Quantable Podcast EP17 : กลยุทธ์ Buy on Breakout ไม่เวิร์คจริงหรือไม่ ? เพราะเทรดยังไงก็ไม่รวย!

ถ้าหากจะชวนนักลงทุนทุกท่านย้อนเวลาไปในตอนที่เริ่มต้นศึกษาเรื่องการลงทุน จะมีกลยุทธ์หรือวิธีการลงทุนอยู่ประเภทหนึ่งที่ทุกคนจะต้องรู้จักหรืออาจจะเคยใช้มาก่อน นั่นคือกลยุทธ์ Breakout ซึ่งเป็นกลยุทธ์แรกที่หลายคนทดลองใช้แต่กลับมีน้อยคนที่ยังใช้กลยุทธ์นี้อย่างสม่ำเสมอเรื่อยมา ทั้งที่ในตำราการลงทุนส่วนใหญ่แนะนำว่าการซื้อ Breakout คือวิธีการที่ง่ายและมีประสิทธิภาพสูง แต่ทำไมเวลาเรานำมาใช้จริงกลับไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ในบทความนี้ของ Quantable จะมาหาคำตอบและอธิบายสิ่งนี้ไปพร้อม ๆ กันครับ

การเทรดแบบ Breakout ไม่เวิร์ค เทรดแล้วไม่รวย

ในส่วนตัวผมเองศึกษาและใช้กลยุทธ์นี้เป็นโครงหลักของการตัดสินใจเข้าลงทุนมาตลอด ตั้งแต่เริ่มต้นลงทุน ลองใช้กับหลายสินทรัพย์ทางการเงิน หลาย Time Frame เลยทำให้พอจะเห็นภาพและเข้าใจว่านักลงทุนแต่ละท่านที่ใช้วิธีการนี้จะต้องพบเจออะไรบ้าง อะไรคือสาเหตุรวมถึงที่มาของสิ่งที่หลายคนคิดเหมือน ๆ กันก็คือ การเทรดแบบ Breakout ไม่เวิร์คจริง ๆ ซึ่งเราลิสต์มาทั้งหมด 5 สาเหตุที่ทำให้สิ่งนี้ไม่เวิร์คกับเรา

5 สาเหตุของการใช้ Breakout แล้วไม่เวิร์ค

1. ยึดติดกับความแม่นยำมากเกินไป

โดยปกติจิตวิทยาของคนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญของความถูกต้อง แม่นยำ เพราะมันแสดงถึงความสามารถในการคิด การวิเคราะห์ การตัดสินใจของคนๆนั้น ว่าเราเจ๋งแค่ไหน แต่ในโลกแห่งการลงทุนโดยเฉพาะสัญญาณซื้อขายจากเทคนิคอลหรืออื่น ๆ ถ้าให้อธิบายแบบสั้นที่สุดคือเครื่องมือนั้น ๆ พยายามจับสัญญาณหรือพฤติกรรมบางอย่างของราคา เช่นจับพฤติกรรมช่วงวิ่งขึ้น วิ่งลง พักตัว กลับทิศ แปลว่าทุกเครื่องมือของเทคนิคอลถูกวัดและคำนวณจากสมการใด ๆ ก็ตามเพื่อจับจังหวะเฉพาะในรูปแบบใดรูปหนึ่งเท่านั้น ทำให้เวลาที่นักลงทุนให้ Breakout จะมีช่วงเวลาที่ใช้ได้ผลและใช้ไม่ได้ผลสลับกันไปเป็นปกติตลอดมาและตลอดไป ฉะนั้นเมื่อเราพยายามโฟกัสเรื่องความแม่นยำสัญญาณซื้อขายทำให้หลายคนเกิดอาการผิดหวังและเลิกใช้วิธีนี้ในที่สุด สาเหตุเพราะความแม่นยำของ Breakout นั้นจะมี % การถูกทางและผิดทางในระยะยาว ไม่เกิน 50% นั่นเองครับ

2. ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของขนาดผลกำไรและขาดทุน

ต่อเนื่องจากข้อเมื่อครู่เรื่องความแม่นยำของสัญญาณว่าอยู่ที่ไม่เกิน 50% แต่สาเหตุที่การใช้ Breakout ยังใช้ได้ดีกับใครบางคนเพราะว่าเราสามารถควบคุมขนาดของกำไรและขนาดของขาดทุนได้นั่นเอง หรือพูดให้ง่าย ๆ ก็คือเราไม่อาจควบคุมทิศทางราคาได้แต่เราควบคุมได้เมื่อโอกาสเข้าทางเรา(ปล่อยกำไรให้วิ่งต่อไป) แล้วหยุดความเสี่ยงเมื่อผิดทาง(ตัดขาดทุน) เมื่อครั้งที่กำไรได้เงินมากกว่าครั้งที่ขาดทุนหลายเท่า เวลาหักกลบแล้วจึงมีผลกำไรที่เป็นบวกในพอร์ต แต่นักลงทุนหลายท่านกลับใช้วิธีที่ตรงข้ามคือกำไรแล้วขาย ขาดทุนแล้วเก็บไว้ ไม่ใช่ว่าไม่รู้หลักการนี้ แต่เพราะอันที่จริงมันเป็นเรื่องยากมากในการกระทำต่างหาก ลองคิดง่าย ๆ ว่าเราซื้อเวลาที่ราคา Breakout ออกจากแนวต้านเราจึงเข้าซื้อทันที สมมติว่าซื้อไปแล้วได้กำไรทันที 10% แต่ยังไม่ขายเพราะยังไม่มี Sell Signal จนราคาวิ่งลงมาขาดทุน หากมีสัญญาณครั้งที่สองเกิดขึ้นมา เราจะยังซื้อเหมือนเดิมหรือไม่ ถ้าซื้อจะชิงขายทำกำไรก่อนรึเปล่า

ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องใช้ความสำคัญคือการพยายามอยู่ในสถานะที่เป็นบวกและดีดตัวเองออกมาจากสถานะที่ติดลบหรือที่เรียกกันว่า Cut Losses Short and Let Profits Run 

จากภาพประกอบด้านบนคือควบคุมกราฟทางด้านซ้าย(ติดลบ)และเกาะแนวโน้มใหญ่(เป็นบวก)จนเกิดกราฟหางยาวทางด้านขวานั่นเองครับ

3. พยายามขี่ม้าทุกตัวในตลาด

ข้อเสียของนักลงทุนข้อหนึ่งคือพยายามจะทำกำไรในทุกสถาวะตลาด ทุกสินทรัพย์ ทุกช่วงเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดไม่สามารถให้เราจริง ๆ ครับ (อันที่จริงเพราะตลาดไดนามิก) หากโฟกัสที่แค่กลยุทธ์ Breakout อย่างเดียว มันจะใช้ได้ดีมาก ๆ ในบางช่วงเวลาเท่านั้น ในสินทรัพย์เดียวกัน ต่างวันต่างเวลาก็ไม่มีประสิทธิภาพของสัญญาณที่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่นการใช้ Breakout ใน Bitcoin ช่วงกลางปี 2020 ที่ราคาลงไปลึกตอน COVID-19 กับใช้ Breakout ในตอนนี้ (20/04/2021) ที่ราคา Bitcoin ขึ้นมาเยอะมาก โอกาสและความน่าจะเป็นก็แตกต่างกันสิ้นเชิง เปรียบเทียบกับการขี่ม้าก็ได้ครับ เมื่อเราต้องการเคลื่อนที่จากจุด A ไป B แล้วมีม้าให้เลือกสองตัวคือม้าพยศที่ดูดุดัน ฉุนเฉียว แต่ถ้าขึ้นขี่ได้ ทุกอื่นอาจจะมองว่าเราเก่งก็ได้ อีกตัวคือม้าปกติ สุภาพ เรียบร้อย ไม่มีพิษไม่มีภัย คุณจะเลือกม้าตัวไหนครับ…………………

ไม่น่าจะมีใครเลือกม้าพยศ เพราะอาจถูกดีดตกจากหลังและเหยียบซ้ำอีก แต่ทำไมเวลาที่เราต้องการสร้างกำไรจากการลงทุน กลับเลือกเข้าตลาดในช่วงที่ผันผวนสุด ๆ และเทรดท่าเดิมในทุกสถานการณ์ หากต้องการปั้นพอร์ตจาก A ไป B น่าจะง่ายกว่ารวมถึงไม่ถูกสะบัดออกระหว่างทางด้วยการไม่พยายามแสวงหากำไรในทุกสินค้า ช่วง Time Frame ตลอดเวลาครับ

4. เวลาได้ ได้จากเงินก้อนเล็ก เวลาเสีย เสียจากเงินก้อนใหญ่

อีกหนึ่งสาเหตุที่นักลงทุนใช้การ Breakout มาปรับใช้แล้วดันไม่เวิร์คเป็นเพราะเรากระจายเงินยังไม่ค่อยดีครับ ต่อเนื่องจากข้อที่ 1-3 ทั้งเรื่องความแม่นยำ การควบคุมขนาดของกำไร/ขาดทุน และการเลือกตัดสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสมออกไป แต่ในเรื่องการวางพอร์ต การวางเงินก็สำคัญ นักลงทุนที่ติดตามเนื้อหาคงเราจะเข้าใจดีเพราะเราหยิบตัวอย่างงานวิจัยเกี่ยวกับ Money Management มาให้ดูค่อนข้างเยอะ (สามารถไปย้อนดูกันได้นะครับมีประโยชน์จริง ๆ ) ลองคิดตามว่าถ้าเราใส่น้ำหนักเงินในสินทรัพย์ที่ Breakout แล้วไม่ไปจริงมากกว่าสินทรัพย์ที่ Breakout แล้วขึ้นแรงขึ้นไกล ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ? พอร์ตรวมก็จะโตได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ยิ่งใส่น้ำหนักในสินทรัพย์ที่ปรับตัวลงด้วยแล้ว พอร์ตยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ การไม่จัดสรรเงินอย่างมีแบบแผนจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กลยุทธ์ Breakout เหมือนจะไม่เวิร์คครับ (ครั้งหน้าถ้าไม่ลืมผมจะทดสอบ Random น้ำหนักการลงทุนให้ดูครับว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร)

5. ไม่มีวินัยและไม่สม่ำเสมอ

ข้อนี้ชัดเจนมากครับ ต่อให้เรามีทุกองค์ประกอบที่ครบถ้วน แต่ถ้าขาดวินัยฝันไกลแค่ไหนก็ไปไม่ถึง ละเลยแค่สัญญาณ Breakout เดียวก็มีผลต่อพอร์ตเราแล้วครับ ในระยะยาวนี่ยิ่งมีผลอย่างมากเลย

สรุปแล้วการที่นักลงทุนที่ใช้วิธีการ Breakout แล้วอาจจะไม่เวิร์คจนเลิกใช้ไปดื้อ ๆ ลองกลับมาตรวจสอบข้อสังเกตุทั้ง 5 ข้อที่เราเขียนเอาไว้ดูนะครับว่าเรามีมุมไหนที่ละเลยไปหรือไม่ ลองกลับมาศึกษา เติมให้เต็ม เพราะถ้านักลงทุนชั้นเซียนในตำนานใช้ได้ดี เราก็ต้องทำได้เหมือนกันสิหน่า!! เราเป็นกำลังใจให้นะครับ

ZIPMEX


ติดตาม FINNOMENA Podcast ได้ทุกช่องทางที่คุณมี

App Spotify
https://finno.me/spotify

App Google podcasts
https://finno.me/googlepodcast

Apple podcast
https://finno.me/applepodcast

App Soundcloud
https://finno.me/soundcloud

Podbean
https://finno.me/podbean

Youtube
https://finno.me/youtubepodcast