การลงทุนมีความเสี่ยง: จะจัดการอย่างไรดี เมื่อหนีมันไม่ได้?

การบริหารความเสี่ยงคือสิ่งจำเป็นสำหรับการลงทุน ในระยะยาวนั้น การบริหารความเสี่ยงมักจะสำคัญกว่าการเลือกสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนดีสุด ณ ช่วงเวลาหนึ่งด้วยซ้ำ ว่าแต่ว่า ความเสี่ยงคืออะไร? มาทบทวนกันหน่อยครับ

ในแง่หนึ่ง ความเสี่ยงหมายถึงความเป็นไปได้ที่จะสูญเสียสิ่งมีค่า หากมองในแง่การลงทุน ส่วนใหญ่ก็จะหมายถึงการสูญเสียมูลค่าเงินนั่นละครับ นอกจากนี้ความเสี่ยงยังหมายถึงการทำอะไรบางอย่างในสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอน มองเผินๆ เราอาจจะรู้สึกว่าความเสี่ยงและความไม่แน่นอนคือสิ่งเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วสองอย่างนี้แยกออกจากกันครับ เพราะเราไม่สามารถตีค่าหรือควบคุมความไม่แน่นอนได้ ในขณะที่เราสามารถตีค่าความเสี่ยงได้ ฉะนั้น เราจึงบริหารจัดการความเสี่ยงได้

ความเสี่ยง: หากหลีกหนีไม่ได้ ก็จงจัดการมันเสีย

เพื่อที่จะทำให้คำจำกัดความของคำว่า “ความเสี่ยง” ครอบคลุมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราขอให้คำจำกัดความว่าความเสี่ยงคือการสูญเสียเงินต้นโดยถาวร พูดอีกแบบคือ ในท้ายที่สุดแล้วเงินก้อนของเรามีมูลค่าน้อยลงนั่นเอง ระดับการสูญเสียก็มีผลเช่นกันครับ เช่น ลองเปรียบเทียบระหว่างการขาดทุนเงินต้น 5% กับการสูญเสียความมั่งคั่งทั้งหมด แน่นอนว่ามันส่งผลกระทบกับเราต่างกันใช่ไหมล่ะครับ การขาดทุน 5% นั้นเรายังสามารถบริหารจัดการได้ ในขณะที่การสูญเสียความมั่งคั่งทั้งหมดอาจทำให้ทุกอย่างพังทลายลง หรืออาจถึงแก่ชีวิตเลยก็เป็นได้

อีกคำจัดกัดความกว้างๆ ของความเสี่ยงคือการที่เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการลงทุนได้ เรียกอีกแบบว่าความเสี่ยงด้านความขาดแคลน (Shortfall Risk) สิ่งนี้อาจจะเป็นการมีอิสรภาพทางการเงินตอนอายุ 40 ปี หรือ การเกษียณอย่างสุขสบายตอนอายุ 65 ปี เป็นต้น

ในโลกแห่งการเงิน แก่นหลักคือความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทน หากเรารับความเสี่ยงมากขึ้น เราก็คาดหวังว่าจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนมากขึ้นเช่นกัน

ความเสี่ยงแต่ละประเภทในการลงทุน

ความเสี่ยงจากการลงทุนนั้นสามารถจำแนกได้เป็นแบบรวมๆ หรือไม่ก็แยกตามประเภทสินทรัพย์ ในบทความนี้ เราจะมาสำรวจความเสี่ยงรวมๆ ที่จะเจอ เมื่อเราลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ และสินค้าโภคภัณฑ์ บอกก่อนว่านี่ไม่ใช่ความเสี่ยงทั้งหมดนะครับ แต่มันคือส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่าเราควรจะรู้ทันไว้ก่อน

ความเสี่ยงกว้างๆ เมื่อเราลงทุน

ความเสี่ยงที่กว้างที่สุดที่เราหลีกหนีไม่ได้ คือความเสี่ยงจากตลาด (Market Risk) นี่คือความเสี่ยงที่เรากำจัดไม่ได้เลยหากต้องการลงทุนในสินทรัพย์อะไรสักอย่าง เช่น หากเราลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่ครอบคลุมหุ้นทุกตัวในตลาด เราก็ยังต้องแบกรับความเสี่ยงจากตลาดหุ้นอยู่ดี

ความเสี่ยงที่เกิดจากนักการเมืองและธนาคารกลาง

เมื่อเราจำกัดกรอบการลงทุนให้แคบลง ไปสู่การโฟกัสเป็นภูมิภาค ประเทศ หรือสินทรัพย์บางชนิด ปัจจัยความเสี่ยงก็อาจต่างกันไป ตัวอย่างเช่น เมื่อเราลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ของประเทศใดประเทศหนึ่ง เราก็จะเผชิญความเสี่ยงด้านการเมืองและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศนั้นๆ การตัดสินใจทางการเมืองสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางกฏหมายที่สามารถส่งผลกระทบต่อการลงทุนของเราและอัตราแลกเปลี่ยนได้ สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนน้อยกว่า อย่างเช่น ตราสารหนี้ จะอ่อนไหวง่ายกว่าต่อการขึ้นลงของอัตราแลกเปลี่ยน หากสกุลเงินใดอ่อนค่าลงอย่างมีนัยเมื่อเทียบกับสกุลเงินบ้านเรา ก็จะทำให้เราสูญเสียผลตอบแทนไปได้

อีกความเสี่ยงหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อเราคือความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Risk) เงินเฟ้อลดกำลังซื้อของเรา ฉะนั้น อย่างน้อยที่สุดเลยนะครับ เป้าหมายการลงทุนของเราคือไม่ควรแพ้เงินเฟ้อ เพื่อไม่ให้สูญเสียกำลังซื้อ โดยในอดีตนั้น ผู้คนใช้สินทรัพย์ที่จับต้องได้และโลหะมีค่าอย่างทองคำเพื่อป้องกันตัวเองจากเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม หุ้นก็น่าจะเป็นเครื่องมือต่อสู้เงินเฟ้อที่ดีเช่นกัน ในเมื่อธุรกิจสามารถปรับราคาให้สอดคล้องไปกับเงินเฟ้อได้ นอกจากนี้ ในปัจจุบัน ตราสารหนี้บางประเภทก็ได้รับการป้องกันจากเงินเฟ้อ เช่น พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Treasury Inflation-Protected Securities (TIPS))

อีกฝ่ายหนึ่งอาจไม่สามารถทำตามสัญญาได้

เมื่อเราลงทุน เรามักจะต้องรับมือกับความเสี่ยงของฝ่ายตรงข้าม เช่น ในกรณีที่อีกฝ่ายไม่สามารถทำตามสัญญาได้ เมื่อเราลงทุนในสินทรัพย์ประเภทหนี้ เราก็จะเจอว่าผู้ยืมอาจไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้นให้เราได้

สภาพคล่องที่น้อยอาจกัดกินผลตอบแทน

ในการลงทุนหลายๆ ครั้งเรามักจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง นั่นก็คือมันอาจจะเป็นการยาก หรือใช้เวลานาน กว่าจะซื้อหรือขายสินทรัพย์นั้นได้ หุ้นบางตัวมีปริมาณการซื้อขายน้อยมาก ฉะนั้น อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะซื้อหรือขายจำนวนหุ้นที่มากพอในระยะเวลาที่สมเหตุสมผล การลงทุนอื่นๆ เช่นตราสารหนี้ อาจมีสภาพคล่องที่น้อยลงอันเนื่องมาจากมูลค่าที่สูง ฉะนั้น จึงมีนักลงทุนจำนวนไม่เยอะที่มีเงินเพียงพอเพื่อจะมีส่วนร่วมในตลาด

ปัญหาอันหลังนี่สามารถจัดการได้ผ่านกองทุนรวมและ ETFs ถึงอย่างนั้น กองทุนรวมอาจจะอนุญาตให้เข้าลงทุนหรือขายคืนแค่เพียงหนึ่งครั้งต่อเดือนหรือน้อยกว่านั้น ส่วน ETF ก็เหมือนหุ้น ตรงที่สามารถมีปริมาณการซื้อขายที่น้อย ฉะนั้น เราก็ยังจะเจอความเสี่ยงด้านสภาพคล่องอยู่ดีครับ สภาพคล่องคือสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเพราะมันมักจะเชื่อมโยงไปสู่กรอบการซื้อขายที่กว้างขึ้น เราอาจจะสามารถดันราคาด้วยการซื้อขายของเราได้ ถ้าเราซื้อหรือขายด้วยปริมาณที่มากพอในแต่ละวัน

กระจายลงทุนในหลายสินทรัพย์เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวม

ความเสี่ยงสุดท้ายที่เราอยากเน้นสักหน่อยคือความเสี่ยงจากการกระจุกตัว ซึ่งเกิดจากการที่เราถือสินทรัพย์เพียงหนึ่งอย่างหรือไม่กี่อย่างในพอร์ต ก่อนอื่นเลย เราอาจจะลองขยับย้ายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์แต่ละประเทศ เพื่อที่พอร์ตเราจะได้มีทั้งหุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ และสินค้าโภคภัณฑ์ นักลงทุนหลายคนเพิ่มอสังหาฯ เข้ามาในพอร์ตด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี สำหรับนักลงทุนทั่วไปที่นับบ้านหรือที่อยู่ของตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนในอสังหาฯ ก็ถือว่าน่าจะเพียงพอแล้ว หรือเผลอๆ อาจจะมากเกินไปด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ ในแต่ละประเภทสินทรัพย์ ก็ยังมีความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวอยู่นะครับ เช่น ลงทุนเฉพาะเจาะจงในหุ้นเดียวหรืออุตสาหกรรมเดียว หลายปีที่ผ่านมา การศึกษาได้ค้นพบว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับนักลงทุนที่จะถือแค่หุ้นตัวเดียวหรือไม่กี่ตัว นักลงทุนกลุ่มนี้ต้องเจอกับความเสี่ยงเฉพาะเจาะจงไปที่บริษัทนั้นๆ เช่น การตัดสินใจแย่ๆ โดยคณะกรรมการบริหารของบริษัทนั้นๆ หรือการเปลี่ยนแปลงในสภาวะตลาดที่จะส่งผลกระทบต่อบริษัทนั้นหรือบริษัทประเภทนั้นๆ

เราจะตรวจวัดความเสี่ยงด้านการลงทุนได้อย่างไร

ความผันผวนที่วัดโดยค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) คือวิธีการวัดความเสี่ยงที่ใช้กันอย่างแพร่หลายสุดในโลกการเงิน มีทฤษฎีและสมมติฐานทางการเงินมากมายที่อ้างอิงข้อสันนิษฐานว่าความเสี่ยงคือความผันผวน ถึงอย่างนั้น ในชีวิตจริง ความผันผวนในตัวมันเองไม่ใช่ความเสี่ยงหรอก ลองคิดดูสิ ว่าถ้าราคาของสินทรัพย์ที่เราถืออยู่ปรับตัวขึ้น นั่นใช่ความเสี่ยงหรือ?

อีกวิธีหนึ่งที่เราสามารถมองความเสี่ยงได้คือการมองแค่ความผันผวนขาลง ในกรณีนี้ เราจะไม่มองความผันผวนในขาขึ้นเพราะมันเป็นอะไรที่เราต้องการ เราจะตรวจวัดแค่ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานในขาลงเท่านั้น การขาดทุนที่น้อยกว่านั้นมีความสำคัญในระยะยาว เพราะเมื่อเราสามารถบริหารจัดการให้เราขาดทุนน้อยลงได้ เราก็จะมีเงินก้อนที่ใหญ่ขึ้นเพื่อจะสร้างผลตอบแทน

ตัววัดความเสี่ยงตัวสุดท้ายที่เราอยากกล่าวถึงคือจุดขาดทุนสูงสุด (Maximum Drawdown) ซึ่งนอกจากจะดูว่าขาดทุนสูงสุดเท่าไรแล้ว ก็ควรจะดูระยะเวลาของมันด้วย ว่านานเท่าไรกว่าจะสามารถกลับไปยืนหยัดที่จุดสูงสุดได้ จุดขาดทุนสูงสุดนั้นเป็นสิ่งที่น่าพิจารณาในระยะยาว เพื่อจะได้เห็นว่าพอร์ตรับมืออย่างไรเมื่อเจอกับตลาดขาลงแรงๆ

การบริหารความเสี่ยงในพอร์ต All Weather Strategy ของเรา

พอร์ต All Weather Strategy ของเรานั้นมุ่งหวังจะสร้างผลตอบแทนระยะยาวให้ได้มากที่สุด โดยในขณะเดียวกันก็จำกัดจุดขาดทุนให้น้อยกว่าพอร์ตหุ้นล้วนด้วย ดังนั้น เราจึงลงทุนในสินทรัพย์ 4 ประเภท นั่นคือหุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ และสินค้าโภคภัณฑ์ เราจะได้สามารถลดการถือครองหุ้นในช่วงที่หุ้นมีมูลค่าแพงเกินไปแล้วย้ายไปถือครองตราสารหนี้เพิ่มเพื่อลดความผันผวนลง หรือไม่ก็เพิ่มการถือครองทองคำในช่วงที่คนคาดหวังว่าเงินเฟ้อจะสูงหรือเมื่อผู้คนเชื่อในระบบการเงินน้อยลง

ความเสี่ยง: หากหลีกหนีไม่ได้ ก็จงจัดการมันเสีย

ผลดำเนินงานของ 10 วันที่แย่ที่สุดของหุ้นโลก เทียบกับ AWS คำนวณ ณ วันที่ 20 ส.ค. 2019 (ที่มา: A.Stotz Investment Reseach, Refinitiv)

ตั้งแต่จัดตั้งพอร์ต All Weather Strategy หากดูเปรียบเทียบใน 10 วันที่ตลาดหุ้นโลกทำผลงานได้แย่ที่สุด เราจะเห็นได้ว่ากลยุทธ์ของเราขาดทุนน้อยกว่าหุ้นโลกใน 10 วันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการถือครองหุ้นที่น้อยลง อีกส่วนหนึ่งคือการกระจายการลงทุนไปยังตราสารหนี้และทองคำในสัดส่วนที่สูง เพื่อจำกัดการขาดทุน

อย่าหลีกหนีความเสี่ยง แต่จงบริหารมัน

สรุปคือ เมื่อเรามองความเสี่ยงลึกลงไปเรื่อยๆ และเริ่มตระหนักว่าเราต้องเผชิญความเสี่ยงหลากหลายเหลือเกินขณะลงทุน ก็ขอให้ระลึกไว้ว่าบางคนอาจจะกล้าเสี่ยงน้อยเกินไป หากเราเอาแต่ฝากเงินอย่างเดียวโดยไม่ลงทุนเลย เราอาจจะไม่มีเงินเพียงพอสำหรับอนาคต แทนที่จะหลบหนีความเสี่ยงไปเสียทั้งหมดเลย อย่าลืมที่จะบริหารมันอย่างระมัดระวังนะครับ

ที่มาบทความ: https://becomeabetterinvestor.net/blog/do-not-avoid-risk-manage-it/

Andrew Stotz

**สนใจลงทุนพอร์ต All Weather Strategy พอร์ตกองทุนรวมจัดโดย Andrew Stotz ซึ่งจะช่วยให้เราได้ผลตอบแทนจากหุ้นในระยะยาว ในขณะที่ลดความรุนแรงของการขาดทุนในช่วงภาวะตลาดขาลง หากสนใจดูข้อมูลและลงทุนในพอร์ตนี้ สามารถคลิกที่นี่ https://www.finnomena.com/port/andrew/ หรือแบนเนอร์ข้างล่างได้เลยครับ


คำเตือน

ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต / ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน