กองทุนรวมกับประกัน ทำไมต้องแยกกัน ทั้งๆ ที่เราสามารถแนะนำผลิตภัณฑ์ทั้งสองอย่างนี้ไปพร้อมกันได้ และทำให้เราสามารถดูแลเงินของลูกค้าได้แบบครบทุกแง่มุม

อาชีพที่เราเห็นในปัจจุบัน คนที่เป็นตัวแทนประกันก็จะชัดเจนในงานของตัวเองว่า มีหน้าที่แนะนำผลิตภัณฑ์ประกันให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพ หรือประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่เป็นที่นิยมกัน ส่วนคนที่ทำงานในสายแนะนำการลงทุนในกองทุนรวม หรือที่เรียกว่าเป็น ผู้แนะนำการลงทุน ก็จะแนะนำเรื่องการลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งไปเลย เน้นการลงทุนในกองทุนรวมและตราสารหนี้ ไม่ได้พูดถึงความสำคัญของเรื่องประกัน

จากภาพที่เราเห็นสองเรื่องนี้มักถูกแยกออกจากกัน แต่จริงๆ แล้ว ทั้งประกันและกองทุนรวมมีความสำคัญต่อการบริหารเงินในแง่มุมที่ต่างกัน เรื่องเงินเหมือนจะง่ายแต่ก็มีความซับซ้อน ไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะแก้ปัญหาเรื่องเงินได้ทุกเรื่อง ดังนั้นจึงต้องมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลายๆ อย่างเกิดขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายที่แตกต่างกัน เปรียบเทียบให้เห็นภาพเหมือนกับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่มีการใช้งานที่แตกต่างกัน แต่ก็กลมกลืนกันอย่างลงตัวในการใช้ชีวิตประจำวัน

กองทุนรวม & ประกัน แต่ละอย่างตอบโจทย์เรื่องอะไร

กองทุนรวม

กองทุนรวมตอบโจทย์เรื่อง “ทำให้เงินงอกเงย”

เมื่อซื้อหน่วยลงทุน และ NAV ของกองทุนที่เราซื้อมีมูลค่าสูงขึ้น มูลค่าเงินของเราก็มากขึ้น เมื่อขายออกมาก็จะได้ผลตอบแทนเป็นส่วนต่างกำไร (Capital Gain) หรือเมื่อถือไปเรื่อยๆ บางกองก็จะจ่ายผลตอบแทนเป็นเงินปันผล (Dividend) ออกมาอย่างสม่ำเสมอ

สาเหตุที่กองทุนรวมเป็นที่นิยมเป็นเพราะว่า กองทุนรวมสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูง ถึงแม้ว่าจะไม่สูงเท่ากับการลงทุนในหุ้นด้วยตัวเอง แต่กองทุนรวมก็มีกลไกในการปกป้องผู้ลงทุนซึ่งตลาดหุ้นไม่มี เช่น การมีผู้จัดการกองทุนคอยติดตามตลาดและลงทุนให้ การมีมาตรฐานว่ากองทุนต้องบริหารให้ชนะ benchmark ในตลาดนั้นๆ เป็นต้น ซึ่งจุดนี้ทำให้ผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องตลาดสูงมาก ก็สามารถลงทุนเพื่อสร้างเงินให้งอกเงยได้

ประกัน

ประกันตอบโจทย์เรื่อง “คุ้มครองเงินให้ปลอดภัย”

จุดนี้อาจจะมีคนสงสัยว่า ประกันทำขึ้นมาเพื่อคุ้มครองชีวิต คุ้มครองสุขภาพ เกี่ยวอย่างไรกับการคุ้มครองเงิน ขอยกตัวอย่างกรณีสมมุติว่า ถ้าเราทำงานเก็บเงินมาเรื่อยๆ เก็บเงินมาได้ก้อนหนึ่ง อยู่ดีๆ เกิดป่วยขึ้นมาและต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก จึงต้องนำเงินที่เก็บออมมาจ่ายไปก่อน สุดท้ายต้องกลับไปเริ่มเก็บเงินใหม่ตั้งแต่ต้น กรณีนี้แสดงว่าเงินของเรายังไม่ถูก “คุ้มครอง” ยังมีโอกาสที่เราจะสูญเสียเงินที่พยายามเก็บออมมาไปกับเหตุการณ์สุดวิสัยเหล่านี้อยู่

หลักการของประกันเริ่มแรก คือ การจ่ายเงินที่เรียกว่า “เบี้ยประกัน” เพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์บางอย่าง เช่น การได้รับเงินชดเชยเมื่อเสียชีวิต หรือสิทธิ์การช่วยเหลือเรื่องค่ารักษาพยาบาลตามเงื่อนไขการเจ็บป่วย เป็นต้น ประกันบางประเภทการจ่ายเบี้ยประกันจะเป็นการจ่ายทิ้งไปเลย เช่น ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ส่วนประกันบางประเภทเราจะได้รับเบี้ยประกันคืนเมื่อครบกำหนด เช่น ประกันชีวิตตลอดชีพ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ รวมถึง Unit Link ที่เป็นประกันชีวิตควบการลงทุนด้วย

สำหรับประกันประเภทจ่ายทิ้ง สิ่งที่เราต้องแลกในการคุ้มครองเงินของเราให้ปลอดภัย คือ ค่าเบี้ยประกันที่เราต้องเสียทุกปี ส่วนประกันที่คืนเบี้ยประกันเมื่อครบเงื่อนไข สิ่งที่ต้องแลก คือ สภาพคล่องของเงินที่ต้องแช่อยู่ในนั้น

เหตุผลที่ประกันและการลงทุนต้องอยู่คู่กัน

โมเดลด้านการวางแผนการเงิน มีอยู่โมเดลหนึ่งที่เข้าใจง่ายและใช้งานได้ดี คือ “ปิรามิดทางการเงิน”

ภาพจากบทความ วางแผนการเงิน = วางแผนชีวิต ด้วยปิรามิดทางการเงิน 

โมเดลนี้อธิบายว่า การวางแผนทางการเงินต้องเริ่มบริหารจากฐานด้านล่างปิรามิด แล้วค่อยขึ้นไปสู่ยอดปิรามิด ถ้าแต่ละขั้นยังไม่แข็งแรง ก็ยังไม่ควรข้ามไปสู่ขั้นต่อไป

จากโมเดลนี้จะสังเกตว่า ขั้นตอน Protection นั้นมาก่อนขั้นตอน Investment ซึ่งการ Protection หรือ การป้องกันความเสี่ยง ส่วนนี้หมายถึงการทำประกันนั่นเอง สาเหตุที่เวลาวางแผนการเงินควรคิดเรื่องประกันก่อนเรื่องลงทุนเป็นเพราะว่า ถ้าหากเรายังไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงหรือคุ้มครองเงินของเราไว้ก่อน เมื่อเกิดเหตุที่ไม่คาดคิดแล้วเราจำเป็นต้องใช้เงิน ทุกอย่างที่ทำมาทั้งหมดก็จะต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ เริ่มเก็บออมหรือเริ่มลงทุนใหม่ ดังนั้นขั้นตอนของ Protection ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนหลงลืม ควรทำควบคู่ไปกับการลงทุน

สำหรับประโยชน์ในส่วนของ Investment หรือการลงทุน ทำไปเพื่อให้เงินงอกเงยและทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้ไวขึ้น ปัจจุบันการลงทุนในกองทุนรวมเป็นที่นิยมขึ้นมาก เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ความต้องการเงินมากขึ้น บวกกับดอกเบี้ยเงินฝากที่ไม่มากเหมือนเมื่อก่อน ทำให้เราต้องหาช่องทางที่ทำให้เงินงอกเงยช่องทางอื่น บทสรุปก็เลยมาลงที่กองทุนรวม และตามมาด้วยกระแสของอาชีพยุคใหม่ คือ Financial Advisor (ที่ปรึกษาทางการเงิน) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการช่วยวางแผนการเงินให้ลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าไปถึงเป้าหมายที่ตนเองต้องการ

FA ยุคปัจจุบันต้อง “รู้รอบด้าน”

จากนิยามการทำงานของ FA ที่ต้องยึดความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลาง คนที่เป็น FA จะยึดติดแต่เรื่องที่ตนเองถูกใจไม่ได้ ไม่ใช่ว่าชอบกองทุนรวมก็แนะนำแต่กองทุนรวม ชอบประกันก็แนะนำแต่ผลิตภัณฑ์ประกัน แต่การเป็น FA ต้องแนะนำได้ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องเงิน ตั้งแต่การจดบันทึกบัญชีรายรับรายจ่าย ไปจนถึงการวางแผนเกษียณและส่งต่อมรดกให้กับลูกหลาน เพราะเป้าหมายคือการดูแลเงินของลูกค้าให้ดีที่สุด

ตัวแทนประกันที่อยากเสริมการแนะนำกองทุนรวมให้กับลูกค้าต้องทำอย่างไร

สำหรับตัวแทนประกันที่ต้องการจะดูแลลูกค้าของตนเองให้ครบทุกด้าน นอกจากผลิตภัณฑ์ประกันที่คุ้มครองเงินของลูกค้าแล้ว ก็ต้องการแนะนำการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อให้เงินของลูกค้างอกเงยด้วย FINNOMENA ยินดีที่จะซัพพอร์ตในจุดนี้ครับ

จากบทความ FA Guide ตอนที่แล้ว FINNOMENA ให้สิทธิประโยชน์อะไรกับ FA บ้าง พูดถึง Benefit ต่างๆ ที่ FINNOMENA มีส่วนช่วยสนับสนุนการทำงานของ FA ทั้งเรื่องการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เรื่องการอัปเดตสถานการณ์ตลาด และเรื่องการแผนการลงทุนที่มีให้เลือกหลากหลาย จะช่วยให้การแนะนำการลงทุนในกองทุนรวมกับลูกค้าเป็นเรื่องง่าย และสามารถทำควบคู่ไปกับการเป็นตัวแทนประกันได้

สำหรับท่านที่สนใจ สามารถสมัครมาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ FA กับ FINNOMENA ได้ที่ finnomena.com/fa/ และประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม ตอนนี้ FINNOMENA กำลังเปิดรับสมัคร FA ในรูปแบบ FA Open House ซึ่งเป็นการรับสมัครตัวแทนอิสระในรูปแบบ Online ผ่านทาง Video Call (App Hangouts) ท่านที่สนใจสามารถเลือกวันเวลาที่สะดวกในการเข้าร่วม และลงชื่อสมัครได้ที่ลิงก์ finnomena.com/fa/ เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วนแล้วจะมีอีเมลจากทีมงานติดต่อกลับไป

ท่านใดมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถสอบถามเข้ามาได้ที่ช่องทาง LINE ID: @FINNOMENA ครับ

เขียนโดย FINNOMENA Admin