Quantable Researcher Podcast Ep27 : 5 สิ่งที่ควรปฏิบัติและ 5 สิ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดในการลงทุน

เกมการเงินการลงทุนในระยะยาวเป็นเรื่องที่ง่ายในวิธีคิด แต่ยากในวิธีการทำ จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ที่เข้ามาลงทุนในตลาดการเงิน การลงทุน น้อยคนที่จะประสบความสำเร็จในระดับสูง ส่วนใหญ่จะพอทำกำไรได้บ้าง เสมอตัวบ้าง ขาดทุน และมีบางส่วนที่ชอบเล่นท่ายากที่จะขาดทุนมหาศาลจนต้องออกจากตลาดไป ในบทความของเราจึงอยากจะนำเสนอในมุมของจิตวิทยาการลงทุน ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนหรือนักเก็งกำไรแนวไหน จะสภาวะตลาดขาขึ้น ขาลงหรือแกว่งในกรอบก็ตาม เพราะนี่คือ Mind Set หรือทัศนคติที่ดีในระยะยาว

“5 สิ่งที่ควรปฏิบัติในการลงทุน”

เริ่มต้นด้วย 5 สิ่งง่าย ๆ ที่เราควรจะต้องให้ความสำคัญในตลอดการลงทุน แม้จะมีประสบการณ์มากเท่าใด ก็ยังต้องทำ รวมทั้งตระหนักถึง 5 ข้อนี้อยู่เสมอ ซึ่งนี่ไม่ใช่สิ่งที่เรามโนขึ้นเองเพียงคนเดียวแต่เป็นสิ่งที่นักลงทุนหลายท่านใช้กัน ถือเป็นยันต์กันภัยตลอดการเดินทางในโลกการลงทุนแล้วกัน (อ้างอิงจากหนังสือ Think & Trade Like a Champion : คิดและเทรดอย่างแชมป์เปี้ยน ของคุณ มาร์ค มิเนอร์วินี)

1. เดินหน้าพร้อมแผนการอยู่เสมอ

สินทรัพย์แต่ละชนิดมีความผันผวน ความเสี่ยง รวมทั้งปัจจัยที่ต่างกัน การวางแผนล่วงหน้าจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่ต้องแยกให้ออกระหว่างการวางแผนล่วงหน้ากับการฟันธงหรือคาดเดาอนาคตนะครับ การคาดเดาอนาคตในการลงทุนเช่น ราคาจะต้องไปถึงเท่านั้น ในอีก 3 วันข้างหน้า และน่าจะถึงในเวลา 17.03 . ฉะนั้นเราจะซื้อตอนนี้เพื่อไปขายตอน 17.03 . อาการแบบนี้ทำไม่ได้แน่นอน (แต่มีคนพยายามทำนายอนาคตอยู่เสมอ) การวางแผนในความหมายนี้คือ การคำนึงถึงความเป็นไปได้ของแต่ละสถานการณ์ และคิดล่วงหน้าว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์นั้น เราจะทำอย่างไร ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้จะทำอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น

เราจะเข้าซื้อ Bitcoin ที่ราคา 1 ล้านบาท แผนการที่วางได้คร่าว ๆ คือ ถ้าราคาลงเหลือ 950,000 จะทำอย่างไร ขายออก ถือไว้ ซื้อเพิ่ม หรือถ้าราคาขึ้นไป 1 ล้าน 1 แสนบาทจะทำอย่างไร ขายออก ถือไว้ ซื้อเพิ่ม ถ้าเราเลือกขายออก และราคาไปต่อเราจะทำอย่างไร ซื้อตามทั้งหมด ซื้อตามบางส่วน หรือปล่อยไป ซึ่งการเดินหน้าพร้อมแผนการแบบนี้คือสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ ครับ

2. คิดถึงความเสี่ยงก่อนเข้าซื้อขายทุกครั้ง

ช่วงเวลาที่จะเคาะซื้อ เคาะขายในทุกครั้งโดยเฉพาะนักลงทุนมือใหม่ มักจะมีความตื่นเต้นมาก ๆ อยู่เสมอ คิดแล้วคิดอีก ย้ำคิดย้ำทำ ออเดอร์จับคู่แล้วก็นั่งลุ้นไม่กล้าไปไหน แม้ในใจจะคิดว่าลงทุนระยะยาว 3-5 ปีขึ้น (แต่เปิดพอร์ตดูวันละ 3 เวลาหลังอาหาร) ที่สำคัญคือ คนส่วนใหญ่จะคิดในด้านดีก่อนเสมอ คือคิดว่าซื้อไปแล้วจะได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ คิดเป็นเงินกี่บาท เอาไปซื้ออะไรดี ซึ่งตรงข้ามกับนักลงทุนมืออาชีพที่จะคำนึงถึงความเสี่ยงก่อนเสมอ ว่าถ้าผิดทางจะเป็นอย่างไร เสียหายเท่าไหร่ รับได้หรือไม่

3. อย่าเสี่ยงเกินกว่ากำไรที่คาดหวัง

ในการทำธุรกิจมีปัจจัยที่ต้องคำนึงหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ ถ้ากำไรจะได้เท่าไหร่ กิจการจะโตประมาณไหน อีกมุมคือถ้าเสียหายจะโดนกี่บาท ถ้าเกิดมีนักธุรกิจคนหนึ่งบอกคุณว่าธุรกิจที่เขาทำอยู่ ได้กำไรจะลิมิตสูงสุดที่ 5 แสนบาท แต่ถ้าขาดทุนจะเสียหายครั้งละ 1 ล้าน โอกาสประสบความสำเร็จ 50:50 คุณคงมองว่านักธุรกิจท่านนั้นจะต้องเพี้ยนแน่ ๆ แต่เชื่อหรือไม่ว่าในตลาดการลงทุน การเก็งกำไร มีคนคิดแบบนี้หลายคนทีเดียว เวลากำไรมักจะรีบขายออกเพราะกลัวขาดทุน 10-20% ก็พอแล้ว แต่ถ้าเรื่องขาดทุน เท่าไหร่เท่ากัน ยอมได้เสมอลบ 50 % 80% หมดตัวก็เอา ขอสู้เพื่อกำไร  “นิดหน่อยซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

4. รู้ข้อเท็จจริงในการซื้อขายของตัวเอง

รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง สุภาษิตง่าย ๆ ที่นำมาปรับใช้ในการลงทุนได้ดี แต่นักลงทุนส่วนใหญ่มักที่จะไปโฟกัสกับการศึกษาทำความเข้าใจเขา มากกว่าที่จะเข้าใจเรา เรารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน เวลาถือสินทรัพย์เยอะ สภาพจิตใจเราเป็นอย่างไร เราชอบขายทำกำไรระหว่างทาง หรือสบายใจกับการถือกำไรจนสุดแนวโน้ม แต่หากเราเข้ามาลงทุนไม่นานนัก การพยายามลองผิดลองถูกหลาย ๆ แบบด้วยเงินเพียงเล็กน้อยจะทำให้เรารู้จักตัวเรา รู้จักพฤติกรรมของเรามากยิ่งขึ้น

5. ทบต้นกำไร ไม่ใช่ทบความผิดพลาด

การลงทุนให้พอร์ตเราเติบโตอาจมาจาก 2 รูปแบบ แบบแรกคือถูกบ่อย และควบคุมความเสี่ยงไม่ให้มากกว่าผลตอบแทนในทุกครั้ง อย่างที่สองคือผิดถูกพอ ๆ กัน แต่ครั้งที่ถูกได้กำไรมากกว่าหลายเท่า แล้วทำซ้ำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เงินต่อเงินจนพอร์ตเริ่มโต ในขณะเดียวกันการพยายามควบคุมความผิดพลาดจากตัวเราเองไม่ให้เกิดขึ้นบ่อยเกินไป เช่น การวิเคราะห์แบบไม่รอบคอบ ความใจร้อน อารมณ์เวลาตลาดไม่เป็นใจ หรือสติหลุดเวลาเกิดความเสียหาย มันจะยิ่งทำให้เราเสียหายมากขึ้นกว่าเดิม

“5 สิ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดในการลงทุน”

1. ต้องการวิเคราะห์ถูกต้อง 100% ตลอดเวลา

สำหรับข้อนี้ไม่เฉพาะแค่ภาวะขาขึ้นหรือขาลงเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิดตลอดไป เพราะการลงทุนมีปัจจัยที่หลากหลาย รวมทั้งยังมีเรื่องของจิตวิทยาการลงทุนเข้ามาเกี่ยวข้องอีก ทำให้ในบางครั้งราคาก็มีเหตุผล บางครั้งก็ไร้ซึ่งเหตุผล จึงเป็นไปได้ยากมากที่จะพยายามวิเคราะห์เรื่องการลงทุนให้ถูกต้อง 100% อยู่ตลอดเวลา นักลงทุนสถาบันที่มีประวัติมากยาวนานยังบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า วิเคราะห์การลงทุนและถูกทางแค่ 50% ก็เก่งมากแล้ว แต่ปัจจัยสำคัญคือ เราทำเงินได้มากเท่าไหร่เวลาที่วิเคราะห์ถูกต้อง และเสียหายเท่าไหร่เวลาที่วิเคราะห์ผิดพลาด

2. ให้ความสำคัญกับจุดซื้อขาย มากกว่าน้ำหนักการแบ่งเงิน

หากเทียบกันระหว่างความรู้ด้านการวิเคราะห์จุดซื้อจุดขาย กับการวางแผนการเงิน การจัดพอร์ต ส่วนแรกมีความน่าตื่นเต้นและให้ความรู้สึกว้าวกว่าแน่นอน นั่นทำให้เวลาเราลองค้นหาเรื่องการลงทุน ส่วนใหญ่เนื้อหาที่เจอจะเป็นเรื่องการวิเคราะห์จุดซื้อ จุดขาย จุดถือทั้งสิ้น ในขณะที่เรื่องจิตวิทยาการลงทุนและการบริหารจัดการเงินกลับเป็นสิ่งที่ถูกละเลยเป็นอย่างมาก ในมุมมองส่วนตัวของเราแล้วทั้ง 3 ด้านล้วนแล้วแต่สำคัญจะขาดปัจจัยใดไม่ได้เลย ฉะนั้นการให้ความสำคัญกับจุดซื้อขายมากเกินพอดี อาจจะทำให้ผลลัพธ์ของการลงทุนไม่เป็นไปตามที่คิดก็ได้ จากงานวิจัยสาย Quant ของ Zipmex และจากต่างประเทศออกมาในรูปแบบเดียวกันคือการโฟกัสเรื่องการแบ่งพอร์ต การจัดสรรเงิน สามารถทำให้ผลลัพธ์ของคนสองคนแตกต่างกันได้แม้จะมีจุดซื้อขายที่เหมือนกัน

3. คิดว่ารายใหญ่ เงินหนา ได้เปรียบในทุก เรื่อง

ในโลกทุนนิยมปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการมีทรัพยากรที่มากกว่าทำให้เข้าถึงโอกาสหรือสิทธิอะไรได้มากกว่า แต่โลกการลงทุนไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะรายใหญ่ที่เงินหนาไม่ใช่ว่าจะได้เปรียบเราในทุก ๆ เรื่องอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด สิ่งหนึ่งที่เรามองว่าเป็นข้อได้เปรียบของรายใหญ่คือเงินเยอะ แต่นี่คือสิ่งที่บริหารจัดการยากที่สุดสำหรับรายใหญ่เอง ลองมองย้อนไปดูบริษัทจัดการลงทุนที่มีขนาดเล็กหรือขนาดกลาง เมื่อดูผลตอบต่อปีที่สามารถทำได้นับเป็น % จะสูงมาก ๆ แต่เมื่อขนาดสินทรัพย์เริ่มใหญ่ขึ้น ผลตอบแทนในรูป % กลับลดลง ไม่ได้แปลว่าเขาเก่งน้อยลง แต่เพราะติดเรื่องข้อจำกัดของขนาด ทั้งเรื่องของสินทรัพย์ที่เข้าลงทุน ถ้าสภาพคล่องน้อย เขาก็ลงได้ไม่เยอะมาก ต่างกับรายย่อยที่แทบจะซื้อขายได้ทุกตัว อีกหนึ่งข้อที่รายใหญ่เสียเปรียบเราคือความเร็วเนื่องจากขนาดเงินที่เยอะกว่าทำให้เวลาจะซื้อจะขายต้องใช้เวลาเก็บของ ปล่อยของ ซึ่งนานและมีต้นทุนเพิ่มอีก (Slippage) แตกต่างเราเราที่จะเข้าซื้อขายเวลาไหนก็ได้ คล่องตัวกว่า หนีได้เร็วกว่า (แต่ที่พลาดเพราะไม่ยอมหนีมากกว่า)

4. เปลี่ยนม้ากลางศึก เปลี่ยนแผนไปมา

หนึ่งสิ่งสำคัญเรื่องของการวางแผน ที่นอกจาการทำตามแผนการแล้ว คือการเปลี่ยนแผนไปมาโดยไม่จำเป็น สิ่งความยากอยู่ตรงที่เมื่อไหร่ควรเปลี่ยน เมื่อไหร่ควรใช้แผนเดิม เพราะบางทีแผนการเราดีแต่สภาพแวดล้อมตอนนั้นอาจไม่เอื้ออำนวยทำให้ผลลัพธ์ออกมาไม่ดี คนส่วนใหญ่จึงมักจะเปลี่ยนแผนจากการดูผลลัพธ์แค่ในระยะสั้นเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงเมื่อเราวางแผนของพอร์ตมาดี วิจัยการซื้อขายมาเป็นอย่างดีแล้ว การพยายามเดินตามแผนในระยะยาวน่าจะดีกว่า แต่นั่นอยู่บนเงื่อนไขของการทำวิจัยมาเป็นอย่างดีแล้วเท่านั้น ส่วนเรื่องการจะปรับแผนการในภาพใหญ่การทบทวนปีละครั้งหรือไตรมาสละครั้งก็พอ ส่วนแผนการระยะกลางและระยะสั้น เช่น การปรับพอร์ตเมื่อตลาดไม่เป็นไปตามที่คิด เราจะคอย Monitor ตลอดอยู่แล้วแต่นั่นจะต้องไปในทิศทางเดียวกับภาพใหญ่เพื่อป้องกันการมั่วหรือใช้อารมณ์ในการลงทุนระหว่างนั่นเอง

5. เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เพราะตลาดไม่เคยสนว่าคุณเป็นใคร และเข้าซื้อขายที่จุดใด

ข้อนี้คือความผิดพลาดร้ายแรงที่สุดข้อหนึ่งเลย คือตั้งตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล ตลาด นักลงทุนคนอื่น หรือราคาจะต้องหมุนรอบตัวเราในแบบที่เราคิดและเราต้องการ ซึ่งการคิดแบบนี้นอกจากจะส่งผลเสียต่อพอร์ตเพราะ Ego เราสูงเกินไป ในขณะเดียวกันก็ยังส่งผลต่อสภาพจิตใจ ทำให้เราลงทุนได้อย่างไม่มีความสุข อีกหนึ่งข้อเท็จจริงที่ไม่ค่อยมีใครบอกเราก็คือ สินทรัพย์นั้น ๆ ไม่สนใจว่าเราเป็นใคร มีเงินมากน้อยแค่ไหน เป็นมือใหม่มือเก่า หรือซื้อเข้าไปที่ราคาเท่าไหร่ ราคาสินทรัพย์ก็จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่มันอยากจะวิ่งไป เราไม่สามารถไปสั่งราคาได้ว่า ขึ้นเถอะน้า ฉันรับหมดพอร์ตแล้ว ฉันเป็นมือใหม่ไม่อยากขาดทุนเยอะเพราะหากราคาจะลงห้ามยังไงก็ลง รับเท่าไหร่ก็ลง ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีขนาดเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งในสนามนี้เท่านั้น ฉะนั้นการศึกษาให้ดี และตระหนักถึงสิ่งที่เรานำเสนออยู่ตลอด น่าจะช่วยให้เราสามารถสร้างผลตอบแทนในโลกการลงทุนแห่งนี้ได้อย่างมีความสุขตลอดไปครับ

ZIPMEX


ติดตาม FINNOMENA Podcast ได้ทุกช่องทางที่คุณมี

App Spotify
https://finno.me/spotify

App Google podcasts
https://finno.me/googlepodcast

Apple podcast
https://finno.me/applepodcast

App Soundcloud
https://finno.me/soundcloud

Podbean
https://finno.me/podbean

Youtube
https://finno.me/youtubepodcast