แจ้งเตือน

กลับสู่หน้าหลัก

แชร์เทคนิคการใช้บัตรเครดิต Citi Cashback ให้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น

เขียนโดย ObServes Investing

ในบรรดาบัตรเครดิตสาย Cash Back ที่มีให้บริการอยู่มากมายในท้องตลาดในตอนนี้ ผมมั่นใจว่าบัตรเครดิต Citi Cashback เป็นหนึ่งในบัตรเครดิตที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในหมู่พนักงานออฟฟิศอย่างแน่นอน เพราะบัตรใบนี้ให้สิทธิประโยชน์การได้รับเงินคืนแบบไม่มีเงื่อนไขยุ่งยากมากวนใจ, มีอัตราการให้เงินคืนที่สูงมากในบางหมวดการใช้จ่าย, และเจ้าของบัตรสามารถโทรไปขอ Waive ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีได้ง่ายมากอีกด้วย ในฐานะที่ผมเป็นลูกค้าของบัตรใบนี้มาประมาณสามปีแล้ว ผมมีเทคนิคอย่างหนึ่งในการเพิ่มความคุ้มค่าจากการใช้บัตรใบนี้ที่ผมค้นพบด้วยตัวเองมาเล่าสู่กันฟังในบทความนี้ครับ

หน้าตาบัตรเครดิต Citi Cashback แบบเก่า (ซ้าย) และแบบใหม่ (ขวา)

ก่อนจะเข้าสู่รายละเอียดของเทคนิคนี้ ผมขอลงรายละเอียดสิทธิประโยชน์การได้รับเงินคืนในอัตราต่าง ๆ ของบัตรใบนี้ตามที่มีประกาศไว้บนหน้าเว็บไซต์ทางการของบัตรใบนี้ก่อนนะครับ https://www.citibank.co.th/th/credit-cards/credit-card-cash-back.htm

  • เครดิตเงินคืน 11% ที่รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน และคาเฟ่อเมซอน
  • เครดิตเงินคืน 5% ที่ Grab ร้านบู๊ทส์ และร้านวัตสัน
  • เครดิตเงินคืน 1% เมื่อมียอดใช้จ่ายครบทุก 800 บาท/เซลล์สลิปที่ปั๊มน้ำมันเชลล์ทุกสาขาทั่วประเทศ
  • เครดิตเงินคืน 1% จากยอดใช้จ่ายอื่น ๆ
Source: https://www.citibank.co.th/th/credit-cards/credit-card-cash-back.htm

สำหรับเทคนิคเพิ่มความคุ้มค่าที่ผมจะมาแนะนำจากการใช้บัตรใบนี้จะเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์การได้รับเงินคืน 11% จากการจ่ายค่าเที่ยวเดินทางในระบบรถไฟฟ้า BTS กับเจ้าหน้าที่ในห้องขายตั๋วเป็นหลักนะครับ (ไม่นับส่วนที่เป็น Rabbit LINE Pay ซึ่งได้รับเครดิตเงินคืน 1%) ด้วยความที่ผมทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศที่ต้องเดินทางไปกลับระหว่างบ้านและที่ทำงานที่ตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS เป็นประจำ ผมจึงเลือกที่จะซื้อเที่ยวเดินทางในระบบรถไฟฟ้า BTS ไว้ล่วงหน้า ซึ่งเที่ยวเดินทางล่วงหน้านี้จะถูกเก็บไว้ในบัตร Rabbit ที่สามารถเก็บได้ทั้งเที่ยวเดินทางในระบบรถไฟฟ้า BTS และมูลค่าเงินในบัตรที่เราสามารถนำไปใช้กับร้านค้าที่รองรับการชำระผ่านระบบของ Rabbit อีกด้วย

หน้าตาบัตร Rabbit ชนิดต่าง ๆ ที่สามารถเก็บเที่ยวเดินทางและมูลค่าเงินในบัตรได้

เมื่อผมได้ใช้บัตรใบนี้มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ผมก็พบว่าสิทธิประโยชน์การได้รับเงินคืน 11% นี้ครอบคลุมไปถึงจำนวนเงินที่มีการเติมลงในบัตร Rabbit เพิ่มเติมจากการจ่ายเติมเที่ยวโดยสารแบบรายเดือนด้วยครับ แต่เงื่อนไขหนึ่งในการรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิตในระบบรถไฟฟ้า BTS ก็คือเราต้องมีรายการชำระค่าเที่ยวโดยสารแบบรายเดือนอย่างน้อย 1 รายการ ถึงจะสามารถขอเติมเงินเพิ่มเข้าไปในบัตร Rabbit และใช้บัตรเครดิตในการชำระเงินทั้งหมดได้ นอกจากนี้ อีกเงื่อนไขหนึ่งในการชำระด้วยบัตรเครดิตของบีทีเอสคือเราจะไม่สามารถชำระเงินเกิน 3,000 บาทต่อการใช้บัตรเครดิตหนึ่งครั้ง ดังนั้นเราจึงไม่สามารถเติมเงินลงไปในบัตร Rabbit คราวละมาก ๆ ได้

จากข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับระบบของบัตร Rabbit และเงื่อนไขการชำระค่าบริการในระบบรถไฟฟ้า BTS ทำให้ผมสามารถสรุปเป็นเทคนิคสั้น ๆ ในการเพิ่มความคุ้มค่าจากการใช้บัตรนี้ได้ว่า ทุก ๆ ครั้งที่จะจ่ายเงินเติมเที่ยวเดินทางในระบบรถไฟฟ้า BTS ที่ห้องขายตั๋ว ให้เราแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าขอเติมเงินส่วนที่ยังไม่ถึง 3,000 บาทเข้าไปในบัตร Rabbit ด้วย เพื่อให้เราสามารถใช้สิทธิประโยชน์ Cash Back 11% ในการใช้จ่ายหมวดนี้ได้คุ้มค่าที่สุด เพราะทุก ๆ ครั้งที่เราจ่ายเงินด้วยบัตร Rabbit ก็เปรียบเสมือนว่าเราได้รับส่วนลด 11% สำหรับทุกการใช้จ่ายไปเรียบร้อยแล้ว

ผมหวังว่าเทคนิคที่ผมนำมาเล่าในบทความนี้จะช่วยให้ผู้ถือบัตรใบนี้ทุกคนสามารถนำไปทำตามเพื่อเพิ่มความคุ้มค่าในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้นะครับ สุดท้ายนี้ไม่ว่าบัตรเครดิตที่เราเลือกใช้จะให้สิทธิประโยชน์กับเรามากมายแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการใช้งานบัตรเครดิตทุกประเภทก็ยังคงเป็นการทำตามวินัยในการจ่ายค่าบัตรเครดิตเต็มจำนวนในทุกรอบบิลอยู่เสมอ เพราะเราย่อมไม่อยากให้ดอกเบี้ยบัตรเครดิตมาทำลายความคุ้มค่าเพิ่มเติมที่เราได้รับจากการใช้บัตรเครดิตอย่างแน่นอน

ObServes Investing

ส่งต่อเรื่องราวการเงินการลงทุนของคุณ

อ่่านเรื่องราวอื่นๆ