สรุปบทเรียนการเงินจาก Money, Explained: สารคดีไซส์มินิจาก Netflix

หลายคนที่มี Netflix อาจจะเคยผ่านหูผ่านตาสารคดีไซส์มินิที่ชื่อ Money, Explained ซึ่งมีทั้งหมด 5 ตอน ในบทความนี้เราจะขอมาสรุปเนื้อหาใจความสำคัญสำหรับคนที่ยังไม่สะดวกรับชม ไปดูกันเลยว่ามีหัวข้อไหนน่าสนใจบ้าง

สรุปบทเรียนการเงินจาก Money, Explained: สารคดีไซส์มินิจาก Netflix

EP1: Get Rich Quick: กลลวงรวยเร็ว

เชื่อว่าใคร ๆ ก็ต้องเคยเห็นโฆษณาพาดหัวทำนองว่า “อยากเป็นเศรษฐี ฟังทางนี้!” “ค้นพบวิธีสร้างเงินล้าน แบบไม่ต้องทำงาน!” ปฏิเสธไม่ได้ว่าล้วนเป็นคำพูดที่ชวนให้ตาลุกวาว สร้างความหวังที่สวยหรูให้กับใครหลาย ๆ คน

ทว่าน่าเสียดายที่คำกล่าวเกินจริงเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นเพียง Scam หรือเรื่องหลอกลวงทั้งนั้น

เรื่องหลอกลวงด้านการเงินนี่จะว่าไปแล้วก็เป็นอะไรที่แปลก ไม่เหมือนกับสิ่งอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ที่พอคนเราทำพลาดก็มักจะมีการเรียนรู้เพื่อไม่ให้เกิดซ้ำอีก แต่พอเป็นการหลอกเรื่องเงินนี่ เหมือนมนุษย์จะไม่เข็ดหลาบ เพราะโดนหลอกในอดีตอย่างไรตอนนี้ก็ยังโดนหลอกกันอยู่

การหลอกลวงขายฝันแบบนี้มีมานานตั้งแต่ก่อนยุคอินเตอร์เน็ตแล้วด้วยซ้ำ ในอดีตนั้นเคยมีการหลอกลวงเรื่องเงินที่ฉาว ๆ เป็นที่จดจำกันมาก ตัวอย่างเช่น

  1. ในปี 1821 นายพล Gregor McGregor จากสก๊อตแลนด์ สร้างประเทศปลอมที่ชื่อว่า Poyais ขึ้นมา อ้างว่าเป็นดินแดนแห่งความรุ่งเรือง หลอกเงินคนที่หวังจะไปใช้ชีวิตที่นั่นได้กว่า 20 ล้านดอลล่าร์
  2. ในช่วงปี 1920 ผู้อพยพชาวอิตาเลียน Charles Ponzi ได้ทำการขายฝันที่ว่า จะทำให้เงินของคุณเติบโต 2 เท่า ภายใน 90 วัน แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่ Ponzi ทำคือยืมเงินคนใหม่มาคืนคนเก่าไปเรื่อย ๆ เมื่อคนต้องการเงินพร้อมกัน ก็มีเงินให้ไม่ทัน ระบบก็พัง
  3. ในปี 2008 การโกงแบบ Ponzi เกิดขึ้นอีกครั้ง โดย Bernie Madoff ที่สามารถหลอกเงินมาได้หลายพันล้านดอลล่าร์ คนเชื่อเขาเยอะมากเพราะเขาเป็นเหมือนตัวแทนของชาวยิว
  4. ในปี 2016 Dr.Ruja Ignatova เชิญชวนให้คนถือเหรียญ OneCoin ซึ่งเคลมว่าจะมาแทนที่ Bitcoin เรียกเงินคนได้กว่า 4 พันล้านดอลล่าร์ แต่สุดท้ายแล้วเหรียญนี้ก็แลกกลับเป็นเงินตามที่หลายคนวาดฝันไว้ไม่ได้ ด็อกเตอร์ตัวต้นเรื่องก็หายวับไปในอากาศ

ตัวอย่าง Scam ด้านการเงินที่มักถูกใช้บ่อย ๆ

  1. Advance Fee: จ่ายเงินก้อนนึงก่อน เพื่อให้ได้รับเงินอีกก้อนในอนาคต (ซึ่งไม่เคยจะมาถึง) เช่น มีเศรษฐีกำลังเดือดร้อน ขอให้โอนตังค์มาให้ก่อน แล้วเดี๋ยวจะตอบแทนอย่างสาสม
  2. Pump & Dump: ปั่นราคาสินทรัพย์ให้ขึ้นไปสูง ๆ ถึงจุดหนึ่งก็เทขายออกมา พักหลังเกิดขึ้นบ่อยในวงการ Cryptocurrency
  3. Ponzi: ชื่อตามนักต้มตุ๋ม Charles Ponzi เป็นการนำเงินที่ได้จากคนใหม่ไปจ่ายคนเก่า วนไปเรื่อย ๆ ไม่ได้นำเงินนั้นไปลงทุนจริงจัง
  4. Pyramid: หน้าตาจะคล้าย ๆ การตลาดเครือข่าย แต่ต่างกันตรงที่ Pyramid ขายของไร้ประโยชน์ ได้เงินจากคนในเครือข่ายกันเอง
  5. Coaching: จ่ายเงินก้อนหนึ่งแลกกับความรู้ที่จะช่วยให้เราได้เงินเพิ่ม (ซึ่งสุดท้ายแล้วใช้ไม่ได้ผลจริง แต่คนขายขายเก่ง)

เทคนิคที่ถูกใช้ใน Scam เพื่อให้คนเชื่อ

  1. ใช้เรื่องเล่าที่น่าสนใจ เช่น จากตอนแรกจนกลายเป็นรวยได้
  2. ใช้คำเยินยอจากลูกค้าคนอื่น ว่า ใช้วิธีนี้แล้วได้เงินเท่านี้ ๆ แน่ะ
  3. ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าต้องรีบแล้ว เช่น คอร์สนี้เปิดรับแค่ 10 คนเท่านั้น
  4. ใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน เช่น ช่วงที่ซื้ออะไรก็ราคาขึ้น ช่วงที่แต่ละประเทศมีการเปลี่ยนแปลง คนจะไม่ค่อยสงสัยอะไร
  5. ย้ำว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องหลอกลวง”

แล้วพอมีอินเตอร์เน็ต ก็ยิ่งทำให้ Scam พวกนี้เข้าถึงคนได้ง่ายยิ่งขึ้นไปอีก เพราะการที่คนจะใช้อินเตอร์เน็ตอำนวยความสะดวกให้ตัวเองได้นั้น ก็จะต้องเชื่อใจคนอีกฟากฝั่ง คิดภาพเราซื้อของออนไลน์ ถ้าเราไม่เชื่อใจแม่ค้า เราก็คงไม่กล้าซื้อ และคงเลือกจ่ายตลาดแบบเดิม โดย Scammer ก็ได้ประโยชน์จากความเชื่อใจนี้แหละ นอกจากนี้ การหลอกลวงยังทำได้ง่ายขึ้นด้วย ใคร ๆ ก็โพสอะไรลงอินเตอร์เน็ตได้ทั้งนั้น

เหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้เรามักจะหลงเชื่อคำลวงที่เล่นกับความโลภเหล่านี้ก็เพราะในเชิงสังคมศาสตร์นั้น มนุษย์มีความเชื่อใจกัน ความเชื่อใจทำให้สังคมทุกวันนี้แข็งแกร่งและเดินหน้าต่อไปได้ (คิดภาพว่าถ้าคนไม่เชื่อใจกัน ก็คงไม่สามารถสร้างอะไรเจ๋ง ๆ ที่เปลี่ยนโลกได้) ทว่าความเชื่อใจนั้นก็เป็นดาบสองคม ทำให้หลงเชื่อคำลวงได้ง่ายเช่นกัน

ระวังอะไรก็ตามที่ง่ายเกินไป ยิ่งง่ายจนผิดสังเกตเท่าไรให้ยิ่งระวัง

สรุปบทเรียนการเงินจาก Money, Explained: สารคดีไซส์มินิจาก Netflix

EP2: Credit Cards เงินไวที่แฝงอันตราย

ในอดีตนั้น ถ้าอยากซื้อของชิ้นใหญ่ ๆ ก็ต้องไปธนาคารเพื่อกู้เงิน ธนาคารก็จะดูคร่าว ๆ ว่าเรามีความสามารถในการชำระเงินกู้มั้ย มีเงินเก็บเพียงพอมั้ย และมีความน่าเชื่อถือรึเปล่า วัดกันแบบตาเปล่า จากคำบอกเล่าของคนนี่ละ

แต่พอมีคอมพิวเตอร์เข้ามา ก็มีการใช้ Credit Scoring เข้ามาช่วยคำนวณความเสี่ยงของคนคนหนึ่ง และเมื่อบัตรเครดิตถือกำเนิดขึ้นมา สิ่งนี้ก็เป็นอีกส่วนที่มาเสริม Credit Score ของเรา

เราต่างก็รู้กันว่าบัตรเครดิตช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นมาก ไม่ต้องพกเงินสดก็จ่ายตังค์ได้ เวลาจะซื้อของราคาแพง ๆ ก็ไม่ต้องหอบเงินสดไป อีกทั้งบัตรเครดิตยังให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ มากมาย

แต่ภายใต้ความสวยงามเหล่านี้ หากเราไม่รู้จักบริหารการใช้บัตรเครดิตให้ดี เราอาจจะตกเป็นทาสของมันได้

คนอเมริกันประมาณ 4/10 มีหนี้บัตรเครดิต และ 1/10 คาดว่าจะตายก่อนใช้หนี้หมด!

คนใช้บัตรเครดิต มีประเภทไหนบ้าง

  1. คนที่จ่ายเต็มจำนวน: กลุ่มนี้มักไม่มีปัญหา บริษัทบัตรเครดิตจะได้เงินจากกลุ่มนี้ผ่านค่าธรรมเนียมการรูดการ์ด
  2. คนที่จ่ายไม่เต็มจำนวน: กลุ่มนี้แหละที่มักจะเจอปัญหาการเงิน เพราะหนี้ที่จ่ายไม่ครบจำนวนก็จะทบดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆ จนเป็นหนี้ก้อนใหญ่ บริษัทบัตรเครดิตทำเงินได้จากกลุ่มนี้เป็นหลัก
  3. คนที่แฮ็กวิธีใช้บัตรเครดิตได้อย่างคุ้มค่า: กลุ่มนี้จะเป็นพวกสะสมบัตรหลาย ๆ เจ้า และใช้สิทธิพิเศษของแต่ละเจ้าอย่างคุ้ม น่าจะเป็นกลุ่มที่บริษัทบัตรเครดิตแขยงที่สุด

เหตุผลที่คนบางคนเจอปัญหาหนี้บัตรเครดิต

  1. โดน Present Bias เล่นงาน คือเห็นว่าผลประโยชน์ในวันนี้ดึงดูดใจกว่า หนี้ที่ต้องจ่ายค่อยไว้ทีหลัง
  2. โดน Anchoring Effect คือพอเห็นว่าต้องจ่ายขั้นต่ำเท่าไร ก็จ่ายไม่ห่างจากมูลค่านั้นมาก (ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะไม่ได้มีเงินเก็บมาก)
  3. มองบัตรเครดิตเป็นเหมือนแหล่งที่พึ่งยามฉุกเฉิน ซึ่งพอเป็นในสภาวะที่ไม่มีเงินอยู่แล้ว การใช้บัตรเครดิตจะยิ่งตอกย้ำสถานะนั้นไปอีก
  4. งานวิจัยเจอว่ามนุษย์เราจะ “เจ็บปวดทางใจ” น้อยกว่า หากจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตแทนที่จะเป็นเงินสด

ทางที่ดีคือ เราควรเลือกบัตรที่เข้ากับตัวเรามากที่สุด และอย่าลืมตรวจเช็กสภาพคล่องและฐานะการเงินของตัวเองก่อน ต้องอย่าลืมว่าเงินจากบัตรเครดิตนั้นเป็นเงินกู้จากอนาคต ถ้าเราไม่มีเงินจ่ายตามเวลา เราก็จะต้องเสียดอกเบี้ยแสนแพง ยิ่งทำให้สภาวะติดหนี้นั้นยาวนานมากขึ้นไปอีก

สรุปบทเรียนการเงินจาก Money, Explained: สารคดีไซส์มินิจาก Netflix

EP3: Student Loans วิกฤตหนี้เงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

ในสหรัฐฯ นั้น ก็มีโครงการให้นักศึกษากู้ยืมเงินเพื่อเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยเช่นกัน แรกเริ่มเดิมทีนั้นนโยบายนี้เกิดขึ้นเพื่อหวังสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น แต่ต่อมาก็ขยับขยายเป็นทุก ๆ สายวิชาชีพ และสำหรับทุกชนชั้น ด้วยสมมติฐานที่ว่า หากทุกคนได้รับการศึกษาที่ดี ก็จะช่วยให้สังคมดีขึ้น มีอาชญากรรมน้อยลง เจ็บป่วยน้อยลง พึ่งพาสวัสดิการรัฐน้อยลง

แน่นอนว่าผู้ที่ควรจะได้รับประโยชน์จากเงินกู้ยืมนี้ควรเป็นนักศึกษาที่มาจากครอบครัวรายได้น้อย ไม่สามารถส่งตัวเองได้

แม้ว่าพวกเขาจะได้รับการศึกษาก็จริง แต่หนี้ กยศ. หลังจบมหาวิทยาลัยนั้นก็เป็นเงินก้อนใหญ่ที่กลายเป็นภาระชีวิต ปัจจุบันมูลค่าหนี้ กยศ. ในสหรัฐฯ นั้นสูงกว่า 1.7 ล้านล้านดอลล่าร์เลยทีเดียว และมีมากกว่า 45 ล้านคนที่ได้รับใบแจ้งหนี้ทุกเดือน

หนี้ก้อนนี้ใหญ่ขนาดที่ว่ามูลค่าของมันสูงยิ่งกว่ามูลค่าเงินกู้ซื้อรถ กับหนี้บัตรเครดิตเสียอีก

นักศึกษาหลายคนจบมา ไม่ได้ทำงานที่มีรายได้สูงนัก จากการสำรวจพบว่า กลุ่มที่มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูง คือกลุ่มที่กู้เงินน้อย (เรียนในสาขาที่ค่าเทอมไม่แพง) เพราะสุดท้ายแล้วพวกเขาไม่ได้งานที่ให้เงินเยอะ ในขณะที่กลุ่มกู้เงินเยอะ (เรียนในสาขาที่ค่าเทอมแพงหน่อย) มักจะได้งานดี ๆ อย่างการเป็นแพทย์ ทนาย หรืออาจารย์

กลายเป็นว่าหลังเรียนจบ เมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด หนี้นั้นก็ทบดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆ และสุดท้ายก็ส่งผลกับ Credit Score รวมถึงสวัสดิการของรัฐที่อาจจะถูกริบ

ถามว่าแล้วถ้าเข้ามหา’ลัยต้องเป็นหนี้ขนาดนี้ สู้เรียนมัธยมจบแล้วออกมาทำงานไม่ดีกว่าเหรอ? แรกเริ่มก็เหมือนจะดีกว่าเพราะไม่มีหนี้แถมยังมีรายได้ แต่ในสังคมที่ยังนับหน้าถือตาคนมีใบปริญญา ระดับเงินเดือนของคนที่จบมหา’ลัยย่อมดีกว่า ยิ่งในสภาวะที่มีวิกฤติเศรษฐกิจด้วยแล้ว คนที่ไม่ได้จบมหา’ลัยนั้นยิ่งหางานดี ๆ ยากไปกันใหญ่

ในปัจจุบัน เริ่มมีการแก้ปัญหาหนี้โดยการนำเสนอทางออกใหม่ ๆ เช่น การเลือกแบ่งจ่ายหนี้ตามระดับเงินเดือนของตัวเอง มีน้อยจ่ายน้อย มีมากจ่ายมาก แต่ดูเหมือนว่าวิธีนี้จะไม่ได้ถูกรับรู้เป็นวงกว้างมากนัก กล่าวคืออาจจะมีแค่คนบางกลุ่มที่ทำการศึกษาข้อมูลตรงนี้มา ถึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากวิธีนี้ได้

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ได้มีแผนที่จะให้การศึกษาระดับวิทยาลัยนั้น “ฟรี” ซึ่งคาดว่าจะสามารถคืนทุนได้จากการเรียกเก็บภาษีคนรวยมากขึ้น และจะมีการงดเว้นการเก็บหนี้บางส่วนอีกด้วย ก็ต้องมาดูกันว่าผลลัพธ์ของนโยบายนี้จะเป็นอย่างไร

สรุปบทเรียนการเงินจาก Money, Explained: สารคดีไซส์มินิจาก Netflix

EP4: Gambling ทำไมเราถึงเล่นการพนัน?

การพนันเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีความเก่าแก่ แต่สามารถปรับตัวมาได้ทุกยุคสมัย จนถึงปัจจุบัน ที่การพนันแบบดั้งเดิมได้พัฒนาเข้าสู่โลกออนไลน์กลายเป็น “คาสิโนโซเชียล” ที่ใช้เงินดิจิตอลสร้างรายได้ สร้างธุรกิจให้เติบโตจากเงินของผู้แพ้ จนมีรายได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่าคาสิโนแบบดั้งเดิมบนท้องถนน

ยิ่งการพนันเติบโตได้ดีเท่าไหร่ ยิ่งเป็นหลักฐานสะท้อนว่า การพนันเป็นเกมที่ผู้เล่นเสียเปรียบเจ้ามือ มีผู้แพ้ มากกว่าผู้ชนะ และถ้าเรารู้ว่าโอกาสในการแพ้มีสูง ทำไมเราถึงเล่นการพนัน?

การพนันกลายเป็นธุรกิจใหญ่ เมื่อเราค้นพบวิธีคำนวณความน่าจะเป็น คล้ายกับการทำประกัน ที่บริษัทประกันจะคำนวณแล้วว่า เงินที่ต้องจ่ายค่าสินไหม เมื่อคำนวณแล้ว จะมีจำนวนน้อยกว่าเงินที่ได้รับจากค่าเบี้ยประกันของทั้งระบบ

การพนันถูกออกแบบมาให้การชนะเล็ก ๆ น้อย ๆ ล่อใจให้ผู้เล่นติดกับ ใช้เวลาอยู่กับเกมให้นานพอเพื่อที่เมื่อรู้ตัวอีกที เงินที่อยู่ในกระเป๋าทั้งหมดได้อันตรธานหายไปโดยที่ผู้เล่นไม่รู้ตัว

มีตรรกะวิบัติมากมาย ที่ทำให้นักพนันหมดตัว เช่น

Gambler’s fallacy หรือตรรกะวิบัติของนักพนัน ที่เมื่อเล่นเสียในครั้งแรก ๆ จะไม่ยอมเลิก และจะเล่นต่อไปเรื่อย ๆ เพราะเชื่อว่าจะชนะในท้ายที่สุด ซึ่งความเป็นจริงเงินอาจจะหมดก่อนที่จะถึงตาที่ชนะ

หรือ Illusion of control ที่นักพนันจะคิดว่าตัวเองสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เช่น โยนลูกเต๋าเบา ๆ จะทำให้มีโอกาสออกเลขต่ำมากกว่าเลขสูง ซึ่งไม่เป็นความจริง

ความคิดแบบนี้ ทำให้เรารู้สึกว่าการเล่นการพนันสนุก

ตัวอย่างนวัตกรรมที่น่าทึ่งของการพนันคือ “เครื่องสล็อตแมชชีน” ที่สร้างรายได้สวนใหญ่ให้กับคาสิโน โดยเจ้าของบ่อนจะตั้งค่าให้คาสิโนได้เปรียบ และพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ดึงดูดผู้เล่น ไม่ว่าจะเป็นการเอาเก้าอี้มาวางเพื่อให้การเล่นสะดวกสบายนั่งได้นานขึ้น เปลี่ยนจากคันโยกเป็นปุ่มกด เพื่อไม่ต้องออกแรงมาก ตั้งหน้าจอให้ตื่นตาตื่นใจ หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนกฎเพื่อให้คนใส่เงินพนันมากขึ้น ทั้งตั้งรางวัลจากแนวตั้ง แนวนอน แนวทแยง หรือรูปแบบแปลก ๆ หลอกล่อให้คนได้รางวัลเล็กน้อย สร้างความคาดหวังเพื่อให้อยู่กับเครื่องนานขึ้น เล่นต่อไปเรื่อยจนกระทั่งหมดตัวในที่สุด

การพนันสร้างความรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจ สร้างความคาดหวัง มีการออกแบบอย่างเป็นระบบเพื่อให้ผู้เล่นเกิดอาการเสพติด ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจทำให้ชีวิตหลายคนพังทลายได้ในที่สุด

แต่ไม่ใช่ว่าการพนันทุกประเภทจะเหมือนกันทั้งหมด การพนันบางประเภทอย่างแบล็คแจ็ค หรือโปกเกอร์ อาจต้องใช้มากกว่าดวง แม้ดวงในการหยิบไพ่จะเป็นสิ่งสำคัญ แต่เนื่องจากผู้เล่นต้องใช้ทักษะมากกว่าดวง หากเล่นไปนาน ๆ ผู้เล่นที่เก่งที่สุดมีโอกาสชนะสูง ผู้เล่นมืออาชีพจะมีทักษะในการนับไพ่ เป็นการเก็บข้อมูล คำนวณเพื่อตัดสินใจ และจัดการอารมณ์ไม่ให้กระทบระบบการเล่น แต่การทำแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราเป็นมนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักร หากเกมการพนันลากยาวออกไป โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดยิ่งมีสูง

Semyon Dukach ผู้บริหารกองทุน One Way Ventures บอกว่าการลงทุนจะกลายเป็นการพนัน หากนักลงทุนซื้อขายรายวัน หรือเก็งกำไรระยะสั้น การซื้อขายรายวันคือการเสี่ยงโชค แต่หากปล่อยให้เงินอยู่ในตลาดนานขึ้น ในระยะยาวตลาดมีมูลค่าสูงขึ้นเสมอ

ในยุคโควิด การอยู่บ้านเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพนันออนไลน์เติบโตขึ้นเร็วมาก ผู้พัฒนาได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อดึงดูดคนใหม่ ๆ เข้าสู่โลกการพนันออนไลน์มากยิ่งขึ้น มีวิธีใหม่ เกมใหม่ ออกแบบหน้าตาให้การพนันดูน่าสนใจ

หลายคนเล่นการพนัน เพราะเชื่อว่าชีวิตคือการพนัน อนาคตมีความไม่แน่นอน สิ่งที่เราต้องรู้คือ ความรู้สึกอยากเอาชนะได้ฝังรากลึกในสมองของเรามาอย่างยาวนาน แม้สมองจะมีวิวัฒนาการให้สามารถจดจำรูปแบบและเงื่อนไขบางอย่างเพื่อเอาตัวรอดในบางสถานการณ์ เช่น ถ้าเราอยู่ในป่าและมีใบไม้ไหว เราอาจคิดว่ามีเสือและตัดสินใจหลบหนีเพื่อรักษาชีวิต

แต่ทักษะนี้อาจไม่มีประโยชน์นักหากนำมาใช้กับการพนัน เพราะในที่สุดแล้ว การหาเหตุผลในสิ่งที่ไม่มีเหตุผล การหาความเชื่อมโยงในสิ่งที่ไม่มีรูปแบบชัดเจน เปรียบเสมือนเกมที่ถูกออกแบบให้ผู้เล่นเป็นฝ่ายเสียเปรียบตั้งแต่แรก แม้ผู้เล่นจะชนะในตอนเริ่มต้น แต่ในระยะยาวโอกาสแพ้จะเพิ่มขึ้น จนหมดตัวในที่สุด

สรุปบทเรียนการเงินจาก Money, Explained: สารคดีไซส์มินิจาก Netflix

EP5: Retirement วางแผนเกษียณเพื่ออนาคต

การทดลองทางจิตวิทยาเรื่อง “ตัวตนของเราในอนาคต” จาก UCLA’s Anderson School of Management ที่นำกลุ่มตัวอย่างเข้าเครื่องสแกนสมอง และถามคำถามถึงตัวเองในปัจจุบัน ถามถึงคนแปลกหน้า และถามถึงตัวเองในอนาคตอีกสิบปีข้างหน้า

พบว่า เมื่อถูกตั้งคำถามถึงตัวเองในปัจจุบัน สมองของผู้ตอบคำถามจะเริ่มตื่นตัว และเมื่อถามถึงคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักในอนาคต การทำงานของสมองจะลดลงเป็นอย่างมาก ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงตัวเองในอนาคตอีกสิบปีข้างหน้า การทำงานของสมองผู้ถูกทดลอง มีระดับการทำงานเท่ากับเมื่อถามถึงคนแปลหน้าในอนาคต

นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า คนเราจะไม่เข้าใจตัวตนของตัวเองในอนาคต และตัวเราในอนาคตคนนั้น แทบจะเหมือนกับคนแปลกหน้าสำหรับเราในปัจจุบัน นี่จึงเป็นสาเหตุของการตัดสินใจที่บางคนไม่ทำอะไรบางอย่างเพื่อตัวเองในอนาคต เช่น การออมเงินเพื่อการเกษียณ

ข้อมูลการออมของประเทศมั่งคั่งส่วนใหญ่พบว่า คนอายุ 65 ปี โดยเฉลี่ย มีเงินเก็บมากพอที่จะทำให้คุณภาพชีวิตเหมือนเดิม จนถึงอายุ 70 ต้น ๆ แต่ข้อเท็จจริงคืออายุขัยของหลายคนอาจมากกว่า 80 ปี นั่นแปลว่าคนส่วนใหญ่ จะมีเงินไม่พอในการรักษามาตรฐานการครองชีพเดิมหลังเกษียณ

มีหลายคนที่ชีวิตเปลี่ยนจากชนชั้นกลางในช่วงก่อนเกษียณ กลายเป็นชีวิตที่เกือบจนหลังเกษียณ และดูเหมือนว่าสถานการณ์นี้จะแย่ลงเรื่อย ๆ

ภายหลังวิกฤตการณ์การเงินครั้งใหญ่ของโลกในปี 1933 ชาวอเมริกันได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ มีคนตกงาน และผู้สูงอายุยากจนเป็นจำนวนมาก นำไปสู่การผลักดันระบบเงินบำนาญครั้งใหญ่ของประเทศ ที่ภาครัฐจะเก็บเงินของผู้มีรายได้เข้าระบบประกันสังคม และจ่ายคืนเป็นเงินบำนาญเมื่อแรงงานเกษียณ

อย่างไรการตาม การพึ่งพาเฉพาะเงินบำนาญที่ได้น้อย อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้เกษียณมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ดังนั้น เงินเก็บของตนเองจึงเป็นสิ่งจำเป็น

ในปี 1980 แผนการออม 401K ถูกคิดค้นขึ้นในสหรัฐฯ เป็นแผนการออมที่มีลักษณะเป็นกองทุนประกันสังคม โดยลูกจ้างจะเลือกหักเงินเข้ากองทุนการออม ซึ่งสามารถนำไปลดหย่อนภาษี และมีนายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินสมทบ โดยเงินดังกล่าวจะถูกนำไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน

แผนการออม 401K เป็นหลักการที่ดูดี แต่เวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า แผนนี้อาจยังไม่ดีพอที่จะกลายเป็นระบบเกษียณแห่งชาติของสหรัฐฯ

401K อาจไม่เหมาะกับทุกคน เพราะปัญหาหลักคือ ผู้ออมจะต้องเก็บเงินเพื่อเกษียณเอง ซึ่งหมายความว่าผู้ออมต้องมีความรู้ด้านการเงินที่ดีพอเพื่อให้การลงทุนเติบโต และต้องไม่ถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสูงเมื่อทำธุรกรรม

ปัจจัยสำคัญที่จะชี้วัดความสำเร็จของการออมเพื่อการเกษียณคือ ผู้ออมต้องเริ่มเก็บเงินให้เร็วที่สุด หากสามารถหักแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องคิดถึงเงินก้อนนี้จนถึงวันเกษียณได้เลยยิ่งดี

แต่ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟังคือ แม้ว่าบางคนจะตัดสินใจออมเงินตั้งแต่เนิ่น ๆ แต่จากรายได้ที่ต่ำ และค่าครองชีพที่สูง ทำให้แรงงานจำนวนมาก มีรายได้ไม่พอสำหรับสำหรับชีวิตประจำวัน อย่าว่าแต่หักเงินออม เงินที่ต้องใช้ในแต่ละวันยังหามาได้อย่างยากลำบาก ไม่นับรวมคนอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการในสังคม

กลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่คนยิ่งเข้าถึงทรัพยากร-เข้าถึงสวัสดิการ ยิ่งได้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพราะพวกเขามีเงินเหลือ เขาจึงมีเงินออมที่จะหักเข้ากองทุน และได้ลดหย่อนภาษี เงินจึงโตไวขึ้น แต่คนที่มีรายได้น้อยไม่สามารถทำแบบนี้ได้ โดยบางคนอาจต้องลำบาก ทำงานอย่างหนักจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ปัจจุบันโลกกำลังหาทางออกเพื่อดูแลประชากรในวันเกษียณ การเก็บภาษีในอัตราภาษีก้าวหน้า เก็บภาษีคนรวย มากกว่าคนจนกำลังเป็นประเด็นท้าทายในสังคม

ระหว่างที่ยังไม่มีทางออก ในเมื่อเรามีโอกาสที่จะมีชีวิตได้ยาวนานขึ้น มีผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มเสนอให้ยืดอายุในการทำงานออกไป หรือทำให้การเกษียณช้าลง เพื่อให้คนสามารถทำงานได้นานมากขึ้น แต่คนที่ไม่เห็นด้วย คัดค้านจากเหตุผลที่ทุกคนควรจะมีสิทธิ์เลือก ว่าอยากทำงานต่อหรือพักผ่อน อายุที่ยืนไม่ได้แปลว่าต้องทำงานมากขึ้นเสมอไป

การสร้างระบบสวัสดิการเพื่อดูแลคนวัยเกษียณ จะยังคงเป็นความท้าท้ายของโลกต่อไป จนกว่าจะถึงวันที่เราจะหาทางออกได้ ระหว่างนี้การดูแลตนเองให้ดี และเรียกหาระบบที่ดีขึ้น ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป…