ออมเงิน และลงทุน (101)

บทความเริ่มต้นสำหรับผู้ที่กำลังสนใจหรืออยากรู้เรื่องวางแผนการเงินและลงทุน ใช้คำว่า 101 เพราะให้อารมณ์แบบเข้าเรียนวิชาพื้นฐานตอนปีหนึ่งครับ อิอิ สมมติกันก่อนเลยว่า เราเป็นนักศึกษาหรือเป็นคนวัยทำงานที่ยังไม่รู้เรื่องแต่อยากรู้ว่าจะเก็บ จะออมเงินและลงทุนได้อย่างไรบ้าง

1 : รายได้ – เงินออม

เริ่มจากเราต้องเปลี่ยนคำพูดที่คุ้นหูก่อนเลยว่า มีเงินเหลือเท่าไหร่ก็ค่อยเก็บ คือในหัวคนส่วนใหญ่เนี่ยจะตั้งสมการประมาณว่า เงินเข้ามา – เงินใช้ = เหลือ แล้วค่อยเอาที่เหลือๆไปเก็บ ซึ่งถ้ามองดูก็จะเห็นว่าคนส่วนใหญ่ก็เลยเก็บเงินกันไม่ได้ครับ เพราะเงินมันไม่เหลือ! เนื่องจากมนุษย์มีความสามารถในการใช้เงินที่ตนมองเห็นให้หมดได้ เพราะฉะนั้นรีเซ็ตกันใหม่ ให้เริ่มต้นที่ว่า “มีเงินเข้ามาเท่าไหร่ หักไปเก็บไปออมไปลงทุนก่อนแล้วที่เหลือค่อยเอามาใช้” แค่นี้เราก็จะได้ออมกันสักที เช่น ได้เงินเข้ามา 10,000 เราอาจจะหักไปเก็บ 20% หรือ 2,000 ที่เหลืออีกแปดพันก็เอาไปใช้จ่ายอะไรก็ใช้ไป ไม่ต้องเหลือก็ได้ สำหรับคนที่พึ่งเริ่ม สิ่งที่ควรทำก่อนคือ ลองใช้เวลาสักชั่วโมง ลิสต์ค่าใช้จ่ายหลักๆก่อน แบบที่ต้องจ่ายประจำ อาทิ ค่าเช่าห้อง, ค่าน้ำไฟ, ค่าโทรศัพท์มือถือ, ค่าบัตรรถไฟฟ้าค่าเดินทาง (หรือบางคนอาจจะมีค่าผ่อน) แล้วตามด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่ตายตัวแต่ขึ้นลงสวิงได้ เช่น ค่าอาหาร, ค่าปาร์ตี้สังสรรค์ หลักการก็ง่ายๆครับ จะยังไงก็แล้วแต่ควรออมเงินอย่างน้อย 10% ขึ้น ต่อให้จะค่าใช้จ่ายเกินยังไงก็ตาม ก็พยายามลดค่าใช้จ่ายลง และไม่ต้องรอให้เหลือ ให้หักไปออมก่อนแล้วค่อยใช้ครับ อันนี้คือหลักสำคัญที่หนึ่ง เพราะให้เรียนรู้เรื่องการเงินโปรและเซียนขนาดไหนแต่ถ้าไม่มีเงินมาตั้งต้นคุณก็ลืมทุกอย่างไปได้เลย ทวนซ้ำอีกรอบ

รายได้ – เงินออม = ค่าใช้จ่าย
ก่อนจะใช้จ่ายอะไร จง “จ่ายให้ตัวเองก่อน”

2 : ออมและลงทุนอย่างไร?

อันนี้ก็เป็นประเด็นสำคัญต่อมาครับ คนที่เก็บเงินได้ส่วนใหญ่จะมาน็อกที่ด่านนี้ คือปกติตั้งแต่เล็กจนโตจะไม่มีใครสอนเราหรอกว่าโตขึ้นมามีรายได้แล้วจะบริหารจัดการเงินอย่างไร เราก็เลยอาศัยความเคยชินและคนรอบตัวเราก็ทำกันแบบนี้ คนส่วนใหญ่ก็เลยเก็บเงินกันในบัญชีธนาคารนี่ล่ะง่ายดี หรือไม่ก็เปิดฝากประจำ สูงขึ้นมาหน่อยก็ซื้อสลากออมสิน ปัญหาพวกนี้อยู่ตรงนี้ครับ ไม่ว่าจะเงินฝากออมทรัพย์, ฝากประจำ, รวมถึงสลาก (ที่ไม่ถูกรางวัลใหญ่ๆ) ผลตอบแทนระยะยาวพวกนี้จะแพ้ “เงินเฟ้อ” (inflation) และนี่คือหัวใจสำคัญที่สุดในการลงทุนและเป็นตัวชี้ว่าคุณจะมั่งคั่งขึ้นในอนาคตหรือไม่ คุณจะต้องออมและลงทุนให้ได้ “ผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อ” เพื่อรักษาอำนาจซื้อให้ได้

เงินเฟ้อ คืออะไร?

เงินเฟ้อก็คือมูลค่าของเงินที่ลดลงไปเรื่อยๆตามเวลา หรือมองอีกมุมก็คือยิ่งนานไปๆราคาสิ่งของต่างๆจะมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น สมัยก่อนเราอาจจะได้ยินพ่อแม่บอกว่า ก๋วยเตี๋ยวราคาชามละบาท รุ่นพี่ๆเราก็บอกยังมีชามละห้าบาท แต่พอมารุ่นเราเอ้าเดี๋ยวนี้มันยี่สิบสามสิบบาทขึ้นหมดแล้ว นี่ล่ะครับเงินเฟ้อ คือข้าวของมันจะแพงขึ้นเรื่อยๆ ปกติเงินเฟ้อระยะยาวจะอยู่ที่ 3-4% ต่อปี หมายความว่า เรามีเงิน 100 บาท ถ้าเราทิ้งไว้เฉยๆ ปีต่อๆไปมันจะมีอำนาจซื้อ (purchasing power) ลดจาก 100 เป็น 97, 94, 90 … ตามจำนวนปี หรืออาจจะจำกันง่ายๆติดหัวว่า ทุกๆ 20 ปี อำนาจซื้อจะลดลงครึ่งหนึ่ง เงิน 100 บาทวันนี้อำนาจซื้อจะเหลือ 50 บาทในอีกยี่สิบปีข้างหน้า หรือมองมุมกลับ ของที่ราคา 10 บาทวันนี้จะกลายเป็น 20 บาทในวันข้างหน้า วันนี้เรามี 100 บาทซื้อได้ 10 ชิ้น อีกยี่สิบปีเราจะซื้อได้แค่ 5 ชิ้น แบงก์ร้อยเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือซื้อของได้น้อยลง

เพราะฉะนั้นถ้าเราฝากเงินอย่างเดียว เก็บเงินไว้แค่ในธนาคาร ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ปกติไม่เกิน 3% อย่างบัญชีออมทรัพย์นี่ 0.5% ต่อปี เท่ากับว่าผลตอบแทนที่เราได้แพ้เงินเฟ้อ ความมั่งคั่งที่เรามีก็จะหดหายไปเรื่อยๆ ไม่มีใครรวยในระยะยาวจากการฝากเงินธนาคารอย่างเดียวครับ

3 : ลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าเงินเฟ้อ

การจะทำผลตอบแทนให้ชนะเงินเฟ้อแบบแน่ๆ ควรจะทำผลตอบแทนให้ได้มากกว่า 6% ในระยะยาว เพราะหักเงินเฟ้อแล้วเราก็จะมีส่วนต่างความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นไปอีก วิธีคือเราจะต้องแบ่งเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินที่ต่อต้านเงินเฟ้อได้ในระยะยาว เช่น อสังหาริมทรัพย์ (ที่ดิน, บ้าน, คอนโด), หุ้น โดยปกติสองสิ่งนี้จะให้ผลตอบแทนระยะยาวอยู่ในช่วง 6-10% ต่อปีครับ เป็นสินทรัพย์หลักๆที่เราควรจะแบ่งเงินไปลงทุนอย่างมาก ส่วนสินทรัพย์ทางการเงินอีกอย่างที่ผลตอบแทนอาจจะทำได้แค่รักษาเงินต้นหรือเพิ่มมูลค่าเงินนิดหน่อย แต่ระดับความเสี่ยงจะต่ำลงมาก็คือ พันธบัตรรัฐบาล, หุ้นกู้ พวกนี้จะเข้าใจง่ายหน่อยเพราะจะได้ผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยซึ่งคุ้นชินกัน แต่อย่างหุ้นนั้นจะมีความผันผวนและราคาขึ้นลงเปลี่ยนแปลงได้ ในระยะยาวถ้าเราจะสร้างความมั่งคั่งเราจะต้องมีหุ้นประกอบอยู่ในสินทรัพย์ลงทุนของเราเสมอ

แล้วจะลงทุนอย่างไร?

การลงทุน ไม่ได้ยาก ครับ มีวิธีลงทุนมากมายและทำได้เรียบง่ายด้วย เครื่องมือลงทุนนั้นมีหลายอย่าง เช่น หุ้น เราสามารถเลือกไปลงทุนเอง หรือ เราอาจจะลงทุนในกองทุนรวมหุ้นแทน และแน่นอนว่า กองทุนรวมนั้นสามารถลงทุนได้ในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เราอาจจะลงทุนในสินทรัพย์ทุกอย่างผ่านกองทุนรวมได้เลย หรือเราอาจจะลงทุนในกองทุนรวมบางอย่างแต่ที่เหลือเราลงทุนโดยตรงของเราเอง พูดให้เห็นภาพ ยกตัวอย่าง เช่น

  1. นักศึกษา a อยู่ปีหนึ่ง ได้เงินใช้เดือนละ 10,000 บาท หักเก็บไปลงทุน 2,000 บาท โดยแบ่งเป็นซื้อกองทุนรวมหุ้น 1,500 ฝากประจำอีก 500
  2. นาย ก ได้เงินเดือน 20,000 บาท หักเก็บไปลงทุน 5,000 บาท โดยแบ่งเป็นซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้ 1,000 กองทุนรวมหุ้น 3,000 ฝากประจำอีก 1,000
  3. นาย ข มีเงินเดือน 30,000 บาท ลงทุนในกองทุนหุ้นเดือนละ 5,000 ลงทุนหุ้นเองอีกเดือนละ 5,000 ซื้อกองทุนตราสารหนี้อีกเดือนละ 5,000
  4. นาย ค มีเงินเดือน 40,000 บาท ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โดยการซื้อคอนโดผ่อนเดือนละ 15,000 แบ่งไปลงทุนในกองทุนหุ้น 5,000

จะเห็นว่าวิธีลงทุนมีหลากหลายครับ โดยคงหลักการง่ายตั้งแต่ข้อแรกว่า “จ่ายให้ตัวเองก่อน” ปรับพฤติกรรมให้เป็นนิสัยไปเลย พอได้เงินมาก็หักไปลงทุนก่อน วิธีง่ายๆคือ ทำให้การจ่ายให้ตัวเองก่อน เป็นไปโดย “อัตโนมัติ” เช่น ทำเรื่องหรือตั้งค่าให้มันหักเงินทุกเดือนไปเลย เช่น ทุกวันที่ 1 เงินจะถูกหักจากบัญชีออมทรัพย์ไปลงทุนทันที แล้วเราก็มีวินัยลงทุนทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ คือการลงทุนไม่ยาก ทำให้เรียบง่ายได้ และประเด็นสำคัญมากๆที่อยากจะบอกคือ

  • ออมก่อนรวยกว่า, ยิ่งอายุน้อยยิ่งควรจะต้องเริ่มต้นไว เป็นนักศึกษาก็เริ่มได้ หรือทำงานยิ่งต้องเริ่มตั้งแต่วันแรกที่ทำงานเลย แต่ไม่ว่าจะรู้ตัวเมื่อไหร่ ถ้ารู้แล้วให้เริ่มต้นทันที อย่าเดี๋ยว พยายามอย่าไปเจอปัญหาของคนส่วนใหญ่ที่ว่า รู้งี้เก็บเงินตั้งแต่ตอนนั้นดีกว่า รู้อะไรไม่สู้ “รู้งี้” เพราะฉะนั้นอย่าผัดวันประกันพรุ่ง เรียนรู้แล้วเริ่มต้นลงทุนทำเลย
  • ยิ่งอายุน้อย ให้ลงทุนในหุ้นเป็นสัดส่วนมากที่สุด, เพราะมันทำผลตอบแทนได้สูงที่สุดในระยะยาวครับ และเรามีเวลาผ่านความผันผวนและปล่อยให้มันเติบโตทบต้นได้ดีสุด อย่างต่ำก็ควรจะมีหุ้นประกอบเป็นสินทรัพย์ในการลงทุนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 40% จากทั้งหมด
  • รีบลงทุนให้ไวจะได้แต้มต่อสูงมาก แล้วเอาเวลาไปทำตามความฝันหรือใช้ศักยภาพด้านอื่น ในบรรดาสิ่งที่คนเสียใจและเสียดายมากที่สุดตอนอายุมากๆ คือ การไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้วางแผนบริหารจัดการเงินแต่แรกครับ อย่าถือคติว่า ใช้ชีวิตวันนี้ให้คุ้มที่สุดก็เลยเดือนชนเดือนชนสองเดือนไปเรื่อย ไม่มีเงินใช้ในอนาคต คือปัญหาชีวิตของคนส่วนใหญ่ครับ
  • ควรมี เงินสำรองฉุกเฉิน อย่างน้อยเอาเงินเดือนหรือค่าใช้จ่ายคูณด้วย 6-12 เช่น ค่าใช้จ่ายเดือนละ 10,000 เราก็ควรมีเงินสำรองอย่างน้อย 60,000-120,000 ครับ อันนี้สามารถเก็บไว้ในบัญชีธนาคารหรือออมทรัพย์เป็นสภาพคล่องได้ ถ้ายังไม่รู้จะเริ่มลงทุนอะไรหรือระหว่างยังศึกษาลงทุนอยู่ เก็บอันนี้ไปก่อนได้ครับ มันจะทำให้ชีวิตสบายขึ้นมากๆ

อ่านแล้วต้องเริ่มลงมือเก็บออมและลงทุนเพื่ออนาคตของเราด้วยนะครับ ค่อยๆเริ่มไป ขอให้มีก้าวแรกก่อน เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดนั้น ปีเตอร์ ดรักเดอร์ และอลัน เคย์ ได้พูดไว้คล้ายกันว่า “วิธีที่ดีที่สุด ในการทำนายอนาคต คือ การสร้างมันขึ้นมาเอง” การออมและลงทุนให้ตัวเองสร้างความมั่งคั่งขึ้นมาในอนาคตก็ใช้วิธีเดียวกันครับ