แจ้งเตือน

กลับสู่หน้าหลัก

Love-Hate Relationship ของฉันและการลงทุน

เขียนโดย Cash & Cow

“เรียนเศรษฐศาสตร์มา อย่างนี้ก็ต้องเล่นหุ้นเป็นสิ ลงทุนอะไรอยู่เหรอ?”

“อ๋อ… เปล่าค่ะ ไม่ได้ลงทุนเลยค่ะ หนูเล่นหุ้นไม่เป็นด้วยซ้ำ (ขำแห้ง)”

ต้องบอกตามตรงว่า ถึงแม้เราจะเรียนเศรษฐศาสตร์มา ก็ไม่เคยมีความคิดจะลงทุนมาก่อน เรารู้สึกว่าลงทุนมันไม่ใช่แนวเลย จริงๆ เรายังนึกขำอยู่เลยว่า ใครช่างคิดกันนะ ว่าคนเรียนเศรษฐศาสตร์จะเล่นหุ้นเป็น

เปรียบกับความรักขั้นที่ 1 ถ้าเรากับการลงทุนเป็นเหมือนคู่รัก เราสองต่างเป็นเส้นคู่ขนานที่ไม่มีวันบรรจบกัน

แต่ทว่าเราได้เปลี่ยนไปหลังจากได้ฝึกงานในวงการการเงินระยะเวลา 3 เดือนช่วงก่อนเรียนจบ ซึ่งตอนนั้นเราได้แค่ซึมซับบรรยากาศเฉยๆ ได้รู้ตรรกะความคิดของการที่จะเป็นนักลงทุนควรคิดอย่างไร แต่เราไม่คิดที่จะเริ่มลงทุนนะ ยังคิดว่ารออีกหน่อยดีกว่า มันยังไม่ถึงเวลาของเรา

เปรียบกับความรักขั้นที่ 2 เราต่างได้เห็นหน้าค่าตากัน แต่ความสนใจ = 0

พอเราได้เรียนจบมา เราวางแผนว่าอยากจะพักและค้นหาสิ่งที่ชอบพร้อมกับค่อยๆ หางานทำ แต่เข้าใจไหมคะว่าเวลาว่าง เราก็กลับเบื่อ เราก็พยายามหาอะไรทำให้มันคุ้มกับเวลาพัก เลยไปถามแม่ว่าอยากให้ช่วยอะไรไหม สรุปแม่กลับบอกว่า

“โตแล้วเนอะ ถึงเวลาดูแลทรัพย์สินของตัวเองสักที”

แล้วแม่ก็ให้ดูพอร์ตที่เป็นชื่อเราแต่แม่ได้ทำไว้ให้…

อุแม่เจ้า นี่เงินฉันจริงๆ เหรอเนี้ย? คือมันเยอะเกินที่เด็กจบใหม่พึงจะมีอีก บางคนอาจดีใจเหมือนตกถังข้าวสาร แต่เรากลับคิดว่าเรายังมีความสามารถไม่พอที่จะเพิ่มพูนความมั่งคั่งของเราไว้ อย่าให้พูดเลย แค่รักษาก็อาจจะยังยาก!

นอนคิดก็แล้ว นั่งคิดก็แล้ว ยืนคิด อาบน้ำก็คิด ก่อนนอนก็คิด…

‘สรุปเราต้องศึกษาการลงทุนแบบจริงๆ จังๆ แล้วใช่ไหม?’

เปรียบกับความรักขั้นที่ 3 โดนผู้ใหญ่ให้เรียกดูตัวเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง (แต่ในใจ ก็ถอนหายใจยาวๆ)

จากการทำวิจัย (?) แบบเร็วๆ ได้พบว่า โอเค ลงกองทุนน่าจะง่ายสุด เพราะว่ากองทุนเริ่มได้ด้วยเงินน้อย มีการกระจายความเสี่ยง แถมมีผู้จัดการกองทุนเป็นผู้บริหารเงินให้เรา ไม่ต้องเสียเวลาตามข่าวสารเยอะขนาดนั้น 

ตกลง กองทุน ฉันเลือกนาย!

เราเลยไปดูพอร์ตของเราว่าปัจจุบันมีกองไหนแล้ว กองไหนที่เราอยากจะขายออก กองไหนที่เราอยากรักษาไว้ แล้วเราก็พยายามคิดว่าเราอยากมีกองแบบไหนเพิ่ม เราก็เลือกๆ ตามความพึงพอใจของเรา

พอเราได้เริ่มลงทุนไป เราเริ่มเห็นมันออกดอกออกผล แรกๆ เลยคือเห่อมาก มาเช็คผลตอบแทนทุกวัน ยิ่งเห็นมันเขียวๆ นะ สุขใจมาก ก็เป็นอย่างนั้นประมาณ 3 เดือนได้

เปรียบกับความรักขั้นที่ 4 เราเริ่มถูกใจเธอแล้วสิ มาลองคุยศึกษากันหน่อยไหม?

ขออนุญาตตัดภาพมาเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2563…

ค่ะ วันแดงเดือด และขายทิ้งไม่ทัน…

พอร์ตแดงเถือก ติดลบ -1x% เกือบทุกกอง บางกองก็มา -2x% (จะเป็นลม)

เห็นผลลัพธ์แล้วไม่ค่อยถูกใจเท่าไหร่เมื่อเทียบกับความคาดหวังของตัวเอง ประกอบกับความยุ่งกับงานปัจจุบันที่ทำอยู่ เราเลยได้แต่คิดว่าปล่อยๆ มันไปแล้วกัน เดี๋ยวมันก็ฟื้น เลยปล่อยแดงคาไว้อย่างนั้นและเริ่มห่างเหินกับการลงทุนไประยะนึง

เปรียบกับความรักขั้นที่ 5 ห่างกันสักพักนะ เพื่ออะไรๆ มันจะดีขึ้น

หลังจากที่เศร้าใจได้ไม่นาน เราก็โดนให้ work from home และทุกคนรู้ โลกรู้ อยู่บ้านทำงานนานๆ มันน่าเบื่อมาก! เรามั่นใจว่าคนส่วนใหญ่ที่ทำงานที่บ้านจะหาอะไรทำแก้เบื่อกันบ้าง เช่น ทำอาหาร เต้น ออกกำลังกาย เรียนออนไลน์ เป็นต้น และเราก็เช่นกัน 

แต่เราดันเป็นการลงทุน

ชนวนของการกลับมามาจากที่ตอนนั้นเราดันไปคุยกับเพื่อนเรื่องลงทุน ว่าเราไปทางสายกองทุน หุ้นเราไม่ถนัดจริงๆ ซึ่งเพื่อนเราที่ก็เป็นนักลงทุนในหุ้นกลับตอบมาว่า

‘หุ้นมันได้(ผลตอบแทน)เยอะกว่านะ กองทุนต้องใช้เงินจำนวนมากถึงจะได้จำนวนเท่ากัน’

พอได้ยินประโยคนี้ปุป เราก็ผงะ

เห้ย มันก็จริงนะ กว่าเราจะได้จำนวนเงินที่เราพอใจ มันนานแถมเงินก็ต้องหนา แล้วอะไรดลใจก็ไม่รู้นะคะ น่าจะเป็นความโลภ (555) อยากกลับมาได้เงินเท่าเพื่อนบ้าง ก็เลยคิดถึงเรื่องอดีตที่ผ่านมา

พอมานั่งย้อนกลับมา เราก็คิดว่าเราค่อนข้างทิ้งพอร์ตตัวเองไปด้วย ถึงแม้เราจะมั่นใจว่ากองทุนเราจะถูกบริหารโดยผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญ แต่เงินก็เป็นของเราอยู่ดี เราจะปล่อยให้คนแปลกหน้ามาดูแลเงินเราโดยที่เราไม่มีส่วนร่วมกับมันเลยเหรอ?

คงถึงเวลาที่เราต้องจัดการทรัพย์สินให้ดีกว่าเดิม ศึกษาให้ลึกขึ้น ต้องตามข่าวมากกว่าเดิม ต้องหัดสนใจการวิเคราะห์ให้มากกว่าเดิม ต้องรู้จุดขายจุดซื้อให้ดีกว่านี้

เปรียบกับความรักขั้นที่ 6 คืนดีกันนะคะ? เรามาเริ่มต้นใหม่กันนะ

นับตั้งแต่หนึ่งใหม่ ก่อนที่เราจะเริ่มลงทุน เราต้องมั่นใจก่อนว่า โอเค เงินที่เรามีอยู่เป็นเงินเย็นที่ไม่จำเป็นต้องใช้เร็วๆ นี้ และสามารถรับความเสี่ยงได้ ต้องมั่นใจว่าเงินที่เราได้แบ่งออกมานั้น เรามีเงินสำรองฉุกเฉินไว้ที่เรียบร้อยแล้ว และเงินที่เราไม่ได้เอามาลงทุนนั้นครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ในแต่ละเดือนแล้วด้วย

ด่านต่อไปสำหรับเราคือ เราแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนในหุ้นรายตัว (แต่คุณผู้อ่านไม่ต้องทำตามก็ได้นะคะ) และต้องสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ใช้เงินมากกว่าจำนวนที่เรากำหนดไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งเงินส่วนนี้เราต้องคิดถึงขั้นที่ว่า ถ้าเกิดในกรณีเลวร้ายขึ้นมา เช่น ขาดทุนทั้งก้อน เรายังโอเคกับมันอยู่ไหม

ต่อมาก็เริ่มศึกษาพวก Financial Statement ของบริษัท รวมไปถึงฟังพวกบทวิเคราะห์ของหุ้นรายตัวที่เราสนใจ หรือจะไปอ่านจากโบรกเกอร์หรือเพจต่างๆ ยิ่งศึกษามากๆ เราก็จะพอจับเทคนิคได้แล้วว่าเวลาดูเรื่องหุ้นต้องดูข้อมูลอะไรตรงไหนบ้าง และเราพอคาดการณ์ในอนาคตได้หรือไม่

ทุกเช้าเราต้องฟังข่าวที่เขาสรุปและวิเคราะห์กัน ในความคิดเรา จำเป็นต้องฟังจากหลายๆ แหล่งเพราะเราจะได้หลายๆ มุมมอง และสุดท้ายเราจะตกผลึกได้เองว่าเราจะทำอะไรต่อไป

แต่ของจริงมันอาจจะอยู่ที่สนามรบ พอเราอยู่ในตลาดหุ้นจริง อารมณ์มันมาเต็มมากนะ มือกดรัวๆ พอหมดวันก็รู้สึกตัวเองเป็นบ้า แถมนั่งดูจอทุกนาทีก็ไม่ไหว เดี๋ยวจะไม่ได้ทำงานกันพอดี เลยต้องพยายามปรับอารมณ์ของตัวเองลง ตอนนี้ก็ดีขึ้นแล้วค่ะ

ซึ่งเรามันก็มือใหม่ในหุ้น ก็คงอีกนานกว่าเราจะเข้าที่เข้าทาง ยังมีอะไรให้ศึกษาและพัฒนาอีกเยอะ เป็นกำลังใจให้ด้วยนะคะ 🙂

ในส่วนของกองทุนนั้นเอง พอเราได้ไอเดียแล้วว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร และอนาคตจะออกมาอย่างไรจากการวิเคราะห์หุ้นแล้ว เราก็เริ่มดูธีมกองทุนที่เราอยากจะลงทุน จากนั้นเราก็พยายามอ่านข้อมูลจาก Fund fact sheet โดยดูว่าเขาลงทุนอะไรไปบ้าง และดูผลประกอบการณ์ย้อนหลัง รวมไปถึงความเสี่ยงของการลงทุนในกองนี้ ถ้าหากกองนี้เป็นกองที่ไปลงทุนต่างประเทศ เราก็ต้องอย่าลืมไปค้นหาว่า Master fund นั้นมีผลประกอบการเป็นอย่างไร แต่รวมๆ แล้วการลงทุนในกองทุนมันสามารถตอบโจทย์ของเรารึเปล่า?

วัตถุประสงค์ของการลงทุน / ระยะเวลา / และความเสี่ยง

ถ้าหากตอบคำถามพวกนี้ได้ เราก็พอได้แล้วว่ากองที่เราลงไปนั้นมันใช่สำหรับเราหรือไม่

ส่วนสาเหตุที่เรากลับมาเริ่มที่หุ้นก่อน ทำไมไม่ไปกองทุนเลย เพราะว่ามันเสี่ยงกว่า… อะ งงไปอีกว่าทำไมมาเล่นอะไรเสี่ยงๆ 5555

ส่วนตัวมองว่าเพราะมันเสี่ยงมาก เสี่ยงกว่ากองทุนหุ้น โอกาสขาดทุนสูง และมันเป็น Real time ที่ค่อนข้างเล่นกับจิตวิทยามนุษย์ ทำให้เราต้องค้นคว้ามากๆ เพื่อที่จะทำยังไงก็ได้ให้เราขาดทุนน้อยที่สุด และมันทำให้เรามีพื้นฐานจากการศึกษานั้นๆ มา พอเราได้มุมมองเชิงลึกจากธุรกิจมากขึ้น เราก็จะมองมุมใหญ่ได้ง่ายขึ้นแล้ว 

ถ้าหากท่านคิดช่องทางไม่ออกว่าควรจะไปศึกษาจากแหล่งไหนดี เรามองว่าทาง Finnomena ก็มีบทความให้ได้อ่านหลากหลายประเภท มี Live ให้ได้ดูกันทุกวัน เราถือว่าเป็นอีกแหล่งข้อมูลชั้นดีเลยนะคะ การติดตามบ่อยๆ อาจจะทำให้เราได้สัญญาณเตือนจากผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย เตือนปุปก็อย่าดื้อมาก เดี๋ยวติดกองเหมือนเรา (เศร้า)

จากที่ไม่เคยจะนั่งฟังวิเคราะห์ ก็เปลี่ยนมาฟังทุกวัน

จากที่ไม่เคยนั่งอ่านบทความหาความรู้อะไรเพิ่มเติมเลย ก็เปลี่ยนมาอ่านทุกวัน

จากที่ไม่เคยนั่งพูดแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องลงทุนเลย ก็เปลี่ยนมาคุยกับที่บ้านเรื่องนี้ทุกวัน (จนแม่รำคาญ555)

เปรียบกับความรักขั้นที่ 7 และสุดท้าย เราก็ตกหลุมรักเข้าเต็มๆ เข้าแล้วนะ

และนี่ก็คือเรื่องราวของเรา ซึ่งการเดินทางครั้งนี้เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันจะอีกไกลขนาดไหน และมันจะยืนยาวแบบนี้อีกไหม หรือเราจะกลับเข้าไป Loop เดิม แต่สิ่งหนึ่งที่เราคิดได้คือการลงทุนมันไม่ใช่เรื่องไกลตัวของเรา

มีคนบอกว่าวิกฤตทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นทุกๆ 10 ปี

ถ้าอีก 10-30 ปีข้างหน้า เราพอเห็นภาพไหมคะว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

เราไม่สามารถคาดหวังว่าการฝากเงินกับธนาคารจะได้ผลตอบแทนที่น่าพอใจสำหรับเราตลอดไป สาเหตุหลักมาจากดอกเบี้ยธนาคารที่ไม่สามารถโตสู้อัตราเงินเฟ้อได้ อีกทั้งอาจต้องถูกลดไปเรื่อยๆ เนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลาง

วิกฤตนี้เป็นตัวกระตุ้นให้เราตระหนักแล้วนะคะว่าทุกอย่างมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าจะความมั่นคงทางการงาน ฐานะทางการเงิน สภาพเศรษฐกิจของประเทศ รวมไปถึงสถานการณ์ทั่วโลก เพราะอย่างนี้ทำให้เราต้องรู้จักการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่ถูกต้องและเหมาะสม

จริงๆ เราก็ยังเป็นมือใหม่หัดขับสำหรับวงการนี้ ยังต้องสะสมประสบการณ์อีกหลายปีกว่าจะให้คำแนะนำที่ดีสำหรับผู้อ่านได้ วิธีการของเราอาจจะยังไม่ถูกต้อง 100% แต่เราตั้งใจเขียนบทความนี้เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้กับผู้อ่านทุกท่านให้หันมาสนใจการลงทุนมากขึ้น ทุกวันนี้เรายังขอบคุณบริษัทที่เราฝึกงานอยู่เลยว่าเราได้ตระหนักถึงการจัดการบริหารการเงินเพราะจากประสบการณ์ครั้งนั้น ไม่อย่างนั้นเราคงไม่มาสนใจและคงหลุดจากวงโคจรไปเลยก็ได้ เราเลยอยากเป็นอีกแรงผลักดันนึง เผื่อคนที่ได้เข้ามาอ่านบทความของเราจะพอเห็นความสำคัญของการลงทุนเหมือนที่เราได้เห็น

เพื่อตัวท่านเอง ลองกินยาขมดูก่อนนะคะ เผื่อท่านจะติดใจ 🙂

ยาวไปนิดแต่หวังดีจริงๆ ค่ะ

ขอบคุณที่อ่านจบนะคะ (รัก)

ส่งต่อเรื่องราวการเงินการลงทุนของคุณ

อ่่านเรื่องราวอื่นๆ