วางแผนเกษียณอย่างไร? ให้สำเร็จได้ (ในยุคโควิด-19)

จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤตการเงินที่ได้รับผลกระทบทั่วทั้งโลก รวมถึงผลกระทบต่อสถานะการเงิน แผนการเงินของหลาย ๆ ท่านกันนะคะ  แต่วันนี้เราจะพูดถึงแผนการเงินในด้านการวางแผนเกษียณกันนะคะ

สำหรับแผนเกษียณอายุนั้น  ถือว่าเป็นแผนการเงินระยะยาว ซึ่งระหว่างทางอาจมีปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มากระทบ ซึ่งมีผลต่อเป้าหมายและแผนของเรา ดังนั้น เราต้องมีการสำรวจ ประเมิน และปรับเปลี่ยนแผนให้เหมาะกับสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน รวมถึงการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต

การวิเคราะห์แผนการเงินเพื่อปรับแผนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ว่าจะปรับแผนอย่างไรในภาวะวิกฤตแบบนี้ ด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้

1.  สำรวจตัวเอง

โดยพิจารณาว่า  รายได้ของเราในทุกวันนี้ มีความมั่นคงมากน้อยเพียงใด  สามารถทำต่อไปได้จนถึงอนาคตได้หรือไม่

จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้หลาย ๆ อาชีพ/ ธุรกิจที่ต้องปิดกิจการ เราได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด

ช่องทางเพิ่มรายได้ สภาพคล่อง เงินสำรองในครอบครัวมีเพียงพอหรือไม่

วางแผนการใช้จ่าย ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น จัดการภาระหนี้สิน หากไม่สามารถชำระหนี้ตรงตามกำหนด สามารถติดต่อสถาบันการเงินเพื่อขอไกล่เกลี่ยสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยของตนเองและคนในครอบครัว ซึ่งมีผลต่อแผนเกษียณ การออมและลงทุนของเรา หากเจ็บป่วย ไม่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ทำให้ขาดรายได้  ต้องนำเงินออมหรือเงินลงทุนออกมาใช้จ่ายในส่วนนี้หรือไม่

2. วิเคราะห์แผน

แผนแหล่งรายได้หลังเกษียณในส่วนไหนที่เราอาจมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงในด้านจำนวนการออมหรือลงทุน อัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง เช่น   กองทุนบำเหน็จบำนาญ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ประกันชีวิต ประกันบำนาญ รายได้จากค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์  เงินปันผล เป็นต้น

ซึ่งหากแหล่งรายได้หลังเกษียณที่เราได้วางแผนได้รับผลกระทบ ก็จะมีผลต่อเป้าหมายแผนเกษียณในอนาคตของเราได้  อาจทำให้จำนวนเงินเกษียณที่ได้รับไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

3. แนวทางแก้ไขปัญหา

สำหรับท่านที่วางแผนเกษียณด้วยการออมหรือลงทุนผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว เรามีแนวทางในการแก้ปัญหา ดังนี้

*(พัก ชะลอ ลดเงินออม/เงินลงทุน)*

กองทุนรวมหรือหุ้น

ลดเงินลงทุน หรือหยุดพักการลงทุนออกไปก่อน

สำหรับกองทุน RMF  ที่ลงทุนต่อเนื่อง เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี  สามารถหยุดลงทุนได้ ปีเว้นปี  โดยที่ไม่ผิดเงื่อนไข หรือลงทุนในจำนวนที่น้อยลงได้ตามรายได้หรือความสามารถในการลงทุน

ซึ่ง ณ ปัจจุบัน RMF  ไม่ได้กำหนดขั้นต่ำในการลงทุน

ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์/เกษียณอายุ ประกันบำนาญ ประกันชีวิตควบคู่การลงทุน

สามารถขอแบ่งชำระเป็นรายเดือน  ราย 3  เดือน ราย 6 เดือน หรือขอลดเบี้ยที่ชำระทุนประกันให้ลดลง

หรือ กรณีค้างชำระเบี้ยเกินกำหนด ให้บริษัทกู้เงินอัตโนมัติจากมูลค่ากรมธรรม์  เพื่อชำระเบี้ยได้ (กรณีกรมธรรม์มีมูลค่าเพียงพอ)

ส่วนประกันชีวิตควบคู่การลงทุน หากมูลค่าการลงทุนมีมากพอสำหรับการชำระเบี้ยในส่วนค่าประกันภัย สัญญาเพิ่มเติมและค่าธรรมเนียม เราสามารถขอพักชำระเบี้ยได้  แต่ยังได้รับความคุ้มครองเหมือนเดิม

หรือ ขอลดเบี้ยที่ชำระได้  แต่ความคุ้มครองหรือผลประโยชน์อาจลดลงจากเดิม

4. ปรับและทำตามแผน สำหรับแผนเกษียณที่เราได้วิเคราะห์ ปรับแผน ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจที่รอวันฟื้น

อย่างไรก็ตาม  ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวม/หุ้น ที่เหมาะสมกับเรา หรือจัดพอร์ตให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ที่สอดคล้องกับผลตอบแทนที่คาดหวังของเรา การคัดเลือกการลงทุน จังหวะในการลงทุนในแต่ละภาคธุรกิจใดที่ได้รับผลกระทบและได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้

หากมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี เราสามารถเพิ่มสัดส่วน เพิ่มจำนวนเงินลงทุนเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของเราได้

5. ติดตาม ทบทวน ประเมินผล

เมื่อเราปรับแผนเรียบร้อยแล้ว ควรติดตาม  ประเมินผลอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี  ว่าผลตอบแทนเป็นอย่างไรบ้าง

ต้องปรับเปลี่ยนแผนที่ได้วางไว้หรือไม่ กองทุนรวม หรือ หุ้นที่เราลงทุนไป มีแนวโน้ม  นโยบายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ต้องติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องของเศรษฐกิจ ธุรกิจเกี่ยวกับการเงินกันอย่างต่อเนื่องด้วยนะคะ

ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูล ความรู้ ข่าวสารเกี่ยวกับการเงินการลงทุนในหุ้นและกองทุนรวมผ่านทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  www.set.or.th และ  FINNOMENA ได้นะคะ

เชื่อว่าหลายท่านคงได้วางแผนกันไปบ้างแล้ว  สำหรับ 5 ขั้นตอนของการปรับแผนเกษียณ ในช่วงสภาวะวิกฤต

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางในการวางแผนทางการเงินให้กับทุกท่านได้นะคะ

By Thidarat  Keereeta, Finance Coach.

Add Money

ที่มาบทความ: https://www.add-money.net/th/detail.php?id=221