
สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ตัดสินใจเดินเกมด้วยการออกคำสั่งพิเศษ (Executive Order) เพื่อเร่งทำเหมืองใต้ทะเลลึก ทั้งในเขตน่านน้ำของสหรัฐฯ และในน่านน้ำสากล โดยมีเป้าหมายคือ ลดการพึ่งพาจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งด้านแร่หายากของโลก
Gold Rush ใต้ทะเล
โพลีเมทัลลิก โนดูลส์ | Source: EOS
การเคลื่อนไหวของทรัมป์มุ่งหวังให้บริษัทเอกชนสหรัฐฯ เข้าถึง “โพลีเมทัลลิก โนดูลส์” (Polymetallic Nodules) หรือก้อนหินขนาดเท่า “หัวมันฝรั่ง” ที่กระจายตัวอยู่ตามพื้นมหาสมุทร และอุดมไปด้วยแร่ธาตุสำคัญทางยุทธศาสตร์ เช่น โคบอลต์ นิกเกิล ทองแดง และแมงกานีส แร่เหล่านี้มีบทบาทสำคัญทั้งในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เทคโนโลยี และการป้องกันประเทศ
คำสั่งของทรัมป์ได้รับการตอบรับอย่างดีจาก NOAA (สำนักงานบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศของสหรัฐฯ) โดยระบุว่านี่อาจเป็น “ยุคตื่นทองครั้งใหม่” และเป็นรากฐานของอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศที่เข้มแข็ง
ผู้เล่นคนแรกเปิดตัว
หนึ่งในบริษัทที่เดินเกมทันทีคือ The Metals Company (TMC) บริษัทสัญชาติแคนาดาที่จดทะเบียนในตลาด Nasdaq มุ่งเน้นการสำรวจและทำเหมืองใต้ทะเลลึก ได้รีบยื่นขอใบอนุญาตทำเหมืองใต้ทะเลในน่านน้ำสากลทันทีหลังคำสั่งถูกประกาศ
Gerard Barron ซีอีโอของ TMC ระบุว่าการมี “ทิศทางที่ชัดเจน” จากรัฐบาลสหรัฐฯ ช่วยเติมความมั่นใจให้กับนักลงทุนแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เขากล่าวว่า
“ตั้งแต่คำสั่งของทรัมป์ออกมา ความสนใจจากนักลงทุนก็พุ่งขึ้นมหาศาล ต่างกับก่อนประกาศราวฟ้ากับดิน”
นอกจากนี้ TMC ยังเตรียมยื่นรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมั่นใจว่ากระบวนการของตนสามารถทำเหมืองได้อย่างปลอดภัยและลดผลกระทบต่อธรรมชาติ
เสียงคัดค้านจากทั่วโลก
เครื่องจักรเก็บก้อนแร่จากพื้นทะเล | Source: The Metals Company
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวนี้ไม่ใช่เรื่องที่ไร้ข้อโต้แย้ง เพราะขัดกับความพยายามของ ISA (องค์กรพื้นดินท้องทะเลระหว่างประเทศ) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติ (UN) ที่มีหน้าที่กำหนดกรอบกฎหมายควบคุมการทำเหมืองใต้ทะเลในน่านน้ำสากล
ISA เตือนว่าการออกนอกลู่นอกทางด้วยการดำเนินการเองโดยไม่ผ่าน ISA ถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
ขณะที่จีนซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเจรจาของ ISA ก็ออกแถลงการณ์ว่า คำสั่งของทรัมป์ “ละเมิดกฎหมายสากล” และ “บ่อนทำลายผลประโยชน์ร่วมของประชาคมโลก”
ด้านนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและนักวิทยาศาสตร์ก็ออกมาเตือนเช่นกันว่า การทำเหมืองใต้ทะเลลึกเป็นกิจกรรมที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงต่อระบบนิเวศ และยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสามารถดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน
Danielle Fugere จากองค์กร As You Sow ซึ่งเรียกร้องให้ชะลอการทำเหมืองใต้ทะเลลึก ระบุว่า การผลักดันแบบเร่งรีบเช่นนี้ “สร้างพายุ” ทั้งทางการเมืองและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของสหรัฐฯ ที่ยังไม่ได้ลงนามในอนุสัญญากฎหมายทะเล UNCLOS
“เราเป็นกังวลอย่างมากต่อคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับนี้ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตในทะเล ทรัพยากรใต้สมุทร และประเทศที่พึ่งพามหาสมุทรในการดำรงชีวิต” Fugere กล่าว
ภูมิรัฐศาสตร์ใต้มหาสมุทร
นักวิเคราะห์จาก Eurasia Group มองว่า คำสั่งของทรัมป์อาจเขย่ากระดานการเมืองโลก เพราะหลายประเทศกำลังมองหาทางลดการพึ่งพาจีน ขณะเดียวกันก็เผชิญแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อมจากประชาคมโลก
Maria Jose Valverde นักวิเคราะห์จาก Eurasia Group ระบุว่า คำสั่งนี้อาจเร่งให้สมาชิก ISA ต้องหาข้อตกลงร่วมให้เร็วขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด “การแข่งขันขุดเหมืองใต้ทะเล” แบบไม่มีข้อกำกับ
คำสั่งของทรัมป์เปรียบเสมือนการเปิดศึกชิงทรัพยากรยุคใหม่ที่ไม่ได้อยู่บนผืนดิน แต่ลึกลงไปใต้มหาสมุทร และแม้จะเต็มไปด้วยโอกาสทางเศรษฐกิจมหาศาล แต่ก็ต้องแลกมาด้วยคำถามเรื่องกฎหมาย ความยั่งยืน และความเป็นธรรมระหว่างประเทศ
อ้างอิง: CNBC