึ่งพาอันไหนได้เพียงอันเดียว ระบบแรกนั้นมีข้อดีตรงที่ไม่กินแรง ทำให้การดำเนินชีวิตสะดวกสบายขึ้น แต่มีข้อเสียตรงที่อาจจะพ่ายแพ้ต่อกลลวง ภาพลวงตา หรืออคติทางจิตได้ ส่วนระบบที่สองนั้นดีตรงที่สามารถช่วยให้เราทำอะไรยาก ๆ ได้ แต่ข้อเสียก็คือมันกินแรงเหลือเกิน จะให้ใช้ระบบนี้ในชีวิตประจำวันตลอด ก็คงหมดแรงพอดี

ในการลงทุนนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบางครั้งระบบ 1 ก็เข้ามามีบทบาทแทนที่ระบบ 2 (แม้ว่าจริง ๆ ควรจะกลับกัน) และการที่ระบบ 1 ครอบงำการตัดสินใจของเรา ก็อาจส่งผลให้การลงทุนของเราไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

บทความนี้เลยอยากจะขอมาสรุป 6 ปรากฏการณ์ทางจิตใจที่อาจเกิดขึ้นได้จากระบบ 1 ซึ่งหากเรารู้ทัน เราก็จะได้เรียกระบบ 2 ของเราออกมาใช้ได้ทัน ช่วยให้การเงินการลงทุนเป็นไปตามแผนที่วางไว้ได้ดีขึ้น

1. อย่าเผลอยึดผลลัพธ์

Outcome Bias คือชื่อเรียกของความลำเอียงประเภทหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อเราตัดสินใจโดยอ้างอิงจากผลลัพธ์ล้วน ๆ ไม่ได้ดูลึกลงไปว่าอะไรทำให้เกิดผลลัพธ์นั้น ๆ

เช่น หากเราขาดทุนจากการลงทุน เราอาจจะมองว่ากลยุทธ์การลงทุนที่ผ่านมานั้นผันผวน เสี่ยงสูงเกินไป หรือสินทรัพย์ที่เราลงทุนนั้นเป็นสินทรัพย์ที่ “แย่” ในขณะเดียวกันหากเราได้กำไร เราก็จะมองว่าเป็นกลยุทธ์ที่ดี เหมาะกับตัวเรา มองว่าสินทรัพย์ที่ลงทุนไปนั้น “ดีเยี่ยม”

ความลำเอียงนี้จะส่งผลกับการตัดสินใจต่อ ๆ ไปของเรา หากเราเคยขาดทุน เราก็จะระมัดระวังมากขึ้น (จนเผลอมองข้ามโอกาสดี ๆ อื่น ๆ) และหากเราเคยกำไร เราก็จะยิ่งบู๊มากขึ้น (จนไม่ทันระวังตัวก็มี) ซึ่งถามว่าการตัดสินใจของเรามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับผลตอบแทนไหม ก็ต้องตอบว่ามีบางส่วน แต่สิ่งที่เราคาดคะเนไม่ได้เลยคือปัจจัยอื่น ๆ ที่จะมาพร้อมกับโชค (ใช่…หนังสือยอมรับว่า “โชค” หรือ “ดวง” มีอยู่จริง และส่งผลมากกว่าที่หลายคนคิด)

ทางที่ดีคือ เราควรมองหลาย ๆ ปัจจัย ไม่ใช่แค่ตัวเลขเงินที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างเดียว แล้วยึดว่ามันจะเป็นแบบนี้ไปตลอด แต่ควรดูว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ช่วยส่งให้การลงทุนที่ผ่านมาของเรานั้นดี/แย่ บางทีอาจจะเป็นปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้เลย เช่น บางปีอสังหาฯ ให้ผลตอบแทนดีมากเพราะดอกเบี้ยต่ำ หรือ ปีที่แล้วทองให้ผลตอบแทนดีมากเพราะโลกเจอวิกฤตโควิด-19 เป็นต้น

2. อย่าซื้อขายระยะสั้น ถ้าใจไม่ถึง

มนุษย์เรานั้นเวลาตัดสินใจก็มักจะมองเป็นอย่าง ๆ ไป หรือที่เรียกว่า Narrow Framing เพราะมันง่ายกว่า แต่ถ้ามองอีกแบบ มองแบบภาพรวม (Broad Framing) ก็จะเห็นผลลัพธ์ที่ต่างกันออกไป

การพนันด้วยการทอยเหรียญเพียงครั้งเดียว แล้วเสี่ยงดวงเอาครึ่งต่อครึ่งว่าจะเสียเงินหรือได้เงิน ฟัง ๆ แล้วอาจจะดูไม่น่าสนใจ ฟังดูเสี่ยงเกินไป (โอกาสเสียตั้ง 50% แน่ะ!) โดยเฉพาะสำหรับคนที่กลัวความเสี่ยง แม้ว่าจะเป็นจำนวนเท่า ๆ กัน แต่การเสียนั้นจะทำให้รู้สึกเจ็บปวดยิ่งกว่าเป็นสองเท่า เมื่อเทียบกับความรู้สึกดีใจจากการได้ในจำนวนเท่า ๆ กันเสียอีก (ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Loss Aversion)

กลับมาที่การพนันข้างต้น ถ้าเป็นการพนันหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งก็คงจะชนะบ้างแพ้บ้าง จะดูน่าสนใจขึ้นทันทีหากเรามองภาพรวม โอกาสการสูญเสียถูกลดทอนน้ำหนักลงไป ส่วนโอกาสการชนะก็ถูกเน้นย้ำมากขึ้น

จุดนี้มีการเปรียบเทียบกับการลงทุน หนังสือบอกว่าคนที่มองการลงทุนเป็นภาพรวม เป็น “พอร์ตโฟลิโอ” ระยะยาวจะสามารถบริหารการลงทุน (และสภาพจิตใจ) ได้ดีกว่าคนที่มองว่าการลงทุนคือการซื้อ ๆ ขาย ๆ ระยะสั้นในแต่ละครั้ง ตรงกับวลีที่ว่าเวลาคือเพื่อนของนักลงทุน

3. “บัญชีในใจ” มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

โดยปกติแล้ว “เงิน” ก็คือ “เงิน” เงินทุกบาททุกสตางค์ล้วนมีค่าเท่ากัน และสามารถใช้แทนกันได้หมด แต่ปรากฏการณ์ Mental Accounting ไม่ทำให้เราคิดแบบนั้น

มองในแง่ดี Mental Accounting ช่วยให้เราแบ่งเงินออกตามวัตถุประสงค์การใช้งานได้ เช่น เงินก้อนนี้สำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เงินก้อนนี้เป็นเงินลงทุนระยะยาว เงินก้อนนี้ไว้สำหรับไปเที่ยว ฯลฯ ซึ่งนี่ก็คือลักษณะของ Narrow Framing ช่วยให้บริหารจัดการเงินได้ดีขึ้น

ถามว่าแล้วผลเสียของ Mental Accounting ล่ะมีไหม? ก็ต้องบอกว่ามีเหมือนกัน เพราะบางครั้งมันอาจจะส่งผลให้เราตัดสินใจ “ใช้เงินเยอะ” ในส่วนที่เป็นเงินโบนัส หรือเงินจากการถูกหวย ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันก็คือเงินเหมือนกัน เหมือนกับเงินเดือนที่เราขวนขวายหามา หรือเงินทุนที่อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบเพื่อซื้อหุ้น นั่นก็เพราะพอเป็นเงินที่หามาได้จากความพยายาม เราอาจจะไม่กล้าใช้มันเท่าไร แต่พอเป็นเงินลาภลอย ก็จะกล้าใช้มากขึ้น ทั้งที่จริง ๆ เราสามารถนำลาภลอยไปเก็บออม ไปลงทุนต่อก็ได้

4. อะไรที่ไปสูงมาก หรือตกต่ำมาก สุดท้ายก็จะกลับคืนสู่จุดสามัญ

Regression to The Mean คือแนวคิดที่ว่าอะไรที่สุดโต่งมาก ๆ สุดท้ายก็จะค่อย ๆ เคลื่อนเข้าสู่จุดค่าเฉลี่ยของมันเอง เด็กที่เคยสอบได้คะแนนสูงมาก ๆ ในครั้งแรก มักจะทำได้ไม่ดีเท่าเดิมในครั้งที่สอง เพราะครั้งแรกเขาอาจจะโชคดีมาก ๆ และโอกาสที่จะโชคดีเท่าเดิมนั้นก็ไม่เยอะ (ในเชิงจิตใจ เด็กอาจจะกดดันในครั้งที่สอง ทำให้ทำข้อสอบได้ไม่ดีเท่าครั้งแรก) ในขณะที่เด็กซึ่งทำผลสอบได้ไม่ดีในครั้งแรก ก็ไม่ได้หมายความว่าครั้งต่อไปจะไม่ดีเช่นกัน เสร็จจากครั้งนั้นเขาอาจจะไปติวมากขึ้น ทำให้รอบต่อไปผลสอบดีขึ้นได้

ในฝั่งของการลงทุน เราอาจจะได้เห็นผลตอบแทนของแต่ละสินทรัพย์ที่เหวี่ยงขึ้นเหวี่ยงลง บางปีก็ขึ้นสูงมาก บางปีก็ตกต่ำมาก แต่แน่นอนว่าไม่มีสินทรัพย์ไหนเลยที่จะขึ้นไปตลอด หรือลงไปตลอด สุดท้ายทุก ๆ สินทรัพย์ย่อมกลับมาสู่จุดค่าเฉลี่ยระยะยาว

นี่ก็ส่งผลต่อระยะเวลาการลงทุนด้วยเช่นกัน หากลงทุนสั้น ๆ ซื้อขายไว ๆ เราก็จะพบกับความเสี่ยงที่มากกว่า เพราะเราอาจจะเจอปีที่ “โชคดีเป็นพิเศษ” หรือ “โชคร้ายเป็นพิเศษ” ก็ได้ แต่ถ้าเราลงทุนยาว ๆ ไป ความเสี่ยงหรือ “โชค” ระยะสั้นจะไม่มีผลมากนัก ผลตอบแทนก็จะได้เป็นค่าเฉลี่ยระยะยาวไป

อีกวิธีที่จะช่วยให้เรารับมือกับสถานการณ์นี้ได้คือ การจัดพอร์ตให้มีหลาย ๆ สินทรัพย์ นั่นเพราะในช่วงเวลา ณ ขณะหนึ่ง ไม่มีทางที่ทุกสินทรัพย์จะพร้อมใจกันทำผลงานได้ดีสุด ๆ หรือแย่สุด ๆ จะต้องมีสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งที่ดี หรือ ไม่ดี ปะปนกันไป การจัดพอร์ตให้ครอบคลุมทุก ๆ สินทรัพย์ จะช่วยพยุงการลงทุนระยะยาวของเราไปได้อย่างมั่นคงมากขึ้น

5. ทำไมบางคนขายหุ้นดี ทนถือหุ้นแย่

Disposition Effect เป็นปรากฏการณ์ที่ใช้อธิบายว่าทำไมนักลงทุนบางคนถึงขายหุ้นที่กำไรดี ๆ ไป แต่ยังทนขาดทุนกับหุ้นแย่ ๆ

เหตุผลคือการขายหุ้นดี ๆ ที่กำไรแล้ว จะทำให้เขารู้สึกว่า “ทำแต้ม” ได้ ในขณะที่การขายหุ้นแย่ ๆ แบบขาดทุนจะทำให้เขารู้สึกว่า “เสียแต้ม”

สมมติว่า เราต้องการขายหุ้นสักตัว เรามีตัวเลือกระหว่างหุ้นดีอย่างหุ้น A ที่กำไรแล้ว กับหุ้น B ที่เป็นหุ้นแย่แถมกำลังขาดทุนอยู่ หากเราขายหุ้น A เราจะทำกำไรได้ 5,000 บาท ส่วนหุ้น B นั้น มูลค่าทั้งหมดที่เราถือตอนนี้อยู่ที่ 5,000 บาท น้อยกว่าตอนที่เราซื้อมันมา

หากเราโดน Disposition Effect ครอบงำ เราก็จะเลือกขายหุ้น A เพราะมันทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองได้กำไร ทั้งที่จริง ๆ แล้วหากขายหุ้น B เราก็ได้ 5,000 บาทเหมือนกัน แต่เราจะรู้สึกแย่กว่าเพราะว่าเราขายหุ้น B แบบขาดทุน

ถ้าเราหยุดใช้ระบบ 2 เข้ามาไตร่ตรอง เราก็จะเข้าใจว่าเงินที่ได้มันเท่ากัน ทีนี้ก็ต้องไปดูที่หุ้นรายตัวแล้วละว่าตัวไหนมีแนวโน้มไปได้ดีต่อ และตัวไหนที่ควรขายทิ้ง ก็จะช่วยให้เราไม่ต้องเผลอขายหมู หรือติดดอย

6. “ต้นทุนจม” ตัวฉุดไม่ให้เราก้าวหน้า

Sunk-Cost Fallacy เป็นปรากฏการณ์ที่อธิบายถึงการจมปลักอยู่กับสถานการณ์ที่แย่ไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่มีตัวเลือกอื่น ๆ ที่ดีกว่าอยู่

ตัวอย่างในด้านการเงินการลงทุนก็เช่น สมมติเราทุ่มเงินซื้อหุ้นไปแล้ว แต่หุ้นดันตกหนักมาก ขณะเดียวกันเราก็เห็นว่ามีหุ้นอีกตัวหนึ่งที่เป็นขาขึ้น ทำกำไรได้ดี เราจะขายหุ้นที่ขาดทุนอยู่ทิ้งแล้วไปซื้อหุ้นอีกตัวที่มีแนวโน้มดีกว่าหรือไม่?

หากเราโดนกับดักของ Sunk-Cost Fallacy เราจะไม่กล้า เพราะเรามองว่าเราได้เสียเงินไปกับหุ้นแย่ตัวนี้แล้ว ถ้าขายไปมันจะกลายเป็น Sure Loss ทนถือ ๆ ไปหน่อยละกัน ทั้งที่ความจริงแล้ว เราไม่ควรนำต้นทุนที่เราเสียไปแล้ว มากำหนดการตัดสินใจของเรา อะไรที่มันผ่านไปแล้วก็ควรผ่านไป แล้วมองไปข้างหน้าดีกว่าว่ามีโอกาสอะไรให้คว้าบ้าง

สรุป

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ คือตัวอย่างของปรากฏการณ์อคติทางจิตใจที่เกิดขึ้นจากระบบ 1 ซึ่งเน้นการคิดเร็ว คิดง่าย ไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรมาก ซึ่งหลาย ๆ ครั้งเราก็ไม่รู้ตัว เผลอเหยียบกับดักเหล่านั้น ทำให้การตัดสินใจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ทางแก้คือ เราจะต้องรู้ทันอคติที่เกิดจากระบบ 1 เหล่านี้ว่ามันมีข้อผิดพลาดอย่างไร เมื่อรู้แล้วก็ต้องรีบนำระบบ 2 มาใช้วิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผลให้ทัน ก็จะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงอคติทางจิตใจเหล่านี้ไปได้

แน่นอนว่ายังมีอีกหลาย ๆ อคติเลยจากหนังสือ Thinking, Fast and Slow แต่ขอหยุดไว้เท่านี้ก่อนเพราะเดี๋ยวจะยาวเกิน ถ้ามีโอกาสหน้าอาจจะมาแชร์เพิ่มเติม หรือถ้าใครสนใจหนังสือก็ไปหาอ่านกันได้นะ เพราะในหนังสือจะมีกรณีศึกษา รวมถึงการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ที่จะทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ทางจิตใจต่าง ๆ ได้ดีขึ้นทีเดียว