วางแผนการเงินอย่างไร ในยุค “ดอกเบี้ยเพิ่ม รายจ่ายพุ่ง”

หลังจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปทั่วโลกได้คลี่คลายลง ส่งผลให้ธุรกิจบางธุรกิจต้องประสบปัญหาและปิดตัวลง ผู้คนมากมายต้องถูกเลิกจ้างตกงานต้องปรับเปลี่ยนการทำงานเพื่อดำรงชีพกันต่อไป ซึ่งหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทางธนาคารโลกอย่างเฟดได้มีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง เพื่อลดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ อีกทั้ง ณ ปัจจุบันยังมีสถานการณ์ที่น่ากังวล อย่างสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่ยังยืดเยื้อ หากลุกลามบานปลายจริงย่อมส่งผลกระทบ ต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน เพราะบริเวณพื้นที่ความขัดแย้งนี้ใกล้กับแหล่งพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งเส้นทางการขนส่งที่สำคัญของโลก จากหลายสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาหลายครั้งนับไม่ถ้วน ทำให้เห็นถึงความสำคัญในการวางแผนการเงินว่าเป็นสิ่งที่เราควรวางแผน

ซึ่งปัจจุบันดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ลูกหนี้สถาบันการเงินมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากเดิม รวมไปถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีแนวโน้มปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นจากต้นทุนในภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ทำให้ส่งผลโดยตรงต่อเราในฐานะผู้บริโภคที่จะต้องปรับตัว และต้องวางแผนทางการเงินเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน

โดยเรามีแนวทางการในวางแผนการเงินในภาวะดอกเบี้ยเพิ่ม รายจ่ายพุ่ง ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้

1. ด้านการจัดสรรการเงิน

การจัดสรรการเงิน คือ อันดับแรกที่ต้องวางแผน

สำรวจรายรับ เช่น รายได้ประจำ รายได้พิเศษ รายได้อื่น ๆ รวมแล้วรายรับทั้งหมดต่อเดือน

เท่ากับเท่าไหร่ รวมถึงพิจารณาในเรื่องรายได้ ณ ปัจจุบันว่า มีความมั่นคง หรือแนวโน้มอย่างไร ในอนาคต สามารถมีความก้าวหน้า เติบโตได้มากน้อยเพียงใด

สำรวจรายจ่าย แบ่งออกมาเป็น 2 ประเภท คือ รายจ่ายคงที่ และรายจ่ายผันแปร

รายจ่ายคงที่ เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ รวมถึงรายจ่ายเพื่อการออมและการลงทุน เช่น เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวม เงินฝากประจำ ส่วนรายจ่ายผันแปร เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากิน รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดต่อเดือนเท่ากับเท่าไหร่

หากสำรวจรายรับ – รายจ่ายแล้ว สรุป รายรับมากกว่ารายจ่าย หรือ รายรับน้อยกว่ารายจ่าย เพราะหากรายรับมากกว่ารายจ่ายยังถือว่า สถานะทางการเงินอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ส่วนรายรับที่เหลืออาจจัดสรรเป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน หรือจัดสรรเพื่อชำระหนี้เพิ่มเติม แต่หากตัวเลขที่ออกมารายรับน้อยกว่ารายจ่ายแล้วนั้น แสดงว่าเราต้องหาทางแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเป็นการหารายได้เพิ่ม หรือ ลด – ตัดค่าใช้จ่ายบางส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป

2. ด้านความเสี่ยง

ในที่นี้เราจะพูดถึงความเสี่ยงทางเงิน ในด้านความเสี่ยงภัยต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่มีผลต่อสถานะทางการเงินและทรัพย์สิน เช่น การเกิดอุบัติเหตุทำให้เกิดการสูญเสียทางร่างกายและทรัพย์สิน การเจ็บป่วย  การเสียชีวิต เป็นต้น

สิ่งที่ควรพิจารณาคือ สำรวจแผนรองรับกับความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ที่มีอยู่ เช่น เงินสำรองที่มี สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ประกันที่มี สามารถรองรับความเสี่ยงเหล่านี้ได้มากน้อยเพียงใด เพื่อลดการสูญเสียหรือทำให้เกิดความเสียหายให้น้อยที่สุด หากยังมีกระแสเงินสดเพียงพอในการทำประกันภัยทรัพย์สิน เช่น ประกันบ้าน ประกันรถ ประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต เป็นต้น การวางแผนเพิ่มเติมในส่วนดังกล่าว เพื่อช่วยลดความเสียหายจากความเสี่ยงเหล่านี้ได้

3. ด้านหนี้สิน และสินทรัพย์

สำรวจสินทรัพย์ แยกเป็น สินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร

สินทรัพย์เพื่อการออมและลงทุน เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวม หุ้นกู้ หุ้นสามัญ สินทรัพย์ส่วนตัว เช่น บ้านที่อยู่อาศัย รถยนต์ เครื่องประดับ

สำรวจหนี้สิน แยกเป็น หนี้สินระยะสั้น ระยะยาว อัตราดอกเบี้ยของหนี้สินแต่ละประเภท พิจารณาหนี้สินทั้งหมดที่มีเกิน 30-40 % ของรายได้, หนี้สินรวมมากกว่า 50% ของทรัพย์สินรวมหรือไม่ สามารถปิดหนี้สินส่วนไหนได้บ้าง หรือพิจารณาชำระหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อนเป็นอันดับแรก หากมีภาระหนี้สินมากจนเกินไป  สำรวจทรัพย์สินว่ามีทรัพย์สินไหนบ้างที่พอจะขาย เพื่อนำมาชำระหนี้เพิ่มได้หรือไม่

4. ด้านการออมและการลงทุน

หากปัจจุบันมีแผนในด้านการออมและการลงทุนอยู่แล้ว จะเห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมีอัตราที่เพิ่มขึ้น  ส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นสำหรับเงินฝากประจำที่มี

แต่หากย้อนกลับไปพิจารณาถึงด้านหนี้สิน ที่มีอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อย่อมสูงกว่าอัตราผลตอบแทนอยู่ดี หากขาดสภาพคล่อง อาจพิจารณาขายสินทรัพย์ในส่วนนี้บางส่วน เพื่อนำมาใช้หนี้สินที่มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ทั้งนี้ เพื่อลดเงินต้น และลดภาระการจ่ายดอกเบี้ยให้น้อยลง

แต่หากพิจารณาถึงแผนการออมหรือลงทุนในระยะยาว เพื่อเกษียณอายุหรือทุนการศึกษาบุตร ค่าใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภค ค่าใช้จ่ายทางการศึกษามีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น เป้าหมายของเงินเกษียณในอนาคตที่คาดการณ์ไว้ อาจไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย

แนวทางแก้ไข คือ ลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น แต่อาจจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ควรคำนึงถึงความเสี่ยงที่ยอมรับได้ด้วย หรือในอนาคตอาจต้องปรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต เพื่อลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลง เพื่อให้เงินเกษียณเพียงพอไปจนถึงสิ้นอายุขัย แต่เนื่องจากแผนนี้เป็นแผนในระยะยาว ระหว่างทางต้องมีการปรับแผนการลงทุนอาจจะทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี หรือปรับแผนตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ การเมือง กฎหมายต่าง ๆ ที่อาจมีการเปลี่ยนในอนาคต

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านไม่ว่าจะประสบวิกฤตเศรษฐกิจอะไรก็ตาม สุดท้ายแล้วสถานการณ์ทุกอย่างจะคลี่คลายได้ในทุกครั้ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในฟื้นตัวแต่ละวิกฤตว่าใช้เวลามากน้อยเพียงใด และเราจะได้บทเรียนต่าง ๆ มากมายจากวิกฤตเหล่านั้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบกันทั้งหมด ขึ้นอยู่กับการปรับตัวให้ได้กับสถานการณ์เหล่านั้น การวางแผนการเงินจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะไม่ว่าจะต้องพบเจออุปสรรคปัญหา หากเรามีการเตรียมพร้อมมากเท่าไหร่ ความเสียหายและสูญเสียจะเกิดกับเราน้อยกว่าการที่ไม่ได้วางแผนทางการเงินอย่างแน่นอน

Thidarat Keereeta, Finance Coach.
Add Money

ที่มาบทความ: https://www.add-money.net/th/detail.php?id=231


คำเตือน

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน