Web 3.0 กับ 3 เรื่องที่ต้องรู้

ในบทความนี้ เราจะมาไขข้อสงสัยกับ Web 3.0 ว่ามันคืออะไร แตกต่างจาก 1.0 และ 2.0 อย่างไร แล้วในฐานะผู้ใช้ทั่วไปอย่างเราจะสามารถทำอะไรกับ Web 3.0 ได้บ้าง เรามาดู 3 เรื่องที่ต้องรู้กับ Web 3.0 กันเลย

1. ก่อนมาเป็น Web 3.0

Web 3.0 กับ 3 เรื่องที่ต้องรู้

วิธีที่จะทำความเข้าใจ Web 3.0 ได้ดีที่สุด คือการทำความเข้าใจเว็บเวอร์ชันที่ผ่าน ๆ มากันก่อน เริ่มจาก Web 1.0

Web 1.0 นับเป็นยุคแรกสุดของอินเทอร์เน็ต โดยเป็นเว็บไซต์ที่ผู้ใช้สามารถทำได้แค่ “อ่าน” หรือ “ดาวน์โหลด” เนื้อที่อยู่บนเว็บไซต์เท่านั้น ไม่สามารถโต้ตอบหรือสร้างเนื้อหาขึ้นบน Web 1.0 ได้ ยกเว้นแต่คนที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์เท่านั้นที่จะสามารถแก้ไขเนื้อหาบนเว็บได้

Web 2.0 คือเว็บที่เราน่าจะคุ้นเคยกันมากที่สุดในปัจจุบัน นั่นคือโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, Twitter หรือ Instagram นั่นเอง โดย Web 2.0 คือเว็บที่ผู้ใช้สามารถ “เขียน” หรือ “อัปโหลด” เนื้อหาขึ้นไปอยู่บนเว็บไซต์ได้ เช่น การโพสต์รูปภาพบน Instagram การแสดงความคิดเห็นบน Facebook หรือ Twitter เป็นต้น

อีกจุดแตกต่างระหว่าง Web 1.0 และ Web 2.0 คือผู้ใช้แต่ละคนจะเห็นเว็บไซต์ไม่เหมือนกัน เว็บไซต์สามารถปรับแต่งให้แสดงเนื้อหาที่ผู้ใช้คนนั้นสนใจได้ เช่น สนใจเรื่องเกม ก็จะมีเรื่องเกี่ยวกับเกมขึ้นมา หรือสนใจแฟชัน ก็จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับแฟชันมากขึ้น ยกตัวอย่างก็คือหน้า News Feed ของผู้ใช้ Facebook แต่ละคนที่ไม่เหมือนกันนั่นเอง

การมาของ Web 2.0 ส่งผลให้เหล่าผู้ประกอบการเริ่มหันมาทำธุรกิจบนอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา การรับชมสื่อบันเทิง การซื้อขายสินค้า ทั้งหมดนี้สามารถดำเนินการได้โดยมีตัวกลางเป็นผู้คอยตรวจสอบและควบคุมเนื้อหาผู้ใช้อัปโหลดขึ้นมาบนเว็บไซต์

สรุปง่าย ๆ ว่า Web 2.0 คือเว็บที่ผู้ใช้สามารถ “อ่าน” และ “เขียน” ได้นั่นเอง

2. Web 3.0 คืออะไร?

ปัจจุบัน Web 3.0 ยังอยู่ในระหว่างพัฒนา แต่มีแนวคิดหลักคือ “เว็บไซต์กระจายศูนย์” หรือ Decentralized Web ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวกลางเป็นผู้คอยเก็บข้อมูลและดำเนินการเพียงผู้เดียวอีกต่อไป

หมายความว่า ข้อมูลที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตจะไม่ได้ถูกเก็บไว้ที่ตัวกลางเพียงผู้เดียวอีกต่อไป แต่จะเป็นการเก็บข้อมูลแบบกระจายเครื่องเซิร์ฟเวอร์ออกไปหลาย ๆ เครื่อง แต่ละเครื่องจะมีการตรวจสอบข้อมูลให้ตรงกันเสมอ ทำให้ปลอดภัยต่อการปลอมแปลงหรือการแฮกข้อมูล

นอกจากนี้ อาจมีการนำเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) เข้ามาช่วยจัดการข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ยกระดับการท่องอินเทอร์เน็ตให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นในอนาคตอีกด้วย

สรุปได้ว่า Web 3.0 คือเว็บที่นอกจากผู้ใช้จะสามารถ “อ่าน” “เขียน” ได้แล้ว ผู้ใช้ยังสามารถ “เป็นเจ้าของ (Own)” ได้ด้วย

3. เราทำอะไรบนเว็บ Web 3.0 ได้บ้าง?

จากที่กล่าวไว้ข้างบนว่า เว็บ 3.0 นอกจากผู้ใช้จะอ่านกับเขียนได้แล้ว ผู้ใช้ยังสามารถร่วมเป็นเจ้าของเว็บได้ด้วย ซึ่งการเป็นเจ้าของนี้หมายถึงการที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมกับการบริหารเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มได้

Web 3.0 กับ 3 เรื่องที่ต้องรู้

ยกตัวอย่าง Uniswap ที่เป็นแพลตฟอร์ม DeFi ที่ให้ทุกคนสามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีจากสกุลหนึ่งเป็นอีกสกุลหนึ่งได้ โดย Uniswap มีโทเคนประจำแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า UNI ซึ่งผู้ที่ถือโทเคนนี้สามารถเข้าร่วมระบบบริหารของแพลตฟอร์ม หรือ Governance ผ่านการเสนอนโยบายและร่วมโหวตนโยบายที่ผู้อื่นเสนอเข้ามา ซึ่งนโยบายพวกนี้อาจเป็นไปได้ตั้งแต่การเสนอให้เพิ่มคู่เหรียญใหม่ ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าธรรมเนียม เป็นต้น

ระบบดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ใช้ทั่วไปมีอำนาจในการช่วยบริหารแพลตฟอร์มมากขึ้น ต่างจากปัจจุบันที่บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่หรือสถาบันทางการเงินมีอำนาจเด็ดขาดในการออกนโยบายหรือผลิตภัณฑ์ Web 3.0 จึงอาจช่วยให้ผู้ใช้ทั่วไปได้รับบริการที่ตอบโจทย์มากขึ้นจากแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็เป็นไปได้

สรุป

Web 3.0 เป็นแนวคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการขั้นต่อไปของอินเทอร์เน็ต ซึ่งปัจจุบัน เว็บไซต์ส่วนใหญ่ยังเป็นแบบ Web 2.0 โดย Web 3.0 ถูกคาดว่าจะมีโครงสร้างพื้นฐานด้านความกระจายศูนย์มาจากเทคโนโลยีบล็อกเชนอย่าง Bitcoin หรือ Ethereum เพื่อทำให้ข้อมูลมีความหลากหลายและปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงทำให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมกับการบริหารเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์ม เพื่อช่วยเสนอหรือโหวตนโยบายที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ส่วนใหญ่ได้มากยิ่งขึ้น

อ้างอิง Coindesk, Fabric Ventures

Bitkub.com


คำเตือน

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน