Dollar Index คืออะไร? เกี่ยวอะไรกับการลงทุน?

ใครที่ติดตามข่าวสารการลงทุน คงจะคุ้นเคยกับคำศัพท์อย่าง Dollar Index แต่อาจจะมีบางคนที่ยังไม่รู้ว่าสิ่งนี้คืออะไร แล้วส่งผลอย่างไรกับการลงทุน? มาทำความเข้าใจกับ Dollar Index ให้มากขึ้นกัน

ความสำคัญของค่าเงินดอลลาร์

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เงินเหรียญสหรัฐฯ ถือได้ว่าเป็นเงินสกุลหลักของโลก เห็นได้จากสินทรัพย์ต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ทองคำ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ต่างกำหนดราคาในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และการซื้อขายสินค้าและบริการระหว่างประเทศ ก็มักกำหนดราคาซื้อขายเป็นดอลลาร์ นอกจากนั้น ความสำคัญของดอลลาร์สหรัฐฯ ยังอยู่ในรูปของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศด้วย โดยประมาณกันว่า เกือบ 2/3 ของทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศต่าง ๆ จัดเก็บในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่าเงินดอลลาร์สำคัญยิ่งสำหรับการค้าและการลงทุน และเปรียบเหมือนเงินสกุลหลักของโลกที่ประเทศต่าง ๆ ให้ความเชื่อถือ

Dollar Index คืออะไร อ่านค่าอย่างไร

เมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นที่ต้องการอย่างกว้างขวาง จึงมีระบบการวัดความต้องการนั้น ๆ ภายใต้สมมติฐานว่า ถ้าค่าเงินสกุลใดเป็นที่ต้องการมาก เงินสกุลดังกล่าวก็จะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลอื่น ๆ ซึ่งการวัดความแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นี้เอง ถูกจัดทำเป็นดัชนีที่เรียกว่า Dollar Index

Dollar Index จะวัดความแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับสกุลเงินต่าง ๆ ทั้งหมด 6 สกุล ประกอบด้วย เงินเยนญี่ปุ่น เงินปอนด์อังกฤษ เงินดอลลาร์แคนาดา เงินโครนาสวีเดน เงินฟรังก์สวิส และเงินยูโร โดยมีอัตราการเฉลี่ยน้ำหนักต่างกัน ซึ่งเงินยูโรจะมีน้ำหนักในตะกร้า 57.6% รองลงมาเป็นเงินเยน และเงินปอนด์ตามลำดับ ทั้งนี้ เงินฟรังก์สวิสจะมีน้ำหนักในตะกร้าน้อยที่สุด ซึ่งการที่เงินยูโรมีน้ำหนักมากที่สุด ทำให้เราสามารถแปลความหมาย Dollar Index ง่าย ๆ ได้ว่า ถ้า Dollar Index ปรับตัวสูงขึ้น หมายความว่าเงินยูโรอ่อนตัว

Dollar Index คืออะไร? เกี่ยวอะไรกับการลงทุน?

สัดส่วนสกุลเงินต่าง ๆ ของ Dollar Index
Source: BabyPips

ทั้งนี้ ในปี 1973 ซึ่งเป็นปีที่ Dollar Index กำเนิดขึ้นหลังจากการล่มสลายของระบบ Bretton Woods นั้น Dollar Index ได้ถูกกำหนดค่าเริ่มต้นไว้ที่ 100 โดยถ้าปรับตัวสูงขึ้นกว่า 100 ก็หมายความว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินอื่น ๆ 6 สกุลดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น วันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 Dollar Index อยู่ที่ 106.4070 และสูงกว่าวันก่อนหน้า หมายความว่าดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นนั่นเอง

โดยตั้งแต่มี Dollar Index เกิดขึ้น ระดับ Dollar Index เคยสูงที่สุดที่ประมาณ 164 ในเดือนกุมภาพันธ์ 1985 และต่ำที่สุดที่ประมาณ 70 ในเดือนมีนาคม 2008 (ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และสหรัฐฯ มีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนตัว)

Dollar Index คืออะไร? เกี่ยวอะไรกับการลงทุน?

Dollar Index from 1/1/1971 – 04/11/2022
Source : FINNOMENA, Bloomberg As of 3/11/2022

การใช้ Dollar Index บอกแนวโน้มราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ

Dollar Index สามารถใช้บอกแนวโน้มราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ได้ กล่าวคือ จากการที่ Dollar Index วัดความแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับสกุลอื่น ๆ เมื่อใดก็ตามที่ Dollar Index ปรับตัวสูงขึ้น ก็จะหมายความว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นนั่นเอง การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แปลว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าในตัวมันเองมากขึ้น ทำให้เราสามารถใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวนน้อยลง เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าในปริมาณเท่าเดิม (เงินมีค่ามากขึ้น ทำให้ใช้เงินน้อยลงในการซื้อของเท่าเดิม) จึงหมายความว่าราคาสินค้าจะถูกลง เมื่อเทียบกับค่าเงินนั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น ถ้า Dollar Index ปรับตัวสูงขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมันจะปรับตัวลงนั่นเอง และในทางกลับกัน ถ้า Dollar Index ปรับตัวต่ำลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้น

ในลักษณะเดียวกับน้ำมัน เมื่อ Dollar Index ปรับตัวสูงขึ้น ราคาทองคำก็จะปรับตัวลง และในทางกลับกัน ถ้า Dollar Index ปรับตัวต่ำลง ราคาทองคำก็จะปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ สำหรับการเคลื่อนไหวของเงินทุน หรือ Fund Flow ซึ่งเป็นการบอกทิศทางการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ การแข็งค่าของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ โดยทั่วไปย่อมหมายถึงการอ่อนค่าของเงินอีกสกุลหนึ่ง ซึ่งโดยธรรมชาติ นักลงทุนจะอยากไปลงทุนในประเทศที่ค่าเงินแข็งค่า เพราะว่าทำให้สกุลเงินที่ตนนำไปลงทุนนั้นมีค่าเพิ่มขึ้น เมื่อเงินสกุลนั้น ๆ มีค่าเพิ่มขึ้น ก็จะดึงดูดนักลงทุนให้เข้าไปลงทุนมากขึ้นอีก เป็นวัฏจักรต่อเนื่องกันไป

ยกตัวอย่างเช่น ถ้า Dollar Index ปรับตัวสูงขึ้น ก็มักจะทำให้ Fund Flow ไหลออกจากประเทศอื่น ๆ มายังสหรัฐฯ มากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนต้องการมาแสวงหาผลตอบแทนจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในทางกลับกัน ถ้า Dollar Index ปรับตัวลง ก็มักจะเห็น Fund Flow ไหลออกจากสหรัฐฯ มายังประเทศอื่น ๆ เช่น ในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้า เงินบาทไทยค่อนข้างแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เห็นเม็ดเงินไหลเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นอีก และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนี้เอง ก็ดึงดูดให้ต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุน และแสวงหากำไรเป็นวัฏจักรต่อเนื่อง

การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นผ่าน Dollar Index และ Tactical Call ของ FINNOMENA

หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศอัตราเงินเฟ้อ (CPI) ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาด ทำให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม เหลือเพียง 0.5% เท่านั้น (จากเดิมที่เชื่อว่าจะขึ้นถึง 0.75%) ทำให้ Dollar Index ปรับตัวลดลงทันที สะท้อนให้เห็นว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนตัวเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ (แปลง่าย ๆ ว่า การขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ตลาดคาด ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ สร้างผลตอบแทนผ่านอัตราดอกเบี้ยได้น้อยลง นักลงทุนจึงสนใจลงทุนในเงินดอลลาร์น้อยลง)

เมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนตัว นั่นหมายความว่า จะเกิด Fund Flow จากสหรัฐฯ ไปยังประเทศอื่น ๆ ซึ่งใน Tactical Call ของ FINNOMENA เห็นว่าตลาดเกิดใหม่ เช่น MSCI Emerging Market น่าจะเป็นตลาดที่ได้ประโยชน์ จาก Fund Flow ดังกล่าว ด้วยเหตุนี้จึงแนะนำกองทุน iShares MSCI Emerging Markets ETF ซึ่งจะสอดคล้องกับ Dollar Index ที่ปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมา

References

https://libertystreeteconomics.newyorkfed.org/2022/06/will-the-u-s-dollar-continue-to-dominate-world-trade/

https://www.imf.org/en/Blogs/Articles/2021/05/05/blog-us-dollar-share-of-global-foreign-exchange-reserves-drops-to-25-year-low

https://www.bloomberg.com/quote/DXY:CUR

https://finance.yahoo.com/quote/DX-Y.NYB/history?period1=31795200&period2=1668643200&interval=1d&filter=history&frequency=1d&includeAdjustedClose=true

https://www.finnomena.com/finnomena-ic/tactical-call-em-nov-2022/

iran-israel-war